กางไทม์ไลน์ยกร่างผังเมืองรวมกทม.คาดจะประกาศบังคับใช้ต้นปี 2568 กทม.เร่งเดินสายรับฟังความเห็นประชาชน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนปรับปรุงร่างใหม่ พร้อมเปิดพื้นที่ปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน 9 โซนทั่วกทม.
สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร กำลังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาปรับปรุงร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 หลังจากผังเมืองรวมฉบับปัจจุบัน (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3)ใช้มานานกว่า 10 ปี โดยนายณรงค์ เรืองศรี รองปลัดกรุงเทพมหานคร ในฐานะประธานการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นและปรึกษาหารือกับประชาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ประกอบการรายสาขา องค์กรและสมาคมวิชาชีพ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครปรับปรุงครั้งที่ 4 กล่าวว่า ผังเมืองรวมกทม.ที่ใช้ในปัจจุบันประกาศใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2556 นับเป็นเวลา 10 ปีแล้ว พบว่า กทม.มีการเปลี่ยนแปลงไปมากในหลายด้าน ทั้งในเรื่องการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยการขยายตัวของเมืองที่เพิ่มขึ้น
การพัฒนาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ความไม่สอดคล้องของข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินระหว่างกรุงเทพฯและปริมณฑล วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปที่มีการพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การต้องเผชิญกับโรคอุบัติใหม่ เป็นต้น จึงมีความจำเป็นต้องทบทวนและปรับปรุงผังเมืองรวมให้สอดคล้องกับสภาพการที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมทั้งรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
สำหรับการประชุมรับฟังความเห็นในครั้งนี้เป็นการรับฟังความเห็นควบคู่กับการหารือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำไปจัดทำร่างผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับใหม่ต่อไป และหลังจากจัดทำร่างผังเมืองรวมกทม.เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ประชาชนทราบและจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้งซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้ในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2566
ด้านนางชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร กล่าวเพิ่มเติมว่า การประชุมรับฟังความเห็นเป็นขั้นตอนที่ 1 ในการร่างผังเมือง หลังจากนี้จะทำการรวบรวมความคิดเห็นนำไปประกอบการร่างผังเมืองรวมกทม. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 เสนอต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครที่มีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน หลังจากผ่านคณะกรรมการที่ปรึกษาฯแล้วจะมีการจัดประชุมใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกครั้งประมาณเดือนกันยายน-ตุลาคม เพื่อนำข้อคิดเห็นต่างๆ มาปรับในร่างผังเมืองรวมอีกครั้ง
ก่อนจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการที่ปรึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการผังเมืองรวมจังหวัดกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และดำเนินการปิดประกาศ 90 วันให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยื่นคำร้องโดยคาดว่าจะปิดประกาศ 90 วันได้ในช่วงเดือนเมษายนปี 2567 หลังจากปิดประกาศ 90 วันแล้ว จะพิจารณาคำร้องนำเสนอต่อคณะกรรมการผังเมืองจังหวัดเพื่อพิจารณาเป็นที่สิ้นสุด เพื่อนำเสนอต่อสภากรุงเทพมหานครออกเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร โดยคาดว่าจะบังคับใช้ผังเมืองรวมกทม. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 ได้ในช่วงต้นปี 2568 (จากเดิมคาดว่าจะประกาศใช้ได้ในปี 2567)
ในระหว่างการใช้ผังเมืองฉบับปัจจุบันได้มีการประเมินผลพบว่า เมืองมีการขยายตัวของเมืองขึ้นมากทั้งในโซนตะวันออกและโซนตะวันตก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นพื้นที่สีเขียวมีการรุกล้ำของพื้นที่อยู่อาศัยเข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรม ส่วนพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อยก็ถูกรุกล้ำโดยที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่ประเภทคอนโดมิเนียมหรืออาคารสูง บางพื้นที่ประชากรมีความหนาแน่นเกินมาตรฐานที่มีการกำหนดไว้ และที่สำคัญคือการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ที่จะต้องจัดทำผังรองรับ รวมถึงการพัฒนาโครงการขนส่งมวลชนระบบราง 12 เส้นทาง ซึ่งเร็วกว่าแผนที่ทางผังเมืองได้จัดทำไว้ค่อนข้างมาก การขยายตัวของโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ เช่น ศูนย์คมนาคมบางซื่อ รัฐสภาแห่งใหม่ รวมถึงโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชน เช่น โครงการ One Bangkok ไอคอนสยาม เป็นต้น
อีกทั้งความไม่สอดคล้องของข้อกำหนดของผังเมืองรวมกทม. กับผังเมืองรวมของจังหวัดปริมณฑลที่ยังมีความขัดแย้งกันในหลายๆจุด การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาโลกร้อน ปัญหาฝุ่น PM 2.5 จะทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่สีเขียวมากขึ้น มีพื้นที่ว่างมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่หนาแน่นจนเกินไป มีข้อกำหนดที่จะมาคุมในเรื่องของระยะถอยร่นทำให้อาคารไม่ใกล้ชิดติดกันจนเกินไป เพื่อให้เกิดช่องว่างในการระบายอากาศทำให้อากาศหมุนเวียน จะเป็นมาตรการหนึ่งที่จะต้องมาช่วยกันคิด และที่สำคัญก็คือมีประชาชนที่ต้องการให้มีการปรับปรุงผังเมืองรวม ขอปรับเปลี่ยนในเรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดิน ขอทบทวนแนวถนนต่างๆ ทั้งหมดเป็นเงื่อนไขที่เรานำมาใช้ในการปรับปรุงผังเมืองรวมกทมในครั้งนี้
ผศ.ดร.ณัฐพงศ์ พันธ์น้อย ที่ปรึกษาด้านการใช้ประโยชน์ที่ดิน โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร-ปรับปรุงครั้งที่ 4 กล่าวถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินในร่างผังเมืองรวมกทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ว่า มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินที่สำคัญๆ ใน 9 บริเวณด้วยกัน ประกอบด้วย
บริเวณที่ 1 กรุงรัตนโกสินทร์
มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากที่ดินประเภทอนุรักษ์เพื่อส่งเสริมเอกลักษณ์ศิลปวัฒนธรรมไทย (ศ.1 และ ศ.2) ของพื้นที่อนุรักษ์บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ ให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินตรงกับกิจกรรมที่เหมาะสมกับพื้นที่มากขึ้น ได้แก่ เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11) เป็นพื้นที่พาณิชยกรรม (พ.1 และ พ.2 ใหม่) และพื้นที่ที่เป็นสถาบันราชการ
การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินในบริเวณนี้จะทำให้มีความชัดเจนว่า พื้นที่ใดที่อนุญาตให้เป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ใดที่อนุญาตให้ประกอบพาณิชยกรรม โรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร เพื่อรองรับการท่องเที่ยว การค้า การบริการ
ขณะเดียวกัน จะมีการควบคุมเขตพื้นที่ซ้อนทับ (overlay_control) โดยการออกข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครที่ออกตามกฎหมายควบคุมอาคารใช้ในการควบคุมพื้นที่อนุรักษ์อีกชั้นหนึ่ง ทั้งเรื่องการกำหนดความสูงอาคารในแต่ละโซนของพื้นที่อนุรักษ์ คุมลักษณะของวัสดุ สี หน้าตาของอาคาร ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้นในการใช้ประโยชน์ที่ดิน และลงรายละเอียดมากขึ้นในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม
บริเวณที่ 2 รัชโยธิน
เป็นผลจากการพัฒนาระบบราง 3 เส้น ทั้งรถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ทำให้พื้นที่ขอบวงแหวนรัชดาภิเษก บริเวณลาดพร้าวไปจนถึงรัชโยธินมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยได้มากยิ่งขึ้น และเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมทางด้านเหนือที่สามารถแบ่งเบาการกระจุกตัวของแหล่งงานและพาณิชยกรรม ในพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานครออกไปทางด้านเหนือได้มากขึ้นด้วย จากเดิมที่เคยเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.5 และ ย.7) ในร่างผังเมืองฉบับนี้ได้ปรับการใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11 และ ย.13) ทำให้สามารถพัฒนาอาคารสำหรับการอยู่อาศัยได้มากยิ่งขึ้น
บริเวณที่ 3 ดอนเมือง-หลักสี่
เป็นพื้นที่จุดตัดของรถไฟฟ้าหลายสาย ประกอบด้วย รถไฟฟ้าสายสีแดง(บางซื่อ-รังสิต) สายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และยังโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ทำให้พื้นที่รอบสนามบินดอนเมืองโดยเฉพาะฝั่งตะวันตก เป็นพื้นที่ที่สามารถรองรับอุตสาหกรรมการจัดประชุม สัมมนา และแสดงสินค้า (MICE) ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม คอนเวนชั่น ฮอลล์รองรับการท่องเที่ยวและการจัดประชุม พื้นที่บริเวณนี้เดิมเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.3) จะปรับเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7) และพื้นที่พาณิชยกรรม (พ.5 ใหม่) เพื่อรองรับการลงทุนธุรกิจด้านการท่องเที่ยว การค้า และการบริการให้มากขึ้น
บริเวณที่ 4 ลาดพร้าว-รามอินทรา
เป็นอีกพื้นที่ที่มีรถไฟฟ้าตัดผ่านหลายเส้นทางทั้งสายสีเหลือง(ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีชมพู(แคราย-มีนบุรี) และสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) จากผังเดิมที่โครงการรถไฟฟ้ายังไม่มีความชัดเจน ทำให้พื้นที่ในส่วนนี้ยังเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย(ย.3 และ ย.4) เมื่อโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สายเป็นรูปธรรมจึงมีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 ย.7) รองรับโครงข่ายรถไฟฟ้าที่เกิดขึ้น
บริเวณที่ 5 ศรีนครินทร์
เป็นพื้นที่ที่มีทางรถไฟสายสีเขียว(อ่อนนุช-เคหะฯ) สายสีแดง Airport Link สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-ส าโรง) ตัดผ่านในพื้นที่ จึงได้ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินจากที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.4) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.7) เพื่อรองรับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่เกิดขึ้น
บริเวณที่ 6 มีนบุรี
ในมิติของการวางแผนพัฒนากรุงเทพมหานครพื้นที่มีนบุรีถือเป็น Node ของเมืองทางฝั่งตะวันออก เป็นพื้นที่การค้า การบริการของประชาชนที่อยู่ทางฝั่งตะวันออก เดิมเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง พื้นที่พาณิชยกรรม มีนบุรีจะกลายเป็นจุดตัดสำคัญ ของรถไฟฟ้าสายสีส้ม(ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี) และสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ทำให้มีการปรับพื้นที่บางพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย(ย.3) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 และ ย.10) รองรับการอยู่อาศัยที่หนาแน่นขึ้น นอกจากนี้ จะมีการขยายพื้นที่พาณิชยกรรม (พ.5 ใหม่) เพื่อให้มีนบุรีซึ่งเป็นจุดตัดของรถไฟฟ้า 2 สายกลายเป็นพื้นที่ที่จะเป็นแหล่งงานทางฝั่งตะวันออก ทั้งด้านการค้า การบริการ และอาคารสำนักงาน
บริเวณที่ 7 ทางน้ำหลากฝั่งตะวันออก
จากการที่พื้นที่ได้ถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) หรือพื้นที่สีเขียวลาย เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการผันน้ำจากทางด้านเหนือต่อลงมาทางฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯเพื่อให้ไหลลงทะเลที่จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นแผนการระบายน้ำที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2527 จนถึงปี 2560 ได้มีแนวคิดที่จะเปลี่ยนวิธีการผันน้ำ ในระดับนโยบาย เนื่องจากพบว่าพื้นที่ทางตอนเหนือในจังหวัดปทุมธานีจากพื้นที่เกษตรได้มีการพัฒนาเป็นพื้นที่อยู่อาศัยจำนวนมาก ส่วนทางด้านใต้ในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการมีสนามบินสุวรรณภูมิ
ดังนั้นการปล่อยให้น้ำไหลผ่านลงมาในพื้นที่รับน้ำที่กำหนดไว้ทางฝั่งตะวันออก ค่อนข้างที่จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ในบริเวณดังกล่าว และกระทบต่อเศรษฐกิจหากน้ำเกิดท่วมสนามบิน จึงมีแนวคิดใหม่ที่จะระบายน้ำผ่าน 3 เส้นทางหลัก ประกอบด้วยแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยา และคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต และมีแนวคิดทำเส้นทางระบายน้ำรองอีกหนึ่งเส้นทางเป็นคลองระบายน้ำตามแนววงแหวนรอบที่ 3
ดังนั้น จึงทำให้พื้นที่ที่เป็นทางน้ำหลากฝั่งตะวันออกไม่มีความจำเป็นที่จะรองรับน้ำเหมือนในอดีต จึงมีการปรับจากพื้นที่ประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) บางส่วน เป็นประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 ใหม่) ซึ่งสามารถพัฒนาสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันกรุงเทพฯก็จะมีโครงการขุดคลองระบายน้ำซึ่งจะเป็นการรวบรวมน้ำจากฝนที่ตกระบายสู่คลองที่ขุดขึ้น
บริเวณที่ 8 ตลิ่งชัน-ทวีวัฒนา
พื้นที่ในโซนดังกล่าวเดิมเป็นพื้นที่สวนเกษตร และตอนที่ผังเมืองฉบับปัจจุบันประกาศใช้ ยังไม่ได้มีการเปิดใช้รถไฟฟ้าไปในพื้นที่ ได้แก่ สายสีแดง(บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และสายน้ำเงิน(ท่าพระ-บางแค)ประกอบกับ เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่หลังจากรถไฟฟ้าเปิดให้บริการ รวมถึงพื้นที่ด้านบนที่ติดกับจังหวัดนนทบุรีมีการพัฒนาที่อยู่อาศัยมากขึ้น ทำให้พื้นที่บริเวณตลิ่งชัน-ทวีวัฒนามีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัย จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.2 เดิม) และที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม (ก.4 เดิม) เป็นประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.1, ย.3 และ ย.4) ที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.6 และ ย.8) และพาณิชยกรรม (พ.4 ใหม่)บริเวณรอบสถานีรองรับการเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมชานเมือง
บริเวณที่ 9 วงเวียนใหญ่-สุขสวัสดิ์
เป็นพื้นที่รองรับรถไฟฟ้าสายสีเขียว(สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า) และสายสีม่วงด้านใต้ (เตาปูน-ครุใน) โดยจะปรับเปลี่ยนจากพื้นที่ที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย (ย.4) เป็นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (ย.8) และที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก (ย.11 และ ย.13)
นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาในรูปแบบ TOD:Transit Oriented Development หรือการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสถานีอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นจึงได้มีการ สร้างเงื่อนไขโดยอนุญาตให้มีการพัฒนาตัวอาคารและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ได้มากขึ้น หากตั้งอยู่ได้มากขึ้น หากอยู่ในระยะ 500, 650 และ 800 เมตร โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน หรืออยู่ในระยะ 800 เมตร โดยรอบสถานีรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนร่วม หรืออยู่ในระยะ 250 เมตรโดยรอบท่าเรือสาธารณะริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา