อัพเดตร่างผังเมืองอีอีซี อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เร่งปรับผังหลังรับความความเห็นประชาชนใน 3 จังหวัด คาดเสนอบอร์ดอีอีซี-ครม.พิจารณาประกาศใช้ในเดือนมิถุนายน
นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า ผังเมืองในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ได้เปิดรับฟังความเห็นในพื้นที่ทั้ง 3 จังหวัดเรียบร้อยแล้ว โดยภายในเดือนพฤษภาคมจะนำความเห็นทั้งหมดมาประชุมปรับร่างผังเมืองอีอีซีอีกประมาณ 2 ครั้ง ให้เสร็จสมบูรณ์ หลังจากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อประกาศใช้ผังในเดือนมิถุนายน
มณฑล สุดประเสริฐ
จากการฟังความเห็นประชาชนในพื้นที่ จังหวัดฉะเชิงเทรายังมีความเป็นห่วงในเรื่องสิ่งแวดล้อม อยากให้มีการจัดการเรื่องสิ่งแวดล้อมที่ดี ไม่ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำสาธารณะโดยเฉพาะแม่น้ำบางปะกง ซึ่งตามแนวคิดของผังเมืองอีอีซี ฉะเชิงเทราจะเป็นพื้นที่พักอาศัยชั้นดีอยู่แล้ว และในอำเภอที่ไกลๆ ออกไปก็อยากให้มีโครงการของอีอีซีไปลง เพื่อกระจายความเจริญออกไป
ส่วนที่จังหวัดระยองก็เป็นห่วงเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวคิดของอุตสาหกรรมที่จะไปลงจะต้องเป็นอุตสาหกรรมสะอาดอยู่แล้ว และยังเป็นห่วงเรื่องพื้นที่เกษตรชั้นดีและพื้นที่ป่าที่จะหายไป ซึ่งพื้นที่ป่าในผังเมืองไม่ได้เปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ส่วนพื้นที่เกษตรชั้นดีก็ควรจะอนุรักษ์ไว้ แต่พื้นที่เกษตรที่ให้ผลตอบแทนต่ำทำแล้วไม่คุ้มก็มีการปรับใหม่ทำให้มีพื้นที่ลดลงไม่ถึง 5% โดยเปลี่ยนข้อกำหนดให้ทำอะไรที่คุ้มกว่า
สำหรับจังหวัดชลบุรี โดยส่วนใหญ่ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเป็นเมืองที่มีการพัฒนาไปมากแล้ว เพียงแต่ต้องการให้การพัฒนาในอีอีซี เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่บ้าง ไม่ใช่ได้ประโยชน์แต่นักลงทุนที่ไปลงฝ่ายเดียว ซึ่งความเห็นทั้งหมดจะนำไปปรับผังเมืองอีกครั้ง
ข้อมูลเบื้องต้น ร่างแผนผังการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
- ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง พื้นที่รวม 8.29 ล้านไร่ หรือ 13,266 ตร.กม.
- ฉะเชิงเทรา พื้นที่ 3.34 ล้านไร่ หรือ 5,331 ตร.กม. มีบทบาทเป็นเมืองสำหรับที่อยู่อาศัยชั้นดีรองรับการขยายตัวของอีอีซี และกรุงเทพมหานคร เป็นสมาร์ทซิตี้ อุตสาหกรรมการเกษตร
- ชลบุรี เนื้อที่ 2.726 ล้านไร่ หรือ 4,363 ตร.กม. เป็นเมืองศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม ท่องเที่ยว ศูนย์การประชุม
- ระยอง เนื้อที่ 2.22 ล้านไร่ หรือ 3,552 ตร.กม. เป็นเมืองอุตสาหกรรม new s curve ต่อเนื่องจากอีสเทอร์นซีบอร์ด เน้นเทคโนโลยี และนวัตกรรม
- พื้นที่พัฒนาเมือง พื้นที่ส่งเสริมพิเศษ สนับสนุนเมืองใหม่และเมืองเดิม แบ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น 4 ประเภท 1.สีแดง ศูนย์กลางพาณิชยกรรม 2.สีส้มชุมชนเมืองเดิม 3.สีเหลือง รองรับการพัฒนาเมือง และ 4.สีน้ำตาล เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ
- พื้นที่พัฒนาเกษตรกรรม เป็นพื้นที่สีเขียวและสีเหลืองอ่อน หรือที่ดินเกษตรกรรมและชนบท
- พื้นที่อุตสาหกรรม สีม่วง ที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่ที่มีศักยภาพเหมาะสมรองรับการขยายอุตสาหกรรม
- พื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นพื้นที่สีเขียวลายจะสงวนไว้ มีพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม แหล่งน้ำ และชายฝั่งทะเล
ยกร่างผังกทม.อาจใช้ได้เร็วขึ้น
นายมณฑล กล่าวอีกว่า สำหรับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงผัง โดยยังใช้ผังของปี 2556 อยู่ ส่วนร่างผังใหม่อาจจะทำได้เร็วขึ้น เนื่องจากพ.ร.บ.การผังเมือง ฉบับใหม่จะมีผลประมาณปลายปี 2562 หรือต้นปี 2563 ซึ่งการบังคับใช้ผังเมืองจะออกเป้นประกาศกระทรวงมหาดไทยแทนการออกกฎกระทรวง ทำให้กระบวนการอาจจะเร็วขึ้น
“ขึ้นอยู่กับกทม.ไปรับฟังความเห็น แล้วมีคำร้องมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะต้องทำไปตามกระบวนการ แต่ในขั้นตอนของการออกเป็นกฎหมายน่าจะทำได้เร็วขึ้น คาดว่าเต็มที่ไม่เกินปี 2564 จะประกาศใช้ผังเมืองรวมกทม.ฉบับใหม่”
ส่วนร่างผังภาคกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ในขั้นสุดท้ายเสนอให้คณะกรรมการผังเมืองพิจารณา ว่าจะนำไปใช้ปรับปรุงผังเมืองรวมต่างๆ ที่อยู่ในเขตและจังหวัดใกล้เคียงต่อไป ขณะเดียวกันกทม.ก็อยู่ระหว่างการปรับปรุงผังเมืองจึงจะนำเสนอข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องให้กทม.และจังหวัดใกล้เคียงนำไปประกอบใช้ให้สอดคล้องกันต่อไป โดยเฉพาะประเด็นการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคล้องกัน สีผังเมืองจะไม่แตกต่างกันอีกต่อไป