นายกอสังหาฯฉะเชิงเทรา เดินหน้า 7 นโยบาย ขานรับการพัฒนา EEC พร้อมชูฉะเชิงเทราเมืองน่าเที่ยว เมืองน่าอยู่ เมืองน่าลงทุน เชื่ออสังหาฯ ฉะเชิงเทรายังเติบโตระยะยาว ขณะที่ยอดโอนกรรมสิทธิ์ฉะเชิงเทรา ปีนี้หดตัวลงหลังโดนพิษ Reject สูง
ดร.สืบวงษ์ สุขะมงคล นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา เปิดเผยว่า ได้เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทราเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา รู้สึกมีความยินดีที่จะเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาและผลักดันอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัยในพื้นที่ฉะเชิงเทราให้เติบโต โดยสานต่อนโยบายและขานรับการพัฒนาอีอีซี พร้อมกำหนดนโยบาย 7 เรื่อง ได้แก่
1.ผลักดันให้ฉะเชิงเทราเป็นเมืองน่าเที่ยว เมืองน่าอยู่ เมืองน่าลงทุน เนื่องจากจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นหลายด้าน เป็นเมืองที่เงียบสงบมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย มีทั้งวิถีชีวิตเมืองและชนบทที่ผสมผสานกันอย่างลงตัว อีกทั้งยังมีความสะดวกสบายในการเดินทาง อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ เพียง 75 กิโลเมตร และเป็นเส้นทางเชื่อมต่อไปยังภาคตะวันออก มีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น วัดโสธรวรารามวรวิหาร นอกจากนี้ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ เช่น ตลาดน้ำบางคล้า ตลาดท่าสะอ้าน อ่างเก็บน้ำคลองสียัด แม่น้ำบางปะกง ที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสำหรับคนรักธรรมชาติและมีร้านอาหารที่อร่อยขึ้นชื่อหลายแห่งเหมาะกับการท่องเที่ยว
เป็นที่ทราบกันดีว่าจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นหนึ่งในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทำให้มีโอกาสในการลงทุนสูง เนื่องจากมีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม เช่น รถไฟความเร็วสูง การเชื่อมต่อกับท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง และสนามบินสุวรรณภูมิ อุตสาหกรรมต่าง ๆ มีนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ประกอบด้วยนิคมอุสาหกรรมเวลโกร์ว, นิคมอุตสาหกรรมTFD, นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์ซิตี้, นิคมอุตสาหกรรม 304 จึงทำให้ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่น่าสนใจทั้งในการอยู่อาศัย ท่องเที่ยว และการลงทุน
2.ผลักดันการพัฒนาและปรับปรุงผังเมืองรองรับการขยายตัวของเมือง และเพิ่มพื้นที่อุตสาหกรรมเพื่อรองรับ EEC ซึ่งจะทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น
3.ผลักดันเรื่องถนนที่กำหนดไว้ในผังเมืองซึ่งเป็นอุปสรรคในการพัฒนา โดยเสนอให้คณะกรรมการ EEC พิจารณาความสำคัญก่อนหลัง
4.จัดการภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้สอดคล้องกับผู้ประกอบการ โดยเก็บภาษีที่ดินที่มีรายได้ ยกเลิกการเก็บที่ดินประเภทเกษตรกรรม ที่อยู่อาศัยและที่รกร้าง
5.ส่งเสริมการท่องเที่ยวและการขนส่งทางแม่น้ำบางปะกง
6.สนับสนุนมาตรการต่างๆ ที่ช่วยเหลือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น การลดค่าโอน ค่าจดจำนองแบบถาวร การปลดล็อคมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) สำหรับบ้านหลังที่ 2 และ 3 และการลดดอกเบี้ย เป็นต้น
7.ร่วมขับเคลื่อนโครงการ EEC ให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายสืบวงศ์กล่าวอีกว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดฉะเชิงเทรามีการเติบโตต่อเนื่องจากการขยายตัวของโครงการ EEC ทำให้ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะบริเวณใกล้เครือข่ายคมนาคมสำคัญ ซึ่งกระตุ้นความต้องการบ้านจัดสรรจากแรงงานและผู้บริหารในพื้นที่ ส่งผลให้บริษัทพัฒนาอสังหาฯ รายใหญ่เข้าลงทุนเพิ่มมากขึ้น สอดคล้องกับการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 1,412 โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 64 และมีมูลค่าเงินลงทุน 458,359 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน พลังงานหมุนเวียน และดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่
การลงทุนจะไปกระจุกตัวในภาคตะวันออกมากที่สุด จำนวน 625 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 44 ของจำนวนโครงการทั้งหมด เงินลงทุน 211,569 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 46 ของเงินลงทุนทั้งหมด เป็นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 105 โครงการ เงินลงทุน 69,615 ล้านบาท อุตสาหการรมยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 111 โครงการ เงินลงทุน 34,893 ล้านบาท และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์จำนวน 76 โครงการ เงินลงทุน 23,168 ล้านบาท แยกออกเป็นจังหวัดฉะเชิงเทรา จำนวน 51 โครงการ เงินลงทุน 14,317ล้านบาท
สำหรับยอดโอนกรรมสิทธิ์ปี 2566 ที่ผ่านมา เฉพาะอำเภอเมือง อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง ยอดโอนกรรมสิทธิ์ทั้งหมด 1,834 ยูนิต แบ่งเป็น ไตรมาส 1/2566 จำนวน 404 ยูนิต ไตรมาส 2/2566 จำนวน 411 ยูนิต ไตรมาส 3/2566 จำนวน 562 ยูนิต ไตรมาส 4/2566 จำนวน 457 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 5,715.19 ล้านบาท ทาวน์โฮมมียอดโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุด จำนวน 577 ยูนิต คิดเป็น 31.46% แต่เมื่อดูจากจำนวนมูลค่าแล้ว บ้านเดี่ยวมีมูลค่าสูงที่สุด มูลค่า 2,226.06 ล้านบาท คิดเป็น 38.95%
ส่วนยอดโอนกรรมสิทธิ์ไตรมาส 1/2567 เฉพาะอำเภอเมือง อำเภอบ้านโพธิ์ และอำเภอบางปะกง ยอดโอนกรรมสิทธิ์มีจำนวน 303 ยูนิต คิดเป็นมูลค่า 951.68 ล้านบาท โดยบ้านแฝดมียอดโอนกรรมสิทธิ์มากที่สุดมีจำนวน 365 ล้านบาท คิดเป็น 38.38% และเมื่อเทียบยอดโอนกรรมสิทธิ์ไตรมาส 1/2566 กับ ไตรมาส 1/2567 ยอดโอนกรรมสิทธิ์ไตรมาส 1/2567 ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากหลายๆ บริษัท ลูกค้าโดน Reject จากธนาคาร บวกกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น จึงทำให้ลูกค้าบางกลุ่มยกเลิก และชะลอตัวในการตัดสินใจโอนกรรมสิทธิ์
“ในฐานะนายกสมาคมฯ จึงต้องดันมาตรการอสังหาฯ ทั้งเรื่องอัตราดอกเบี้ย และการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง กลุ่มที่บ้านหลังแรก และบ้านมือสอง สำหรับบ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ซึ่งจะหมดภายในปีนี้ นอกจากนี้ต้องการให้รัฐบาลช่วยผ่อนปรนมาตรการ LTV พร้อมทั้งลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้โอกาสคนที่ต้องการมีบ้านหลังที่ 2 ได้รับสินเชื่อมากขึ้น ขณะเดี่ยวกันรัฐบาลเองควรสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชน มีความต้องการบ้านสูงกว่าเกินวงเงินที่รัฐบาลสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” นายสืบวงศ์กล่าว