ตลาดอสังหาริมทรัพย์ปิดไตรมาส 1 ไปเรียบร้อย ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังเอาไม่อยู่ และยังไม่รู้ว่าจะลุกลามบานปลายไปแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ ในไตรมาสแรกตลาดอสังหาฯได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ
มาดูที่ไตรมาสแรกที่เพิ่งจบไปกันก่อน ตัวเลขการโอนและรายได้ที่เข้ามาอาจจะยังไม่ถึงขนาดติดลบ เพราะเป็นบ้านและคอนโดที่ขายไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่อาจจะไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อเริ่มเห็นสัญญาณของการทิ้งดาวน์ที่เพิ่มจำนวนขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการว่างงานเฉียบพลัน และทำให้ลูกค้าเริ่มไม่เชื่อมั่นว่า ตัวเองจะรับภาระการผ่อนบ้านได้หรือไม่ในอนาคต หรือกลัวว่าจะกู้ไม่ผ่านจึงตัดปัญหาโดยการยอมทิ้งดาวน์ ซึ่งอาจจะลุกลามบานปลายไปถึงสภาพคล่องของแต่ละบริษัทได้
“แต่ละบริษัทก็พยายามแก้ปัญหาให้กับลูกค้าในรูปแบบต่างๆ เช่น ยืดระยะเวลาการโอนออกไป หรือช่วยลดภาระในการผ่อนให้กับลูกค้า จนถึงแนะนำลูกค้าให้เปลี่ยนไปซื้อบ้านหรือคอนโดที่มีขนาดเล็กลงมาหน่อย” นายอธิป พีชานนท์ ประธานคณะกรรมการสมาคมการค้ากลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบ และก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็น
ถามว่า บริษัทอสังหาฯ จะมีปัญหาสภาพคล่องเกิดขึ้นได้หรือไม่ในสถานการณ์ที่มีการทิ้งเงินดาวน์เพิ่มขึ้นนายอธิป มองว่า ก็อาจจะเกิดปัญหาสภาพคล่องขึ้นได้ แต่ขึ้นอยู่กับสถานะการเงินของแต่ละบริษัท ถ้าสถานะการเงินแข็งแรงสายป่านยาว ก็ยังสามารถยืนระยะได้ แต่ถ้าเป็นบริษัทรายเล็ก รายกลาง หรือบริษัทใหญ่แต่มีภาระหนี้สูง ก็อาจจะเกิดปัญหาจนโครงการไปต่อไม่ได้ ส่วนรายใหญาสายป่านยาวน่าจะยืนระยะในสถานการณ์แบบนี้ได้อีกราวๆ 2 ปี
คราวนี้โฟกัสไปที่ยอดขายในไตรมาสแรก นายอธิป ประเมินว่า ยอดขายโดยรวมอาจจะลดลงจากไตรมาส 1 ปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 20% โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบอาจจะติดลบน้อยหน่อยไม่เกิน 10% หรือบางบริษัทอาจจะไม่ติดลบเลย แต่ที่อาการสาหัสคือ คอนโดเนื่องจาก ทั้งคนไทยและคนต่างชาติต่างหยุดซื้อ อีเวนต์ช่วงเปิดตัวก็จัดไม่ได้ ส่งผลให้ตัวเลขขายติดลบไม่ต่ำกว่า 40%
“ยอดขายในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ตัวเลขไม่ได้ติดลบ แต่เริ่มออกอาการในเดือนมีนาคมได้รับผลกระทบอย่างหนักจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งตอนนี้ต้องรับสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น เพราะคงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้ เก็บแรง เก็บทุน เอาไว้รอให้สถานการณ์คลี่คลายก่อนจะดีกว่า
มาถึงตรงนี้นายอธิป ประเมินว่า ตลาดในไตรมาส 2 และ 3 อาจจะยิ่งแย่กว่าไตรมาส 1 เพราะ 2 เดือนแรกของไตรมาสแรกยังขายได้ มาแย่ในเดือนที่ 3 ถ้าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังไม่จบง่ายๆไตรมาสที่ 2 และ 3 คงจะแย่กว่าไตรมาส 1 และคงจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4
ภาพรวมของตลาดอสังหาฯ ทั้งปีคงไม่มีทางดีกว่าปีที่แล้วได้เลย แต่จะติดลบมากน้อยแค่ไหนคงต้องติดตามดูกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม นายอธิป ยังเชื่อว่า ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังคงมีอยู่แน่นอน แต่กำลังซื้อนั้นจะได้รับผลกระทบแค่ไหน ผู้บริโภคจะซื้อได้หรือไม่ และจะต้องใช้มาตรการกระตุ้นอย่างไร คงต้องรอให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลงก่อน เพราะกระตุ้นตอนนี้ก็คงไม่มีประโยชน์ ช่วยคนที่เดือดร้อนเฉพาะหน้ากันก่อนจะดีกว่า
แล้วที่มีความกังวลกันว่า วิกฤติครั้งนี้จะซ้ำรอยกับวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 หรือไม่ นายอธิป อธิบายว่า ปี 2540 คนรากหญ้าไม่ได้รับผลกระทบ แต่ไปกระทบกับภาคธุรกิจ ส่วนวิกฤติไวรัสครั้งนี้ กระทบกับคนรากหญ้า คนใช้แรงงาน แต่ภาคธุรกิจยังมีเงินอยู่ในกระเป๋า ธนาคารก็ยังแข็งแรง เพียงแต่ตอนนี้รายได้ไม่เข้า ถ้าเทียบกับปี 2540 ภาคธุรกิจเหมือนคนล้มละลาย แต่ปีนี้ ปัญหายังอยู่แค่ขายของไม่ดี แต่ยังมีเงินอยู่พอยืนระยะได้
ด้านนายวสันต์ เคียงศิริ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ได้ประเมินสภาพตลาดในไตรมาส 1 ว่า ตลาดในไตรมาส 1 ติดลบแน่นอนอยู่แล้ว ส่วนไตรมาสที่ 2 ก็น่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน บริษัทที่มีหนี้เยอะ ก็อาจจะเหนื่อยหน่อย ส่วนบริษัทที่ระมัดระวังการลงทุนมาก่อนหน้า ก็น่าจะไปรอด
ช่วงที่ผ่านมากำลังซื้อได้ถูกลดทอนลงจากความเข้มงวดของสถาบันการเงิน ขณะที่คนมีเงินก็เริ่มกังวล เพราะไม่รู้ว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะจบเมื่อไหร่ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า ปัญหาจะไม่ยืดเยื้อยาวนาน ถ้าทุกคนให้ความร่วมมือกับมาตรการต่างๆ ที่ประกาศออกมา แต่ถ้าไม่ร่วมมือกันก็คงจะลำบากกันมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่า เรียลดีมานด์ยังมีอยู่ แม้ตอนนี้จะชะลอการซื้ออกไป แต่ก็ไม่ได้หายไปไหนยังคงเป็นดีมานด์ที่สะสมรอสถานการณ์ที่คลี่คลายก้จะกลับมา และถึงวันที่ดีมานด์กลับมาแต่ละบริษัทก็ต้วเตรียมตัวเอาไว้ให้พร้อม เพียงแต่ว่าสถานการณืจะลากยาวแค่ไหน ซึ่งในประเทศไทยมีโอกาสที่จะลากยาวไป 3-4 เดือน
ขณะที่นายศิริพงษ์ สมบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทดี-แลนด์ กรุ๊ป จำกัด ให้ความเห็นว่า เชื่อมั่นว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยจะสามารถคลี่คลายลงได้ในไม่ช้า ซึ่งคาดว่าไม่เกินไตรมาส 3/2563 นี้ ก็จะสามารถควบคุมสถานการณ์และปรับตัว ทำให้กลับมาฟื้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงในขณะนี้คือ การบริหารงานให้เกิดสภาพคล่องที่สุด และแคมเปญการตลาดที่จัดต้องเอื้อประโยชน์สูงสุดต่อลูกค้า เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ตลอดจนการดูแลการขอสินเชื่อของลูกค้าอย่างเป็นพิเศษอีกด้วย
โครงการเปิดใหม่เดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2563
สำหรับสถานการณ์ การเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 1 แม้ว่าตัวเลขในเดือนมีนาคมจะยังไม่ออกมา แต่ใน 2 เดือน คือ มกราคมและกุมภาพันธ์ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ รายงานว่า มีโครงการบ้านจัดสรรเปิดขายรวม 28 โครงการ ลดลง 22% เมื่อทเยบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่คอนโดใหม่รวม 15 โครงการ เท่ากับปีที่แล้ว ทำให้ตลาดรวม 2 เดือนนั้นยังคงติดลบ และผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด คาดว่าในเดือนมีนาคมคงมีโครงการเปิดใหม่ไม่มากนัก ในไตรมาส 1 จำนวนโครงการเปิดใหม่คงจะติดลบอย่างแน่นอน
ช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ ขอแค่ประคองตัวให้ผ่านไปได้ก็พอ เหมือนที่บิ๊กอสังหาฯ อนันต์ อัศวโภคิน เคยพูดเตือนไว้ตั้งแต่ต้นปี ถ้าตลาดมันไปไม่ได้ก็อย่าไปฝืน สู้หันไปปรับปรุงศักยภาพภายในองค์กรให้ดี ไว้รอจังหวะฟื้นตัวแล้วค่อยลุยต่อ ขอให้โชคดีครับ