fbpx
ปก อสังหาฯ แข่งขัน

40 บริษัทอสังหาฯ โกยรายได้ครึ่งปี 1.6 แสนล้าน กำไรวูบ 26%

ธุรกิจอสังหาฯผ่าน 6 เดือนแรกกันมาอย่างสะบักสะบอม ด้วยสถานการณ์ตลาดที่ชะลอตัวลงอย่างหนักหน่วงในช่วง 2 ไตรมาสแรกของปีจนใครๆ หลายคนบ่นกันตรึมว่า ขายยาก ขายแล้วขายอีก ขายจนท้อ แต่สุดท้ายก็ผ่านกันมาได้ชนิดที่เรียกได้ว่าเหนือความคาดหมายเล็กๆ กับผลการดำเนินงานด้านรายได้ที่ไม่ถึงกับดำดิ่งเหมือนกับที่คาดการณ์กันเอาไว้ แถมรายได้จากการขายในไตรมาสที่ 2 ยังมีบวกเล็กๆ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยผลกำไรที่ลดลงอย่างเห็นได้อย่างชัดเจน และมีหลายหลายที่มีผลงานที่ดี ขณะที่อีกหลายรายก็ยังต้องดิ้นรนให้พ้นจากภาวะขาดทุนกันต่อไป

Property Mentor ได้รวบรวมผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 2 และครึ่งแรกของปี 2567 ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวม 40 บริษัท ที่ยังมีความเคลื่อนไหวด้านการตลาด และมี Core Business เป็นธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย พบว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ของปี 2567 ทั้ง 40 บริษัทสามารถกวาดรายได้รวมรวมกันได้ 88,791 ล้านบาท ลดลงไม่ถึง 1% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2566 ที่มีรายได้รวม 89,321 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายทำได้รวมกันทั้งสิ้น 67,256 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.4% จากไตรมาส 2 ปี 2566 ที่มีรายได้จากการขายรวม 65,659 ล้านบาท

ในภาพรวมของไตรมาสที่ 2 ต้องถือว่าสอบผ่าน เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ตลาดที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน ทั้งกำลังซื้อที่อ่อนแรงลง และการปล่อยกู้ที่แสนจะเข้มงวด ภาวะเศรษฐกิจที่ยังอึมครึม แต่ยอดรวมรายได้จากการขายยังเติบโต แม้จะแค่ 2% แต่ก็เป็น 2% ที่แลกมาด้วยความเหนื่อยยากแบบสุดๆ

ส่วนกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2567 ทำรวมกันได้ 8,639 ล้านบาท ลดลง -18% จากไตรมาส 2 ปี 2566 ที่มีกำไรสิทธิรวมกัน 10,518 ล้านบาท สะท้อนภาพการแข่งขันราคาที่ดุเดือนเลือดพล่านยอมเฉือนกำไร เพื่อรักษาสภาพคล่องรับมือกับสถานการณ์ที่ยังไม่แน่ไม่นอน

กราฟ ฟื้นตัว ขาขึ้น

มาต่อที่ผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนหรือในครึ่งแรกของปี 2567 ทั้ง 40 บริษัทที่ได้เก็บรวมรวมข้อมูลมีรายได้รวมรวมกันที่ 167,781 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย หรือราวๆ -2.5% จากครึ่งแรกของปี 2566 ที่มีรายได้รวมรวมกันที่ 172,196 ล้านบาท ส่วนรายได้จากการขายสามารถทำรวมกันได้ 124,025 ล้านบาท ลดลงเพียง -2.2% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 ที่มีรายได้จากการขายรวมกันที่ 126,831 ล้านบาท ถือว่าในครึ่งปีแรกยังประคองตัวได้ดีแม้จะต้องเจอกับสถานการณ์ที่ไม่เป็นใจเท่าไรนัก ขณะที่กำไรสุทธิในรอบครึ่งปีแรกคงจะพอเดาทางกันได้ว่าผลลัพทธ์จะเป็นเช่นไร? โดยในครึ่งปีแรกทั้ง 40 บริษัทมีกำไรสุทธิรวมกันที่ 16,025 ล้านบาท ลดลงถึง -26% เมื่อเทียบกับครึ่งแรกของปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิรวมกันที่ 21,545 ล้านบาท

ทั้งนี้ พบว่า บริษัทที่มีรายได้รวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 23 บริษัท จาก 40 บริษัท ขณะที่ในครึ่งปีแรกบริษัทที่มีรายได้รวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีถึง 25 บริษัทจาก 40 บริษัท

สำหรับบริษัทที่มีรายได้รวมเติบโตขึ้นอย่างโดดเด่นในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 มีอยู่หลายราย เช่น เจ้าพระยามหานคร พราว เรียล เอสเตท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ แอสเซทไวส์ ไซมิส แอสเสท เซ็นทรัลพัฒนา แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ ส่วนบริษัทที่มีรายได้รวมครึ่งปีเติบโตอย่างโดดเด่น เช่น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, ไซมิส แอสเสท, เจ้าพระยามหานคร, เซ็นทรัลพัฒนา, แอสเซทไวส์, พราว เรียล เอสเตท, ชาญอิสสระ เป็นต้น

ปก ต้นทุน ดอกเบี้ย ขึ้น

หากวัดที่รายได้จากการขายซึ่งถือเป็น Core Business จะพบว่า ในไตรมาสที่ 2 มี 20 บริษัทจาก 40 บริษัท ที่มีรายได้ขายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และในครึ่งปีแรกมีถึง 24 บริษัทที่มีรายได้จากการขายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับบริษัทที่มีรายได้จากการขายเติบโตอย่างโดดเด่นในไตรมาสที่ 2 เช่น เจ้าพระยามหานคร, ไซมิส แอสเสท, พราว เรียล เอสเตท, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, แอสเซทไวส์, เซ็นทรัลพัฒนา, ยูนิเวนเจอร์, แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ เป็นต้น ส่วนในครึ่งปีแรกบริษัทที่มีรายได้จากการขายเติบโตอย่างโดดเด่น เช่น ไซมิส แอสเสท, เจ้าพระยามหานคร, อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์, ชาญอิสสระ, เซ็นทรัลพัฒนา, ยูนิเวนเจอร์, แอสเซทไวส์, พราว เรียล เอสเตท เป็นต้น

สุดท้ายวัดกันที่กำไรสุทธิ โดยในไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 บริษัทที่การดำเนินการมีผลกำไรมีจำนวน 24 บริษัท และขาดทุน 16 บริษัท ขณะที่ในครึ่งปีแรกบริษัทที่มีกำไรมีจำนวน 27 บริษัท ขาดทุน 13 บริษัท

อสังหาริมทรัพย์

Top 5 หน้าเดิม แสนสิริ-เอพี แบ่งแชมป์

สำหรับ บริษัทที่มีรายได้รวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ดีที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.เอพี (ไทยแลนด์) 9,877 ล้านบาท

2.แสนสิริ 9,615 ล้านบาท

3.ศุภาลัย 8,133 ล้านบาท

4.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 6,922 ล้านบาท

5.พฤกษา โฮลดิ้ง 5,693 ล้านบาท

ส่วนบริษัทที่มีรายได้รวมครึ่งแรกปี 2567 ดีที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.แสนสิริ 19,784 ล้านบาท

2.เอพี (ไทยแลนด์) 17,846 ล้านบาท

3.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 14,725 ล้านบาท

4.ศุภาลัย 12,807 ล้านบาท

5.พฤกษา โฮลดิ้ง 9,864 ล้านบาท

ผลประกอบการ q รายได้รวม

ขณะที่บริษัทที่มีรายได้จากการขายไตรมาส 2 ปี 2567 ดีเยี่ยม 5 อันดับแรก ได้แก่

1.เอพี (ไทยแลนด์) 9,444 ล้านบาท

2.แสนสิริ 8,486 ล้านบาท

3.ศุภาลัย 7,858 ล้านบาท

4.พฤกษา โฮลดิ้ง 4,835 ล้านบาท

5.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 4,360 ล้านบาท

สำหรับบริษัทที่มีรายได้จากการขายครึ่งแรกของปี 2567 ดีเยี่ยม 5 อันดับ
แรก ได้แก่

1.แสนสิริ 17,387 ล้านบาท

2.เอพี (ไทยแลนด์) 17,050 ล้านบาท

3.ศุภาลัย 12,331 ล้านบาท

4.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 8,792 ล้านบาท

5.พฤกษา โฮลดิ้ง 8,310 ล้านบาท

ผลประกอบการ q รายได้ขาย

สุดท้ายบริษัทที่มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ปี 2567ดีที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.ศุภาลัย 1,622 ล้านบาท

2.แสนสิริ 1,327 ล้านบาท

3.เอพี (ไทยแลนด์) 1,268 ล้านบาท

4.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 1,021 ล้านบาท

5.เซ็นทรัลพัฒนา 698 ล้านบาท

บริษัทที่มีกำไรสุทธิในครึ่งแรกปี 2567 ดีที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

1.แสนสิริ 2,581 ล้านบาท

2.เอพี (ไทยแลนด์) 2,277 ล้านบาท

3.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 2,256 ล้านบาท

4.ศุภาลัย 2,253 ล้านบาท

5.เซ็นทรัลพัฒนา 1,180 ล้านบาท

ผลประกอบการ q กำไรสุทธิ

ในครึ่งปีหลังสถานการณ์ตลาดยังมีความไม่แน่นอน แม้ว่าจะมีสัญญาณบวกมีให้เห็นอยู่บ้าง แต่ในภาพรวมภาวะเศรษฐกิจยังคงต้องรอจังหวะฟื้นตัว หลังรัฐบาลใหม่เริ่มทำงานและเริ่มอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ แต่ปัญหาเรื่องภาระหนี้ กำลังซื้อที่ยังอ่อนแรง ความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน และความเชื่อมั่นของประชาชน ยังคงเป็นโจทย์ใหญ่ที่บริษัทอสังหาฯจะต้องฝ่าฟันกันต่อไป อย่างไรก็ตามก็ยังเชื่อว่า ผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังจะดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรกอย่างแน่นอน