fbpx
บัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์

25 ปีแก้หนี้ 4.8 แสนล้าน BAM เดินหน้าสู่ Smart AMC (แห่งชาติ)

หลังวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (Bangkok Commercial Asset Management Public Company Limited) หรือ BAM ถูกตั้งขึ้นเพื่อเคลียร์หนี้เสีย 4.5 หมื่นล้านของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน) (BBC) ที่ปิดกิจการลง ซึ่งในเวลานั้นการบริหารสินทรัพย์ หรือ Asset Management ขนาดใหญ่ในรูปแบบบริษัทยังไม่เป็นที่รู้จักกันมากนักในประเทศไทย จากปี 2542 ที่ BAM ถือกำเนิดขึ้นมาจนถึงปี 2549 BAM ก็สามารถจัดการหนี้ BBC และคืนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินได้หมด ก่อนที่จะเปลี่ยนบทบาทมาเป็นการซื้อหนี้ NPL-NPA จากสถาบันการเงินเข้ามาบริหาร และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นบริษัทมหาชนในปี 2562

จนถึงปี 2567 ซึ่งเป็นปีที่ BAM ดำเนินงานครบรอบ 25 ปี ธุรกิจของ BAM เติบโตมาอย่างต่อเนื่องและกลายเป็นบริษัทบริหารทรัพย์สิน หรือ AMC ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ โดยมีสินทรัพย์รวม ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 อยู่ที่ 136,745 ล้านบาท หรือคิดเป็น 49% ของสินทรัพย์รวมของ AMC ทั้งระบบที่มีอยู่ประมาณ 280,000 ล้านบาทตารายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีรายได้จากการบริการหนี้เสียเฉลี่ยปีละกว่า 12,000 ล้านบาท และมีกำไรเฉลี่ยปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา และที่สำคัญ BAM กลายเป็นฟันเฟื่องสำคัญในฐานะที่หน่วยงานที่ทำหน้าที่เปรียบเสมือนแก้มลิงรองรับหนี้เสียจากระบบสถาบันการเงิน เพื่อแก้ไขหนี้ด้อยคุณภาพให้กลับมาเป็นหนี้ที่มีคุณภาพอีกครั้ง และมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พลิกฟื้นประเทศ ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา

บัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ BAM

“ตลอด 25 ปี ที่ผ่านมา ถือว่า BAM บรรลุตามเป้าหมายในการเป็นองค์กรซึ่งทำหน้าที่แก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของประเทศ โดยสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้ข้อยุติจากการแก้ไขปัญหาหนี้เป็นจำนวน 155,683 ราย คิดเป็นภาระหนี้เงินต้น 484,649 ล้านบาท และสามารถจำหน่ายทรัพย์ NPA ไปแล้ว จำนวน 52,258 รายการ คิดเป็นราคาประเมิน 122,866 ล้านบาท ซึ่งตลอดช่วง 25 ปี BAM มีกำไรสะสมรวม 77,593 ล้านบาท โดยปัจจุบัน BAM มี NPL อยู่ในความดูแลจำนวน 87,371 ราย คิดเป็นภาระหนี้รวม 496,002 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระบบสถาบันการเงินคิดเป็น 98.06% ขณะที่ NPA มีจำนวน 24,378 รายการ มูลค่าราคาประเมิน 72,958 ล้านบาท เมื่อเทียบกับระบบสถาบันการเงินคิดเป็น 47.19%” นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าว

สำหรับในปี 2567 BAM ตั้งเป้าผลเรียกเก็บเอาไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท โดยในไตรมาสแรกสามารถทำได้ 3,535 ล้านบาท มีอัตราเติบโตที่ 9.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่จำนวน 3,230 ล้านบาท ซึ่งช่วยทำให้สามารถสร้างผลกำไรได้ 423 ล้านบาท มีการเติบโตสูงถึง 58.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาที่มีผลกำไร 267 ล้านบาท

“สถานการณ์ที่ดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่เริ่มมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ แต่ก็ยังมีงบประมาณที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายอีกจำนวนมาก ถ้าสามารถเร่งการเบิกจ่ายได้ กิจกรรมด้านการเงิน การชำระหนี้ การซื้อทรัพย์น่าจะดีขึ้น แต่ปัญหาก็คือธนาคารค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการปล่อยกู้ เราเห็นได้ชัดว่าคนที่จะมาซื้อทรัพย์กับเราบางส่วนขอกู้ไม่ผ่าน ซึ่งเราก็พยายามให้ลูกค้าไปกู้กับธนาคารก่อน แต่ถ้ากู้ไม่ได้และเห็นว่าลูกค้าสามารถผ่อนได้ในระยะยาวก็จะให้มาผ่อนกับ BAM ซึ่งหลายรายก็ทำในรูปแบบนี้ และคงต้องทำมากขึ้น เมื่อธนาคารไม่ปล่อยสินเชื่อ

แต่ตอนนี้ถือว่าเป็นภาพที่ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว ซึ่งในปีที่แล้วเราคาดว่าครึ่งปีหลังจะดีขึ้นแต่พอมันไม่ดีก็เหนื่อยและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กำไรในปีที่แล้วเราได้น้อยกว่าปี 2565 อยู่ประมาณ 1,000 ล้านบา ส่วนในปีนี้เราตั้งเป้าเอาไว้ที่ 2 หมื่น พอดูตัวเลขไตรมาสแรกก็มีคำถามว่าจะทำได้ถึงหรือไม่ ซึ่งทีมก็พยายามกันอยู่ ซึ่งถ้ามีตัวช่วยก็คือรัฐบาลสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เร็วขึ้น เศรษฐกิจทั่วโลกดีขึ้น เราก็ยังมองในแง่ดีว่าเราน่าจะทำได้” นายบัณฑิตกล่าว

ปี BAM

ทั้งนี้ BAM ได้กำหนดแผนกลยุทธ์ประจำปี 2567 ประกอบด้วย กลยุทธ์การขยายธุรกิจ ได้แก่ การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการ Clean Loan การดำเนินโครงการกิจการค้าร่วม (Consortium) รวมถึงกลยุทธ์การพัฒนาธุรกิจ ได้แก่ การพัฒนา Pricing Model ในการกำหนดราคาซื้อ และเน้นการลงทุนแบบ Selective และการลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการทางคดี กระบวนการประเมินราคาทรัพย์ รวมถึงปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความยืดหยุ่น ในส่วนของกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ได้แก่ การสร้างระบบการให้บริการลูกค้าผ่านช่องทาง Online โดยมีระบบการชำระเงิน ตรวจสอบภาระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งการซื้อทรัพย์ผ่าน BAM Mobile Application

การบริหารจัดการข้อมูล DATA Management Dashboard ด้วยการสร้างศูนย์ข้อมูลกลาง (DATA Center) เพื่อให้สามารถใช้ข้อมูลองค์กรและการจัดทำรายงานทั้งหมด โดยมีข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน เพื่อกลายเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data Driven Organization) ซึ่งเป็นเครื่องมือการตัดสินใจสำหรับการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงระบบ Lead Management ที่จะช่วยรวบรวมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายที่สนใจสินค้าและกลุ่มลูกหนี้ของ BAM ที่ต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นเพื่อเข้ามาปรับโครงสร้างหนี้ให้ติดต่อหรือลงทะเบียนเข้ามา และเตรียมนำ AI มาช่วยในการวิเคราะห์ลูกหนี้ ทำให้สามารถจำแนกลูกหนี้กลุ่มต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป

ผู้บริหาร BAM

“มองไปข้างหน้า 3-5 ปี BAM ได้วางแนวทางการเป็น Digital Enterprise ยกระดับสู่การเป็น Smart AMC ซึ่งมีการปรับกระบวนการทำงานหลักสำหรับ NPL NPA LAW และบัญชีการเงิน ที่ต้องเชื่อมโยงข้อมูลกัน รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลเพื่อนำมาใช้เชิงธุรกิจ และการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบงานและข้อมูลสารสนเทศ ในขณะที่ระยะ 3-5 ปี มุ่งสู่การเป็นศูนย์การสร้างมูลค่าทรัพย์ (Asset market maker) ด้วยการดำเนินการเป็น Non-Financial Debt Management (NFD), Secured P2P Facilitator และ Regional AMC Expansion สู่การตั้ง AMC ในประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนระยะมากกว่า 5 ปี สร้างโอกาสในระยะยาวด้วยการเพิ่มพอร์ตไปยัง Non-RE (Alternative Assets), ปล่อยกู้ลูกหนี้ที่ชำระอย่างสม่ำเสมอ (Recovery credit) การเป็น Regional NPLs marketplace การจัดทำธุรกิจลงทุนในหุ้นนอกตลาด (Private equity) การ Distressed PE broker และการพัฒนาธุรกิจด้านข้อมูลการลงทุนอสังหาฯ (RE Data intelligence) รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับอนาคต Capability Development พร้อมทั้งการจัดทำแผนพัฒนา Successor & Talent และพัฒนา Core Capability เช่น งาน AO : NPL /NPA และงานประเมินราคาทรัพย์สิน”

ปี BAM

ล่าสุด BAM ได้ร่วมกับธนาคารออมสินร่วมทุนจัดตั้งบริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด หรือ ARI-AMC เพื่อแก้ปัญหาหนี้ทั้งระบบของรัฐบาล ด้วยทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท มีสัดส่วนการร่วมทุนเท่ากันที่ 50:50 และมีระยะเวลาดำเนินการไม่เกินกว่า 15 ปี นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการ โดยดำเนินธุรกิจบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ในระยะแรกจะรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสินเพียงแห่งเดียวก่อน เป็นการรับซื้อหนี้สินเชื่อทั่วไปทั้งที่มีหลักประกันและไม่มีหลักประกัน เป็นกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย SMEs รวมถึงหนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด ที่มีสถานะ NPLs หนี้สูญ รวมถึง NPA ที่มียอดหนี้ไม่เกิน 20 ล้านบาท ครอบคลุมลูกหนี้ที่ยังไม่ดำเนินคดี และดำเนินคดีแล้ว ที่ยังมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ บริษัทจะมีการรับซื้อหนี้ในราคายุติธรรม และคำนึงถึงประโยชน์ที่ลูกหนี้จะได้รับสอดคล้องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นและหลากหลาย อาทิ การปรับลดเงินต้น ปรับลดอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ หรือการตัดหนี้บางส่วนให้กับลูกหนี้ เป็นต้น โดยคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2567 จะสามารถเริ่มรับซื้อและรับโอนหนี้จากธนาคารออมสิน และจะมีลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือจำนวนกว่า 500,000 บัญชี หรือคิดเป็นมูลหนี้เงินต้นกว่า 45,000 ล้านบาท และในอนาคตจะขยายการดำเนินการให้ครอบคลุมการรับซื้อหนี้ประเภทอื่น รวมถึงหนี้ของ SFIs อื่น ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

BAM ออมสิน ตั้ง AMC

“BAM มีหน้าที่เป็นแก้มลิงรองรับหนี้เสียจากระบบสถาบันการเงิน ถ้าเราไม่มี partner ไม่มีบริษัทร่วมทุนจะทำให้ต้องใช้เงินทุนจำนวนเยอะมาก ดังนั้นถ้าเราอยากเป็นแก้มลิงที่ใหญ่ขึ้น เราต้องมี บริษัทร่วมทุนมากกว่า 1 แต่คงทำได้ไม่พร้อมกัน เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของเราลดลง นอกจากนี้การมีบริษัทร่วมทุนจะทำให้ไม่ต้องเพิ่ม D/E ขึ้นไปถึงระดับที่น่ากังวล โดยขณะนี้ D/E ของเราอยู่ที่ 2.2 เท่า จากที่ขออนุมัติจากบอร์ดไว้ที่ไม่เกิน 2.5 ดังนั้นถ้าเราซื้อหนี้ระดับหมื่นกว่าล้านต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะเหนื่อย การตั้งบริษัทร่วมทุนจึงเข้ามาในจังหวะที่เหมาะสมมากๆ

จากประสบการณ์ตลอด 25 ปี ของ BAM เชื่อมั่นว่าเรามีความพร้อมทั้งในด้านประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญของบุคลากร ตลอดจนระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การให้บริการลูกค้าในทุกช่องทางอย่างครบวงจร และการมีเครือข่ายสาขาทั่วประเทศ จะช่วยให้ความร่วมมือในการผลักดันการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุนลุล่วงไปได้ด้วยดี อีกทั้งทำให้บริษัท บริหารสินทรัพย์อารีย์ จำกัด ที่ก่อตั้งขึ้น สามารถตอบโจทย์การเป็นธุรกิจเพื่อสังคม โดยที่ยังสามารถบริหารจัดการให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี ช่วยแก้ไขหนี้ภาคครัวเรือน รวมถึงสามารถจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ให้รองรับการดำเนินงานตามพันธกิจและนโยบายของภาครัฐได้อย่างมีประสิทธิภาพ” นายบัณฑิตกล่าวปิดท้าย