fbpx
ซีคอน

ซีคอน บริษัทรับสร้างบ้านระดับตำนานกับยุคเปลี่ยนผ่านสู่รุ่นที่ 3

บริษัทรับสร้างบ้านระดับตำนาน “ซีคอน” ในวัย 63 ปี กำลังเปลี่ยนผ่านจากรุ่น 2 ไปสู่ผู้บริหารรุ่น 3 ของตระกูลซอโสตถิกุล จากยุคเริ่มต้นเมื่อปี 2504 ซอโสตถิกุล รุ่น 1 โดยนายวิชัย ซอโสตถิกุล ผู้บุกเบิกธุรกิจรองเท้านันยางในประเทศไทย และกลุ่มนักธุรกิจที่เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจการก่อสร้างที่จะมีผลต่อการพัฒนาประเทศ จึงได้ก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างชื่อ บริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง จำกัด และได้มอบหมายให้นายกอบชัย ซอโสตถิกุล บุตรชายที่สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมโยธาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย และทำงานอยู่กับบริษัทออกแบบก่อสร้างสัญชาติอเมริกันเข้ามารับผิดชอบบริหารงานในบริษัท และได้มีโอกาสเข้าไปรับผิดชอบการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญหลายๆ โครงการ

จากปทุมวันสแควร์สู่สยามสแควร์
ผลงานแรกก็คือ โครงการออกแบบก่อสร้างตลาดและตึกแถวประมาณ 200 คูหา บริเวณตลาดมหานาค และได้พบปัญหาของการก่อสร้างด้วยระบบดั้งเดิม ทั้งเรื่องของคุณภาพวัสดุ คุณภาพงาน และระยะเวลาก่อสร้าง นายกอบชัยและทีมวิศวกรของบริษัทจึงได้เริ่มคิดค้นและพัฒนาก่อสร้างสำเร็จรูปที่เรียกว่า “ระบบซีคอน” ที่ทำให้สามารถสร้างอาคารที่แข็งแรงทนทาน ประหยัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการก่อสร้าง ทำให้เกิดระบบการก่อสร้างที่ได้มาตรฐานยิ่งขึ้น

สำหรับโครงการแรกที่ใช้การก่อสร้างระบบซีคอน ได้แก่ โครงการสร้างตึกแถวบริเวณถนนพระราม 4 และถนนบรรทัดทองของบริษัท วังใหม่ จำกัด ซึ่งเป็นคู่สัญญาโดยตรงกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากความสำเร็จในครั้งนี้ จึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างศูนย์การค้าบนที่ดินของจุฬาฯบริเวณถนนพระราม 1 เดิมใช้ชื่อว่า ปทุมวันสแควร์ และด้วยความสำเร็จอันยิ่งใหญ่เกินกว่าคำว่าปทุมวันซึ่งเป็นแค่อำเภอๆ หนึ่ง จึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สยามสแควร์ ซึ่งเป็นไอเดียของนายกอบชัยนั่นเอง

ซีคอน

สยามสแควร์ เป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่แบบเปิดโล่งแห่งแรกของประเทศไทยในขณะนั้น มีเนื้อที่กว่า 50 ไร่ ประกอบด้วย โรงภาพยนตร์ 3 โรง สถานโบว์ลิ่ง 1 แห่ง และตึกแถวประมาณ 550 คูหา นอกจากนี้ เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้างยังได้ร่วมมือกับบริษัท สี่พระยาก่อสร้าง จำกัด สร้างโรงแรมสยามอินเตอร์คอนติแนนตัล ด้วยระบบก่อสร้างซีคอน ถือเป็นโรงแรมที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นมาอย่างยาวนาน ต่อมาถูกรื้อทิ้งเพื่อนำที่ดินสร้างเป็นสยามพารากอนในปัจจุบัน

สร้างตำนานธุรกิจรับสร้างบ้าน
ในปี 2509 เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้าง รุกเข้าสู่ธุรกิจที่อยู่อาศัย หลังจากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้มีนโยบายสนับสนุนผู้มีรายได้น้อยในประเทศไทยให้มีบ้านเป็นของตนเอง โดยการค้ำประกันเงินกู้ 5 ล้านเหรียญ เพื่อนำเงินมาให้ประชาชนกู้ยืมสำหรับนำไปซื้อบ้าน เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้างมองเห็นโอกาสตรงนี้จึงได้ร่วมทุนกับบริษัทอเมริกันแห่งหนึ่งจัดสร้าง “หมู่บ้านมิตรภาพ” ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว ประมาณ 800 หลัง ให้ประชาชนเช่าซื้อในอัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมีระยะเวลาผ่อนชำระคืน 20 ปี จนประสบความสำเร็จอย่างมาก และนับว่าเซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้างเป็นผู้บุกเบิกและริเริ่มบริการสร้างหมู่บ้านจัดสรรผ่อนส่งระยะยาวขึ้นจนเป็นที่แพร่หลายในปัจจุบัน

ซีคอน

เมื่อธุรกิจหมู่บ้านจัดสรรเริ่มแพร่หลายเซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้างก้าวไปอีกขั้น โดยได้พัฒนาธุรกิจการก่อสร้างมาเป็นบริการรับสร้างบ้านด้วย ระบบซีคอน ให้แก่ลูกค้าที่มีที่ดินเป็นของตนเอง โดยใช้ระบบ “สร้างให้ก่อน ผ่อนทีหลัง” เนื่องมาจากในสมัยนั้นได้มีการจัดสรรที่ดินกันมาก และเมื่อลูกค้าได้ผ่อนที่ดินหมดแล้วย่อมต้องการมีบ้านเป็นของตนเอง ด้วยเหตุนี้บริษัทจึงได้จัดแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินให้แก่ลูกค้า ได้ผ่อนชำระด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำ นอกจากนั้น ยังได้อำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าในหลายๆ ด้าน เช่น การขออนุญาตปลูกสร้าง การขอเลขที่บ้าน การขอประปาและไฟฟ้า เป็นต้น

นับว่าเป็นการบุกเบิกธุรกิจรับสร้างบ้านขึ้นมาในประเทศไทยจนได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างมาก ต่อมาได้มีบริษัทลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นมาในภายหลังอีกมากมาย และจากความสำเร็จในการนำระบบก่อสร้างแบบกึ่งสำเร็จรูปมาใช้จนเป็นที่รู้จักและเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ระบบซีคอน” ในปี 2518 บริษัท เซาท์อีสท์เอเชียก่อสร้างจึงได้เปลี่ยน ชื่อเป็น บริษัท ซีคอน จำกัด และให้ชื่อระบบการก่อสร้างที่คิดค้นและพัฒนาว่า “ระบบซีคอน” จนถึงปัจจุบันมีบ้านที่ก่อสร้างในนามซีคอนและบริษัทในเครือนับหมื่นๆ หลัง

เปลี่ยนผ่านจากรุ่น 2 สู่รุ่น 3
ในปี 2567 นายกอบชัยในวัย 89 ปี ได้ถ่ายทอดเจตนารมย์และวิสัยทัศน์แห่งผู้นำธุรกิจรับสร้างบ้านสู่ 2 ผู้บริหารรุ่นที่ 3 คือ นายไปรเทพ ซอโสตถิกุล ประธานกรรมการบริหาร และนายมนู ตระกูลวัฒนะกิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีคอน จำกัด เพื่อสานต่อการพัฒนานวัตกรรม และบริการรับสร้างบ้าน พร้อมทั้งขยายธุรกิจให้เติบโต ล่าสุดโรงงานผลิตโครงสร้างชิ้นส่วนเสา-คานกึ่งสำเร็จรูประบบซีคอนแห่งที่ 2 ที่ลำลูกกาคลอง 12 ได้สร้างเสร็จเรียบร้อย และมีกำลังการผลิตสูงถึง 1.2 แสนชิ้นต่อปี หรือ 700-800 หลัง เพื่อรองรับการขยายตัว และการขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว พร้อมก้าวไปอย่างต่อเนื่องแบบ “Fast Forward”

ซีคอน

นายมนู กล่าวว่า สำหรับการดำเนินธุรกิจของ ซีคอน ในไตรมาสแรกของปี 2567 มียอดขายรวม 570 ล้านบาท เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ประมาณ 15% ส่วนหนึ่งมาจากการเข้าไปรับสร้างบ้านให้กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ 2 ราย ได้แก่ สิงห์เอสเตท และเนอวานา และเชื่อว่าในไตรมาส 2 ของปีนี้ ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านจะยิ่งเติบโต เนื่องจากมาตรการกระตุ้นอสังหาฯของภาครัฐ ที่ไฟเขียวลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้าน สูงสุด 100,000 บาท นาน 2 ปี ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นการตัดสินใจของผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

ซีคอน…ส่งต่อด้วยใจ
ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมย์และวิสัยทัศน์แห่งผู้นำธุรกิจรับสร้างบ้าน บริษัทจึงได้สร้างสรรค์แคมเปญพิเศษ “ซีคอน…ส่งต่อด้วยใจ” โดยการนำกลยุทธ์ Music Marketing มาใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารเพื่อตอกย้ำ Brand Loyalty และสร้าง Brand Awareness แก่กลุ่มเป้าหมายใหม่ ผ่าน ภาพยนตร์โฆษณา และมิวสิค วิดีโอ ด้วยการร่วมกับ “บอย โกสิยพงษ์” นักแต่งเพลง นักร้อง และโปรดิวเซอร์ชื่อดังของไทย นำบทเพลง LIVE and LEARN มา Rearrange ใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ปั่น-ไพบูลย์เกียรติ เขียวแก้ว นักร้องมากความสามารถที่มีผลงานเพลงมากกว่าร้อยบทเพลง มาส่งผ่านอารมณ์เพลง LIVE and LEARN ในแนวดนตรีดรัมแอนด์เบส (Drum and Bass) เวอร์ชั่นพิเศษของซีคอน ร่วมกับ กลม เดอะวอยซ์-อรวี พินิจสารภิรมย์

ซีคอน

“เหตุผลที่ ซีคอน เลือกบทเพลง LIVE and LEARN มาใช้ในแคมเปญนี้ เพราะเนื้อหาของบทเพลงนี้มีความหมายที่ดี สามารถถ่ายทอดเรื่องราวได้สอดคล้องกับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสารออกไปได้ชัดเจน สามารถสื่อสารให้เห็นในเชิงของปรัชญาการดำรงชีวิต ที่คนๆ หนึ่งได้เดินทางหรือบริหารธุรกิจมานานถึง 63 ปี ซึ่งแน่นอนว่าต้องสะสมประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญมามาก และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมสิ่งที่สั่งสมมานั้นก็ต้องสืบทอดไปสู่คนรุ่นถัดไป แต่สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปคือ ปณิธานและความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจในแบบ Customer Centric ที่เรายึดถือมาโดยตลอด และเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจให้ยั่งยืนจากปัจจุบันสู่อนาคต” นายมนูกล่าวปิดท้าย