Property Mentor ได้เก็บตัวการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ประจำปี 2567 ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทจดทะบียนในตลาดหลักทรัพย์รวม 17 ราย ที่ได้มีการประกาศแผนลงทุนอย่างเป็นทางการพบว่า มีโครงการลงทุนมูลค่ารวมกันทั้งสิ้น 3.9 แสนล้านบาท จากโครงการที่อยู่อาศัยรวม 293 โครงการ แบ่งเป็น ที่อยู่อาศัยแนวราบ 229 โครงการ และคอนโดมิเนียม 64 โครงการ โดยมีเป้ายอดขายรวมกัน 3.8 แสนล้านบาท และมีเป้ารายได้รวม 3.1 แสนล้านบาท
สำหรับบริษัทที่มีแผนเปิดตัวโครงการใหม่มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.เอพี ไทยแลนด์ 48 โครงการ
2.แสนสิริ 46 โครงการ
3.ศุภาลัย 42 โครงการ
4.ออริจิ้น (บริทาเนีย+ออริจิ้น เวอร์ติเคิล) 34 โครงการ
5.พฤกษา เรียลเอสเตท 30 โครงการ
ส่วนบริษัทที่มีมูลค่าโครงการใหม่สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.แสนสิริ 61,000 ล้านบาท
2.เอพี ไทยแลนด์ 58,000 ล้านบาท
3.ศุภาลัย 50,000 ล้านบาท
4.ออริจิ้น (บริทาเนีย+ออริจิ้น เวอร์ติเคิล)37,000 ล้านบาท
5.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 30,200 ล้านบาท
บริษัทที่เปิดโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.เอพี ไทยแลนด์ 42 โครงการ
2.ศุภาลัย 38 โครงการ
3.พฤกษา เรียลเอสเตท 27 โครงการ
4.แสนสิริ 26 โครงการ
5.ออริจิ้น (บริทาเนีย) 20 โครงการ
ส่วนบริษัทที่เปิดโครงการคอนโดมิเนียมมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.แสนสิริ 20 โครงการ
2.ออริจิ้น (ออริจิ้น เวอร์ติเคิล) 14 โครงการ
3.เสนาดีเวลลอปเม้นท์ 12 โครงการ
4.แอสเซทไวส์ 9 โครงการ
5.เอพี ไทยแลนด์ 6 โครงการ
สำหรับบริษัทที่ตั้งเป้ายอดขายสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.เอพี ไทยแลนด์ 57,000 ล้านบาท
2.แสนสิริ 52,000 ล้านบาท
3.ออิริจิ้น (บริทาเนีย+ออริจิ้น เวอร์ติเคิล) 49,000 ล้านบาท
4.ศุภาลัย 36,000 ล้านบาท
5.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 31,000 ล้านบาท
ขณะที่บริษัทที่ตั้งเป้ารับรู้รายได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1.เอพี ไทยแลนด์ 53,700 ล้านบาท
2.แสนสิริ 43,000 ล้านบาท
3.ศุภาลัย 36,000 ล้านบาท
4.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ 28,000 ล้านบาท
5.เอสซี แอสเสท 26,500 ล้านบาท
ข้อสังเกตจากการประกาศแผนลงทุนในปี 2567 พบว่า
-บริษัทส่วนใหญ่ยังคงโฟกัสไปที่ตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบ ขณะที่คอนโดมิเนียมก็เริ่มเห็นสัญญาณของการกลับมา จากการลงทุนของบริษัทรายใหญ่อย่างแสนสิริ ออริจิ้น เวอร์ติเคิล และ แอสเซทไวส์
-เกือบทุกบริษัทล้วนขยับเซ็กเมนต์ไปทำในตลาดกลาง-บน และตลาดบนมากขึ้น เพื่อหลีกหนีปัญหาการการของสินเชื่อไม่ผ่านของตลาดกลาง-ล่าง โดยเฉพาะในกลุ่มต่ำกว่า 3 ล้านบาท ที่มี Rejection Rate สูงถึง 50-60%
-คอนโด ใกล้สถานศึกษา หรือ แคมปัส คอนโด ได้รับความสนใจจากหลายบริษัทที่มีแผนจะเปิดโครงการในปีนี้ เช่นเดียวกับบ้านแฝดที่หลายบริษัทให้ความสนใจลงทุนเพิ่มเช่นกัน
-การออกแบบฟังก์ชั่นการใช้สอยที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ และรองรับกลุ่มผู้สูงวัย รวมทั้งความคุ้มค่า เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทให้ความสำคัญ
-การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน เป็นประเด็นที่แต่ละบริษัทให้ความสำคัญอย่างเข้มข้น และจริงจังมากขึ้น
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ประเมินตัวเลขการเปิดโครงการใหม่เอาไว้ที่ 103,019 หน่วย เพิ่มขึ้น 6.4% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยแบ่งเป็นบ้านจัดสรร 50,882 หน่วย และเป็นคอนโดมิเนียม 52,137 หน่วย มูลค่ารวม 609,992 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.1% แบ่งเป็นบ้านจัดสรร มูลค่ารวม 398,165 ล้านบาท และ อาคารชุด 211,827 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นปี 2566 ยังมีหน่วยเหลือขายในพื้นที่กทม.และปริมณฑลรวม 209,486 หน่วย เพิ่มขึ้น 13.7% เมื่อเทียบกับปี 2565 แบ่งเป็น บ้านจัดสรร 126,210 หน่วย เพิ่มขึ้น 8.7% คอนโดมิเนียม 83,276 หน่วย เพิ่มขึ้น 22.4% โดยมีมูลค่าของหน่วยเหลือขายรวม 1.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 27% แบ่งเป็น บ้านจัดสรร มูลค่าเหลือขายรวม 806,706 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.2% และคอนโดมิเนียม มูลค่าเหลือขาย 357,326 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.3% ขณะที่หน่วยขายได้ใหม่ในปี 2566 ลดลงถึง -22.5%
โครงการเปิดใหม่ 103,019 หน่วย + โครงการเหลือขาย 209,486 หน่วย ขณะที่สถานการเศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวได้ช้า จากรายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือนมกราคม 2567 ของธนาคารแห่งประเทศไทย สรุปว่า
-เศรษฐกิจไทยปรับดีขึ้นจากเดือนก่อนแต่โดยรวมการขยายตัวยังอยู่ในระดับต่ำ โดยการส่งออกสินค้าปรับดีขึ้นหลังจากที่หดตัวในเดือนก่อน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวน้อยลง แต่หลายอุตสาหกรรมยังถูกกดดันจากอุปสงค์โลกที่ฟื้นตัวช้า สินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง และปัจจัยเชิงโครงสร้าง ด้านการลงทุนภาคเอกชนทยอยปรับดีขึ้น และการบริโภคภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาคบริการยังขยายตัวได้ตามรายรับในภาคการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวจากรายจ่ายลงทุนและรายจ่ายประจำของรัฐบาลกลาง
การแข่งขันจากการเปิดตัวโครงการใหม่ๆ และการเร่งระบายสต๊อกเก่า ในปี 2567 จะยิ่งดุเดือดเข้มข้นแน่นอน