fbpx
ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล

กทม.เตรียมเพิกถอนใบอนุญาตแอชตัน อโศก ให้เวลาหาทางออกก่อนยื่นขอใหม่

กทม.เตรียมแจ้งบริษัท อนันดา เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการแอชตัน อโศก ตามคำสั่งศาล พร้อมให้เวลาอนันดาหาทางเข้า-ออก มายื่นขออนุญาตใหม่ตามมาตรา 41 ของกฎมายควบคุมอาคาร ด้านอนันดาแจงแนวทางหาที่ดินเข้า-ออกโครงการ ยันในขั้นตอนขออนุญาตไม่มีเงื่อนไขกำกับ รวมทั้งแจ้งสถานะคดีให้ลูกบ้านรับทราบก่อนแล้วในช่วงที่การโอนล่าช้า ด้านลูกบ้านสวนกลับไม่เคยรับรู้ เรียกร้องบริษัทรับผิดชอบ จ่อยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 5,000 ล้าน

ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาโครงการแอชตัน อโศก หลังจากศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคารตามมาตรา 39 ของกฎหมายควบคุมอาคาร ว่า ณ เวลานั้นถ้ากทม.ไม่อนุญาตก็อาจจะมีความผิดเหมือนกัน เพราะทางโครงการก็มีเอกสารที่มีการรับรองจากรฟม. ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในเวลานั้น(ปี 2557) คงได้พิจารณารายละเอียดต่างๆ แล้วจึงได้อนุญาตแบบมีเงื่อนไขประกอบ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ากรณีดังกล่าวทำให้กทม.ต้องมาทบทวนกระบวนการทำงานและขั้นตอนการออกใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ที่รัดกุมและรอบคอบมากขึ้น เพื่อไม่ให้เกิดการฟ้องร้องและนำมาสู่การเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างภายหลังจากที่โครงการก่อสร้างเสร็จและมีผู้อยู่อาศัยเข้าพักแล้ว

นอกจากนี้ ยังได้สั่งการให้สำนักงานควบคุมอาคารตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลโครงการที่เข้าข่ายลักษณะเดียวกันนี้ว่าอีกมากน้อยแค่ไหน หรืออาจจะขอข้อมูลจากรฟม. เพราะเป็นผู้ออกใบอนุญาตโดยตรง ซึ่งกรณีนี้ถือเป็นบทเรียนให้กับกทม.ในการพิจารณาออกใบอนุญาตโครงการที่มีที่ดินใกล้สถานีรถไฟฟ้า ขณะเดียวกันในระดับนโยบายก็ต้องดูในเรื่องกฎหมาย เพราะตามหลักแล้วก็ควรให้มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยโดยรอบสถานีรถไฟฟ้าตามหลักของ Transit Oriented Development (TOD) เพื่อสนับสนุนให้คนใช้รถไฟฟ้าในการเดินทางไม่ต้องไปซื้อรถ ซึ่งต้องไปดูที่กฎหมายใหญ่ว่าจะมีการแก้ไขได้อย่างไร

ส่วนเจ้าของร่วมที่พักอาศัยโครงการแอชตัน อโศก ทางกทม.คงต้องดำเนินการทุกอย่างไปตามกฎหมาย โดยใช้กฎหมายในการแก้ปัญหา ถ้ายังสามารถแก้ไขได้ก็จะให้โอกาสแก้ไขก่อนตามมาตรา 41 ของกฎหมายควบคุมอาคาร โดยให้เวลาอย่างน้อย 30 วัน ซึ่งทางกทม.จะแจ้งให้บริษัทอนันดาได้รับทราบเพื่อให้ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ต้องหาทางเข้าออกให้มีความกว้างอย่างน้อย 12 เมตรมาประกอบการยื่นขออนุญาตตามมาตรา 39 ทวิใหม่

กทม.เตรียมเพิกถอนใบอนุญาต เปิดช่องให้ยื่นขอใหม่
ด้านรศ.ดร.วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า โดยสรุปกรุงเทพมหานครโดยสำนักการโยธาได้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบในเรื่องการออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก จะเห็นว่าได้มีการทักท้วง ตั้งแต่การขออนุญาตก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ รวมถึงในขั้นตอนของการออกใบรับรองการก่อสร้างอาคาร ดัดแปลงอาคาร หรือเคลื่อนย้ายอาคาร (อ.6) มีการออกใบรับรองโดยแจ้งเงื่อนไขกำกับอยู่

ในส่วนของคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ได้ยืนตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นที่พิพากษาให้เพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารตามมาตรา 39 ทวิที่ออกให้แก่บริษัทอนันดาทุกฉบับโดยให้มีผลย้อนหลังถึงวันที่ออกหนังสือดังกล่าว โดยมีการวินิจฉัยใน 2 ประเด็นสำคัญคือ

1.การที่รฟม.ยินยอมให้นำที่ดินที่ได้จากการเวนคืนเพื่อสร้างรถไฟฟ้าไปอนุญาตให้ใช้เป็นทางเข้าออกโครงการ Aston อโศกเป็นประโยชน์แห่งกิจการของบริษัทอนันดาเท่านั้นมิใช่เพื่อประโยชน์ของรฟม.และวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืนจึงไม่อาจกระทำได้

2.การอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรฟม. อยู่ภายใต้ข้อสงวนสิทธิ์ที่อาจถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้เสมอตามจำเป็น จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะดังกล่าวมีสภาพที่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกที่รถดับเพลิงสามารถเข้าออกได้โดยสะดวกตลอดตราบเท่าที่อาคารโครงการ แอชตัน อโศก ดำรงอยู่ตามข้อ 2 ของกฎกระทรวงฉบับที่…ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร

คำพิพากษาที่ศาลออกมาก็คือให้เพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารตามมาตรา 39 ทวิ ซึ่งในประเด็นข้อกฎหมายในเรื่องนี้บริษัท อนันดา ทราบดีอยู่แล้วว่ามีกรณีพิพาทในศาลปกครองเกี่ยวกับความชอบได้ด้วยกฎหมายของการนำที่ดินรฟม. ที่ได้จากการเวนคืนมาใช้เป็นทางผ่านได้หรือไม่และหากศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวมทั้งต้องดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารด้วย

ทั้งนี้ สำนักงานโยธาจึงต้องพิจารณาออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคารต่อไป โดยในขั้นต่อไปจะมีการสั่งเพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์จากก่อสร้างอาคารตามมาตรา 39 และออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินแก้ไขอาคารที่ถูกต้องตามกฎหมายควบคุมอาคาร ตามมาตราที่ 40 (3) ที่ให้กทม.สามารถออกคำสั่งตามมาตรา 41 และมาตรา 42 ได้

ในมาตรา 41 ของกฎหมายควบคุมอาคารระบุไว้ว่า ถ้าการกระทําตามมาตรา 40 เป็นกรณีทีสามารถแก้ไขเปลียนแปลงให้ถูกต้องได้ ให้เจ้าพนักงานท้องถินมีอํานาจสั่งให้เจ้าของอาคารยืนคําขออนุญาตหรือดําเนินการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ หรือดําเนินการแก้ไขเปลียนแปลงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาทีกําหนดแต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน และในกรณีทีมีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานท้องถินจะขยายเวลาดังกล่าวออกไปอีกก็ได้ ซึ่งในกรณีนี้กทม.เห็นว่าสามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ กทม.จะออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องและมายื่นขออนุญาตใหม่

ในกรณีที่ให้ทำตามมาตรา 41 แล้วเจ้าของอาคารไม่ทำตามก็จะบังคับใช้กฎหมายควบคุมอาคารในมาตรา 42 ที่ระบุว่า หากเจ้าของอาคาร มิได้ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานท้องถินตามมาตรา 41 ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอํานาจสั่งให้เจ้าของ หรือผู้ครอบครองอาคาร ผู้ควบคุมงาน หรือผู้ดําเนินการรื้อถอนอาคารนั้นทั้งหมด หรือบางส่วนได้ภายในระยะเวลาที่กําหนด

อนันดาแจ้งแนวทางหาทางออกแอชตัน อโศก
ด้านบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับ บริษัท มิตซุย ฟูโดซัง ได้ออกแถลงการณ์แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อแสวงหาทางออกสำหรับท่านเจ้าของร่วม และชี้แจงประเด็นอื่นๆ เพิ่มเติม ดังนี้

1.แนวทางแก้ไขกรณีใบอนุญาตก่อสร้าง บริษัทฯ กำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขซึ่งมีอยู่หลายแนวทางที่มีความเป็นไปได้ ดังต่อไปนี้

1.1ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อหรือหาที่ดินเพิ่มเติม

1.2เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านสำนักการโยธา กรุงเทพมหานครไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี

1.3เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านรฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม ไปยังคณะรัฐมนตรี

1.4ประสานเจ้าของเดิมให้ยื่นทบทวนสิทธิ์ที่ดินทางเข้า-ออกจากรฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิ์ทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้

1.5ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป

2.แนวทางช่วยเหลือ เรื่องการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่มีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน

ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา บริษัทได้เร่งประสานงานกับสถาบันการเงินหลายแห่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระสินเชื่อของท่านเจ้าของร่วมที่ยังมีภาระผูกพันกับสถาบันการเงิน โดยบริษัทได้เชิญสถาบันการเงินต่างๆ เข้าร่วมประชุม เพื่อหารือแนวทางบรรเทาความเดือดร้อนในการผ่อนชำระของท่านเจ้าของร่วม ดังนี้

2.1บริษัทฯขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางด้านการผ่อนชำระในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ

2.2บริษัทขอให้สถาบันการเงินพิจารณาแนวทางสำหรับมาตรการลดภาระในการผ่อนชำระอื่นๆ

ขณะนี้อยู่ระหว่างรอผลพิจารณาจากสถาบันการเงิน ซึ่งเมื่อได้รับความคืบหน้าประการใด บริษัทฯ จะแจ้งให้ท่านเจ้าของร่วมทราบโดยเร็ว

3.ประเด็นชี้แจงอื่นๆ เพิ่มเติม

3.1การออกใบอนุญาตเปิดใช้อาคารแบบมีเงื่อนไข

ประเด็นเรื่องข้อสงวนที่ กทม. กำหนดว่าบริษัทฯจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้อง หากผลการพิจารณาของศาลปกครองเป็นที่สุดว่าโครงการดำเนินการขัดต่อกฎหมายควบคุมอาคาร ข้อเท็จจริงดังกล่าวปรากฎอยู่เพียงในใบรับรองการก่อสร้าง (อ.6) ซึ่งเอกสารดังกล่าว กทม.ออกให้บริษัทหลังจากที่โครงการก่อสร้างแล้วเสร็จและได้มีการขายให้กับลูกค้าแล้ว นอกจากนี้ ในใบอนุญาตอื่นที่กทม.ออกให้แก่บริษัทก่อนหน้านี้ ไม่เคยมีข้อความทำนองนี้ปรากฎอยู่ในใบอนุญาตแต่อย่างใด และบริษัทมีความตั้งใจที่จะร่วมแก้ปัญหาไปพร้อมกับกทม.ต่อไป

3.2เงื่อนไขการโอนกรรมสิทธิ์ และรับทราบสถานะคดี

บริษัทได้แจ้งเรื่องของคดีที่อยู่ในศาลปกครอง นับแต่ที่ลูกค้าได้ทำการซื้อขายห้องชุด กับบริษัทฯ ตามลำดับดังนี้

-ในช่วงแรก ที่บริษัทไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาจะซื้อจะขาย บริษัทได้ขอขยายระยะเวลาโอนกรรมสิทธิ์ โดยแจ้งเรื่องคดีของโครงการให้ลูกค้าทราบ พร้อมทั้งเสนอแนวทาง 3 ข้อให้ลูกค้าพิจารณา คือ (1) การยกเลิกสัญญา และคืนเงิน (2) การย้ายโครงการตามที่บริษัท กำหนดไว้ (3) หากถือสัญญาไว้ต่อจนถึงครบกำหนดการขยายระยะเวลา (26 มีนาคม 2562) จะได้รับส่วนลด ณ วันโอน ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินที่ชำระมาแล้วทั้งหมด

สำหรับลูกค้าที่เลือกรับโอนกรรมสิทธิ์ บริษัทได้ส่งหนังสือขอบคุณ พร้อมทั้งแจ้งสถานะเกี่ยวกับคดีของโครงการให้รับทราบด้วย (จากลูกค้าจองทั้งหมด 766 ราย มีลูกค้ายกเลิกสัญญาทั้งหมด 244 ราย ย้ายโครงการ 4 ราย และ อยู่รอโอนกรรมสิทธิ์ 518 ราย หลังจากที่บริษัทได้มีการแจ้งให้ลูกค้าทราบทั้ง 3 แนวทาง)

-ในเวลาต่อมา บริษัทได้จัดส่งเอกสารแจ้งสถานะคดีของโครงการ ในหนังสือนัดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด ไปยังลูกค้าทุกราย ซึ่งได้รับการลงนามการตอบรับมาเป็นส่วนใหญ่

-สำหรับลูกค้าที่ซื้อและทำสัญญาจะซื้อจะขาย ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ได้รับทราบสถานะคดี ตามที่บริษัทฯ ได้แจ้งไว้ในบันทึกแนบท้ายสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด

ดังนั้น ลูกค้าของโครงการจึงรับทราบสถานะของคดีมาโดยตลอด โดยบริษัทใคร่ขอยืนยันว่า จะร่วมเคียงข้างเจ้าของร่วมทุกท่าน และกำลังเร่งดำเนินการแสวงหาทางออกอย่างสุดความสามารถ โดยจะแจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานต่างๆ ให้ท่านเจ้าของร่วมทราบโดยเร็ว

ลูกบ้านจ่อฟ้องอนันดาเรียกค่าเสียหาย 5 พันล.
ในวันเดียวกัน (3 ส.ค. 66) ลูกบ้านและนิติบุคคลอาคารชุดแอชตัน อโศก ได้ร่วมกันแถลงเรียกร้องให้ บริษัทอนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม แอชตัน อโศก สุขุมวิท แสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และยืนยันว่า ลูกบ้านไม่เคยรับทราบมาก่อนว่าโครงการมีคดีพิพาท คำแถลงการณ์ของบริษัทไม่เป็นความจริง

รวมทั้งเรียกร้องให้บริษัท อนันดา แสดงความรับผิดชอบในการดูแลลูกค้า ตามที่ได้ยื่นข้อเสนอไป เช่น ขอให้บริษัทชดใช้เยียวยาหากต้องรื้อถอนโครงการ การขอให้ลูกบ้านได้สิทธิ์ย้าย หรือเปลี่ยนไปอยู่โครงการอื่นๆ ของอนันดาแทนโครงการที่มีปัญหา การขอเงินคืนกรณีที่มีลูกบ้านไม่อยากอยู่กับโครงการอนันดาแล้ว รวมถึงขอให้บริษัทสร้างความมั่นใจให้ลูกบ้าน โดยขอให้บริษัทลงนามโดยผู้มีอำนาจ

นอกจากนี้ ทนายความนิติบุคคลอาคารชุด แอชตัน อโศก ยังระบุด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมหลักฐานและข้อมูลของลูกบ้านเพื่อฟ้องร้อง บริษัท อนันดา เรียกค่าเสียหายต่อศาลแพ่งกว่า 5,000 ล้านบาท รวมถึงเตรียมฟ้องคดีอาญา และ ศาลปกครอง ฐานทอดทิ้งลูกบ้านต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ลูกบ้านยังได้ยื่นหนังสือให้ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ขอให้ตั้งคณะกรรมการร่วม 3 ฝ่าย ทั้ง กทม.ลูกบ้าน และ บริษัท อนันดา เพื่อหาทางเจรจา และหาทางออกร่วมกัน โดยทางผู้ว่าฯ กทม.ระบุว่า จะนำเรื่องไปดูแลในส่วนที่เกี่ยวข้องให้