เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ และนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวง ได้ร่วมกันแถลงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่รัฐบาลนำมาใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่
สำหรับมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีเป้าหมายที่จะสนับสนุนให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการลดภาระให้กับผู้ที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยด้วยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง และสนับสนุนให้ผู้ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยสามารถเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่าปกติ ในขณะเดียวกันจะช่วยเร่งระบายสินค้าคงค้างในตลาดทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล และในภูมิภาค (อีอีซี) ที่มีมากกว่า 2.5 แสนหน่วย และสร้าง Multiplier Effect หรือผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ จากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง
ทั้งนี้ ในรายงานที่กระทรวงการคลังเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์มูลค่ารวม 8 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มการบริโภคภายในประเทศได้ประมาณ 1.18 แสนล้านบาทต่อปี และเพิ่มการลงทุนได้ 4.65 แสนล้านต่อปี และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้น 1.58% ต่อปี เมื่อเทียบกับกรณีไม่มีมาตรการ ในขณะที่รัฐจะสูญเสียรายได้จากค่าโอนและค่าจดจำนองรวม 23,822 ล้านบาท และรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้ที่ต้องการปลูกสร้างบ้านอีกประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี
สำหรับมาตรการที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย
1.การปรับปรุงค่าธรรมเนียมโอนและจดจำนอง เดิมค่าโอนลดเหลือ 2% เหลือ 0.01% ส่วนการจดจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% เช่นเดียวกัน และขยายเพดานราคาอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยใหม่และมือสอง ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และคอนโดมิเนียม ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท เป็นราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2567 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
มาตรการดังกล่าวจะช่วยแบ่งเบาภาระการซื้อที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนซึ่งต้องเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย จากเดิมที่ต้องเสียค่าโอน 2% และค่าจดจำนอง (กรณีกู้เงินกับสถาบันการเงิน) อีก 1% รวมเป็น 3% เหลือค่าโอน 0.01% และค่าจดจำนอง 0.01% หรือรวม 0.02% เท่ากับว่าจากเดิมจะเสียค่าธรรมเนียมโอน+จดจำนองรวมกันล้านละ 3 หมื่นบาท จะเหลือล้านละ 200 บาท
–บ้าน-คอนโดราคา 2 ล้านบาท จากเดิมต้องเสียค่าธรรมเนียมโอน 6 หมื่นบาท จะเหลือ 400 บาท
–บ้าน-คอนโดราคา 3 ล้านบาท จากเดิมต้องเสียค่าธรรมเนียมโอน 9 หมื่นบาท จะเหลือ 600 บาท
–บ้าน-คอนโดราคา 4 ล้านบาท จากเดิมต้องเสียค่าธรรมเนียมโอน 1.2 แสนบาท จะเหลือ 800 บาท
–บ้าน-คอนโดราคา 5 ล้านบาท จากเดิมต้องเสียค่าธรรมเนียมโอน 1.5 แสนบาท จะเหลือ 1,000 บาท
–บ้าน-คอนโดราคา 6 ล้านบาท จากเดิมต้องเสียค่าธรรมเนียมโอน 1.8 แสนบาท จะเหลือ 1,200 บาท
–บ้าน-คอนโดราคา 7 ล้านบาท จากเดิมต้องเสียค่าธรรมเนียมโอน 2.1 แสนบาท จะเหลือ 1,400 บาท
2.การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับประชาชนที่มีการว่าจ้างปลูกสร้างบ้านกับผู้รับเหมาที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และมีการทำสัญญาที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ 10,000 บาทต่อทุกจำนวนค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 100,000 บาท หรือค่าก่อสร้างบ้านไม่เกิน 10 ล้านบาท ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ในปีภาษี 2567 และ 2568
เงื่อนไขสำหรับมาตรการนี้ ได้แก่
1.ผู้ว่าจ้างสร้างบ้านต้องเป็นบุคคลธรรมดา
2.ผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
3.เงินค่าจ้างก่อสร้าง ตามสัญญาจ้างที่ได้กระทำขึ้นและเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 9 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
4.เงินค่าก่อสร้าง 1 ล้านบาท สามารถนำมาหักลดหย่อนได้ 1 หมื่นบาท โดยเศษของ 1 ล้านบาทให้ปัดลง และหักลดหย่อนสูงสุดไม่เกิน 1 แสนบาท
5.หลักฐานสำหรับการใช้สิทธิ์ 1.สัญญาจ้างก่อสร้างที่เสียอากรแสตมป์ด้วยวิธีการชำระอากรเป็นตัวเงินผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 2.ใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่ได้รับจากการชำระค่าก่อสร้างตามสัญญาให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง
3.มาตรการสินเชื่อ ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์และธนาคารออมสิน
3.1 โครงการ Happy Home ซึ่งเป็นโครงการที่ต่อยอดมาจากโครงการบ้านล้านหลังจากเดิมจะปล่อยวงเงินกู้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาทจะขยับมาเป็น 3 ล้านบาท วงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท โดยธอส.จะสนับสนุนสินเชื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคาร หรือห้องชุด ปลูกสร้างอาคารหรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร และเพื่อซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อประโยชน์ในการอยู่อาศัย
อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3% ต่อปี ในเวลา 5 ปีแรก ปีที่ 6-7 MRR-2% ปีที่ 8-9 MRR-1.5% ปีที่ 10 จนถึงตลอดอายุสัญญา สำหรับลูกค้าทั่วไป MRR-0.75% สำหรับลูกค้าสวัสดิการ MRR-1% วงเงินต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 3,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2568 หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ
3.2 โครงการ Happy Life วงเงิน 10,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในราคาตั้งแต่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อซื้อที่ดินพร้อมอาคารหรือห้องชุด รวมทั้งปลูกสร้างอาคารหรือซื้อที่ดินพร้อมปลูกสร้างอาคาร หรือเพื่อต่อเติม ขาย ซ่อมแซมอาคาร หรือไถ่ถอนจำนองจากสถาบันการเงินอื่น
อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี อยู่ที่ 2.98% โดยปีที่ 1 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1.95% ปีที่ 2-3 อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.50% ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้เงิน สำหรับลูกค้าทั่วไป MRR-0.50% สำหรับลูกค้าสวัสดิการ MRR-1% สำหรับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถยื่นคำขอกู้กับ ธอส. ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป หรือจนกว่า ธอส. ให้สินเชื่อเต็มตามกรอบวงเงินของโครงการ
3.3 การให้การส่งเสริมกิจการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (โครงการบ้าน BOI) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ออกประกาศที่ ส. 1/2567 ลงวันที่ 15 มีนาคม 2567 ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี ในวงเงิน ไม่เกินร้อยละ 100 ของเงินลงทุน (ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน) สำหรับการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข เช่น
-ที่อยู่อาศัยที่ขอรับการส่งเสริม กรณีอาคารชุดต้องมีพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 24 ตารางเมตร และกรณีบ้านเดี่ยวหรือบ้านแถว ต้องพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 70 ตารางเมตร
-การก่อสร้างที่อยู่อาศัยที่ขอรับการส่งเสริมต้องจำหน่ายให้บุคคลธรรมดาเท่านั้น โดยก่อสร้างที่อยู่อาศัย (รวมค่าที่ดิน) ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท
-ต้องมีที่อยู่อาศัยตามเงื่อนไขที่กำหนดไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของที่อยู่อาศัยทั้งโครงการ
-มีแผนผังและแบบแปลน ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ และได้รับการอนุญาตก่อสร้างอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
-ต้องยื่นขอรับการส่งเสริมภายในวันทำการสุดท้ายของปี 2568 เป็นต้น
นอกจากนี้ ธนาคารออมสินยังมีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ ได้แก่
1) โครงการสินเชื่อบ้านออมสินเพื่อประชาชน วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อสำหรับบุคคลทั่วไป เพื่อซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง ห้องชุด หรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ร้อยละ 2.95 ต่อปี โดยปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.95 วงเงินกู้ต่อรายสูงสุด ไม่เกิน 7,000,000 บาท ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 40 ปี พร้อมเงื่อนไขเงินงวดผ่อนชำระต่ำพิเศษ เริ่มต้น 2,500 บาทต่อเดือน โดยสามารถยื่นคำขอกู้กับธนาคารออมสินได้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2567
2) โครงการสินเชื่อ D-HOME สำหรับผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินโครงการ 10,000 ล้านบาท โดยสนับสนุนสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการนำไปเป็นเงินลงทุน ได้แก่ ค่าที่ดิน ค่าก่อสร้าง ค่าพัฒนาสาธารณูปโภค หรือเป็นเงินหมุนเวียนในกิจการ อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นร้อยละ 3.50 ต่อปี ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 4 ปี ฟรีค่าธรรมเนียม โดยสามารถยื่นคำขอกู้ได้กับธนาคารออมสินตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2567 เป็นต้นไป