fbpx
หนี้ครัวเรือน scaled

รัฐเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ในระบบ ต่อลมหายใจลูกหนี้ 4 กลุ่ม

รัฐบาลหน้าหน้าแก้หนี้ในระบบ 4 กลุ่ม ทั้งพักหนี้ ยืดหนี้ รวมหนี้ ลดดอกเบี้ย เพื่อลดภาระให้ลูกหนี้ในระยะสั้น พร้อมวางมาตรการระยะยาว ยกระดับการให้บริการสินเชื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศนโยบายการจัดการหนี้ทั้งระบบ โดยระบุว่า ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาเรื้อรังที่อยู่กับสังคมไทยมายาวนาน ทั้งในส่วนของหนี้นอกระบบซึ่งรัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ตามที่ได้แถลงนโยบายที่ทำเนียบรัฐบาลไปแล้วเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน และอีกครั้งเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา วันนี้จะเป็นแนวทางการแก้หนี้ในระบบ ซึ่งก็มีปัญหาไม่แพ้กับหนี้นอกระบบ ทั้งหนี้สินล้นพ้นตัว จนส่งผลกระทบต่อการทำงาน บางรายเป็นหนี้เสียคงค้างเป็นเวลานานจนขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ ดังนั้นการดูแลลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหาจึงถือเป็นวาระแห่งชาติเช่นเดียวกัน

ภาพจาก facebook ไทยคู่ฟ้า

รัฐบาลนี้จะให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาหนี้ “ทั้งระบบ” ทั้งการจัดการกวาดล้างหนี้นอกระบบ และการดูแลลูกหนี้ในระบบให้ได้รับสินเชื่ออย่างเหมาะสมและเป็นธรรม

โดยแบ่งกลุ่มลูกหนี้ในระบบที่ประสบปัญหา ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19

กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพในการชำระคืนหนี้

กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน ทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง

กลุ่มที่ 4 คือ กลุ่มที่เป็นหนี้เสียคงค้างเป็นระยะเวลานาน

ทุกกลุ่มมีข้อสังเกตที่เหมือนกันคือ ลูกหนี้ไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้จนกลายเป็นหนี้เสีย เมื่อเป็นหนี้เสียก็ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยปรับเพิ่ม และวนกลับไปทำให้ชำระไม่ไหวอีก วงจรแบบนี้ส่งผลให้ติดเครดิตบูโร ไม่สามารถขอสินเชื่อในระบบต่อได้ หรือบางรายที่ค้างชำระเป็นเวลานาน ก็จะถูกดำเนินการตามกฎหมาย

แม้ว่าลูกหนี้ทุกกลุ่มจะมีสภาพปัญหาคล้ายกันแต่ต้นตอของปัญหานั้นต่างกัน ดังนั้นรัฐบาลจึงเตรียมแนวทางช่วยเหลือที่แตกต่างกันตามสาเหตุของปัญหา เพื่อให้สอดคล้องกับลักษณะของลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ดังนี้

สำหรับลูกหนี้ในกลุ่มที่ 1 คือ ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจาก Covid-19 กลุ่มนี้โดยปกติจะมีประวัติการชำระหนี้ดีมาโดยตลอด แต่สถานการณ์โควิดทำให้ธุรกิจต้องสะดุดหยุดลง ขาดสภาพคล่องจนไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ อีกส่วนหนึ่งบางรายเป็นหนี้ครั้งแรกในช่วงโควิด เพราะต้องการเงินทุนไปหมุนเวียน แต่สุดท้ายกลายเป็นหนี้เสียจนไม่สามารถประกอบธุรกิจต่อได้

กลุ่มนี้จะต้องได้รับการช่วยเหลือให้หลุดพ้นจากการเป็นหนี้เสียหรือได้รับการพักชำระหนี้เพื่อผ่อนปรนภาระเป็นการชั่วคราว

สำหรับลูกหนี้รายย่อย ซึ่งส่วนใหญ่มีหนี้เสียกับธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.รัฐบาลจึงกำหนดให้ธนาคารทั้ง 2 แห่งติดตามทวงถามหนี้ตามสมควร และให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้โดยการยกเลิกสถานะหนี้เสีย พักชำระหนี้ เพื่อให้ไม่เป็นหนี้เสียอีกต่อไป โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 1.1 ล้านราย

ส่วนลูกหนี้ SMEs สถาบันการเงินของรัฐจะเข้าไปช่วยเหลือผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และพักชำระหนี้ให้กับลูกหนี้ SMEs ที่อยู่กับแบงก์รัฐ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลเป็นระยะเวลา 1 ปี และลดดอกเบี้ยให้ 1% โดยคาดว่าจะช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs เหล่านี้ ได้ครอบคลุมมากกว่าร้อยละ 99 ของจำนวนลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียในกลุ่มนี้ นับเป็นจำนวนกว่า 100,000 ราย

สำหรับกลุ่มที่ 2 คือ ลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำแต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ โดยอาจจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และกลุ่มที่เป็นหนี้บัตรเครดิต

กลุ่มข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำรวจ ทหาร จะได้รับการช่วยเหลือผ่าน 3 แนวทางด้วยกัน

แนวทางแรก คือการลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ และสอดคล้องกับศักยภาพ

แนวทางที่สอง จะต้องโอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว เช่น ที่สหกรณ์ และให้ลดดอกเบี้ยในอัตราพิเศษ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้

แนวทางที่ 3 คือให้ทุกหน่วยงานบังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือนไปชำระหนี้ได้ไม่เกิน 70% เพื่อให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีศักดิ์ศรี ซึ่งทั้ง 3 แนวทางนี้จะต้องทำ “พร้อมกัน” ทั้งหมด

สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิตหากเป็นหนี้เสียสามารถเข้าร่วมโครงการคลิกนิคแก้หนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับเจ้าหนี้บัตรเครดิตรายใหญ่เกือบทั้งหมดช่วยปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ โดยนำเงินต้นคงค้างมาทำตารางผ่อนชำระใหม่ให้ยาวถึง 10 ปี และลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 3-5 ต่อปี และได้มีการปรับเงื่อนไขการเข้าร่วมให้ง่ายและยืดหยุ่นขึ้นเพื่อให้สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยผู้ที่มีหนี้ส่วนบุคคลที่ไม่มีหลักประกัน สามารถเข้าร่วมโครงการได้

สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 3 คือ กลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอนทำให้การชำระคืนหนี้ไม่ต่อเนื่อง เช่น เกษตรกร ลูกหนี้เช่าซื้อ และลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) กลุ่มนี้จะได้รับการช่วยเหลือ โดยการพักชำระหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือลดเงินผ่อนชำระในแต่ละงวดให้ต่ำลง เพื่อให้สอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ เช่น ลูกหนี้เกษตรกร ซึ่งมีรายได้ไม่แน่นอน เนื่องจากรายได้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและปริมาณผลผลิต เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้ รัฐบาลได้มีโครงการพักชำระหนี้ให้แก่เกษตรกรแล้ว โดยพักทั้งหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี ซึ่งโครงการนี้มีเกษตรกรเข้าร่วมการพักหนี้กว่า 1.5 ล้านราย เป็นต้น

สำหรับลูกหนี้กยศ.ซึ่งบางส่วนยังไม่มีงานทำ หรือมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะนำมาชำระหนี้กยศ.หลังจบการศึกษา กยศ.ได้ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ให้ เช่น ปรับแผนการผ่อนให้เข้ากับรายได้ของคนเพิ่งเริ่มทำงาน ลดดอกเบี้ย ลดเบี้ยปรับ ถอนการอายัดบัญชี รวมถึงการให้ผู้ค้ำประกันหลุดจากการค้ำประกัน เป็นต้น ซึ่งจะช่วยลูกหนี้กยศ.ได้มากกว่า 2.3 ล้านราย

สำหรับลูกหนี้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ สคบ.ได้ออกประกาศ เพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อ เช่น การเช้าซื้อรถใหม่ ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี รถจักรยานยนต์ ไม่เกินร้อยละ 23 ต่อปี ลดดอกเบี้ยผิดนัดให้ต่ำลง รวมถึงการให้ส่วนลดในกรณีที่ลูกหนี้ปิดบัญชีได้ก่อนกำหนด

สำหรับลูกหนี้กลุ่มที่ 4 กลุ่มนี้เป็นหนี้เสียคงค้างกับสถาบันการเงินของรัฐมาเป็นระยะเวลานาน กลุ่มนี้จะโอนไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เกิดจากการร่วมทุนระหว่างสถาบันการเงินของรัฐและบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งจะทำให้การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้เป็นไปอย่างคล่องตัวมากขึ้น คาดว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยเหลือลูกหนี้ในกลุ่มนี้ได้ประมาณ 3 ล้านราย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทั้งหมดที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ารัฐบาลได้กำหนดแนวทางช่วยเหลือลูกหนี้หลากหลายกลุ่มด้วยกัน ซึ่งมีทั้งมาตรการที่ ครม.ได้เห็นชอบไปแล้ว เช่น การพักหนี้เกษตร มาตรการที่สามารถดำเนินการขยายผลได้ทันที เช่น เรื่องหนี้ครู หนี้ข้าราชการ หนี้บัตรเครดิต หนี้เช่าซื้อรถยนต์ หรือมอเตอร์ไซค์ และเมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทยได้เริ่มเปิดรับลงทะเบียนหนี้นอกระบบ ซึ่งหวังว่าจะมีการติดตามเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยต่อไป

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุในระยะเร่งด่วน เพื่อต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ทุกกลุ่ม ในระยะยาวควรมีการแก้ปัญหาในระดับโครงสร้าง โดยยกระดับการให้บริการสินเชื่อให้เหมาะสมและเป็นธรรม ซึ่งกระทรวงการคลังได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำแนวทางเพื่อยกระดับการให้สินเชื่อและการค้ำประกันสินเชื่อ ให้สะท้อนความเสี่ยงของลูกหนี้ได้มากขึ้น เป็นธรรม มีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม และป้องกันปัญหาการก่อหนี้เกินศักยภาพ