fbpx
Album ภาพ 14

มัดรวมนโยบายด้านที่อยู่อาศัย คนอยากมีบ้านหวังพึ่งได้แค่ไหน

เข้าโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งปี 2566 แต่ละพรรคการเมืองพยายามหาเสียง ชูนโยบายในด้านต่างๆ เพื่อมัดใจประชาชนกันอย่างดุเด็ดเผ็ดร้อน ก่อนจะชี้ชะตาว่าใครจะเป็นผู้ชนะในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566

มาว่ากันที่นโนบายที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย ที่ดิน และการคมนาคมก็มีหลายพรรคที่นำเสนอเอาไว้ Property Mentor ได้รวบรวมเท่าที่จะสามารถตรวจสอบได้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลส่วนหนึ่งสำหรับการตัดสินใจเลือกเบอร์ที่ใช่ พรรคที่ชอบ

เริ่มที่พรรคเพื่อไทย ไม่มีนโยบายสนับสนุนด้านที่อยู่อาศัยโดยตรง ทั้งๆ ที่มีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นอดีตดีเวลลอปเปอร์ใหญ่ที่เข้าใจลึกซึ้งในเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่ก็มีนโยบายในเรื่องของการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินให้กับประชาชน 50 ล้านไร่ ที่ดินที่ออกโฉนดจะถูกแบ่งใช้เป็นพื้นที่สีเขียว เพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน นำสู่สภาวะเป็นกลางทางคาร์บอน และสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต

ส่วนอีกนโยบายที่รอวันพิสูจน์ว่าจะสามารถทำได้จริงๆ หรือไม่ถ้าได้เป็นรัฐบาล หลังจากที่เคยทำไม่สำเร็จมาแล้วในรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ ก็คือ รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยจะเร่งเจรจากับภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้ลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าโดยมีเป้าหมายคือ ค่าโคยสารรถไฟฟ้าในกรุงเทพคือ 20 บาทตลอดสาย

มาที่พรรคก้าวไกลขวัญใจคนรุ่นใหม่ มีนโยบายแก้ปัญหาการขาดที่ดินทำกินโดยการจัดตั้งกองทุนตรวจสอบข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินและออกเอกสารรับรองสิทธิในที่ดิน 10,000 ล้านบาท เพื่อพิสูจน์สิทธิ์ และออกเอกสารสิทธิ์ให้ครบถ้วนทั้งหมดภายใน 5 ปี

ส่วนด้านที่อยู่อาศัยพรรคก้าวไกลได้นำเสนอนโยบาย บ้านตั้งตัว 350,000 หลัง โดยรัฐบาลจะช่วยค่าผ่อนบ้าน สำหรับผู้ซื้อบ้าน-ที่พักอาศัยใหม่เป็นหลังแรกราคาต่ำกว่า 1.5 ล้านบาท จำนวน 100,000 ราย ในอัตรา 2,500 บาท/เดือน เป็นระยะเวลา 30 ปี และช่วยค่าเช่าบ้าน-ห้องพัก สำหรับผู้เช่าบ้าน-หอพักจำนวน 250,000 ราย ในอัตรา 1,000 บาท/เดือน สำหรับบ้านเช่า-ห้องเช่าที่มีราคาไม่เกิน 4,000 บาท/เดือน

นอกจากนี้ยังมีนโยบายพัฒนาระบบค่าโดยสารร่วม กำหนดราคาค่าโดยสารเที่ยวละ 8-25 บาท ตลอดสาย สำหรับรถเมล์ และเที่ยวละ 8-45 บาท ตลอดสาย สำหรับรถเมล์และรถไฟฟ้าใช้งบประมาณในการจ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้ผู้ให้บริการรถเมล์/รถไฟฟ้าประมาณปีละ 7,170 ล้านบาท

สำหรับพรรคพลังประชารัฐในฐานะแกนนำรัฐบาลปัจจุบัน นำเสนอโครงการบ้านล้านหลังประชารัฐซึ่งเป็นนโยบายที่ทำมาตลอด 4 ปีของการเป็นรัฐบบาลโดยการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 3% ระยะเวลา 5 ปี แรก ให้กับประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 2.5 หมื่นบาท/เดือนสำหรับซื้อหรือสร้างที่อยู่อาศัยทั้งบ้านใหม่ บ้านมือสอง และทรัพย์ NPA ราคาไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ปัจจุบันรัฐบาลโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์กำลังดำเนินการโครงการบ้านล้านหลังในเฟสที่ 3 วงเงินกู้ 20,000 ล้านบาท หลังจากปล่อยกู้ในเฟสที่ 1 และ 2 ไปแล้วกว่า 6 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ พรรคพลังประชารัฐยังมีโครงการบ้านสุขใจวัยเกษียณให้กับผู้สูงอายุวัยเกษียณ การสร้างเมืองเมืองอัจฉริยะสีเขียว การนำโมเดลเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี มาต่อยอดสู่ภูมิภาคอื่น ๆ เช่น อีสาน 4.0 ล้านนา 4.0 และด้ามขวาน 4.0 โครงการการสร้างเมืองน่าอยู่ ใกล้บ้าน มีงานทำ ด้วยแนวคิด 15 เมืองหลัก 15 เมืองรอง เกิดการลงทุนครั้งใหญ่ โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การสร้างที่อยู่อาศัย พัฒนาย่านธุรกิจ รวมถึงการสร้างเมืองอัจฉริยะสีเขียว การจัดสิทธิที่ดินทำกิน เมื่อมีบ้านแล้วก็ต้องมีที่ดินทำกินให้กับเกษตรกร

พรรครวมไทยสร้างชาติ มีนโยบายพัฒนาที่อยู่อาศัยที่สานต่อมาจากรัฐบาลชุดปัจจุบันที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตของพรรค เป็นนายกฯ โดยนำโครงการ บ้านสุขประชา มีบ้านมีงานทำมาผลักดันต่อ มีเป้าหมายสร้างบ้านพร้อมอาชีพ 1 แสนหลังภายใน 5 ปี พร้อมกับนโยบายสนับสนุนสินเชื่อบ้านล้านหลังสำหรับผู้มีรายได้น้อย เฟสที่ 3 โครงการบ้านมั่นคงริมคลองเปรมประชากร โครงการฟื้นฟูแฟลตดินแดง เฟส 2 การเดินหน้าพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC และ ระเบียงเศรษฐกิจใหม่ 4 ภาค และการแก้กฎหมายให้ได้ที่ทำกินโดยไม่โดนไล่ที่ไม่ถูกฟ้อง

พรรคประชาธิปัตย์ เน้นไปที่นโยบายปลดล็อกกองทุนสํารองเลี้ยงชีพและกองทุนสํารองเลี้ยงชีพให้ซื้อบ้านได้ เป็นการเพิ่มโอกาสในการมีบ้านเป็นของตนเอง ให้แก่ข้าราชการ พนักงานของรัฐ และเอกชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่อยู่ในวัยเริ่มทํางานและมีรายได้น้อย โดยการเพิ่มสิทธิให้แก่สมาชิก กบข. และกองทุนสํารองเลี้ยงชีพ ในการขอรับเงินจากกองทุนที่ตนเป็นสมาชิกไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนอื่นรายบุคคล เพื่อนําไปจัดหาที่อยู่อาศัย หรือชําระหนี้บ้านที่ได้มีการกู้เงินจากสถาบันการเงินไปก่อนหน้านี้

ทั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์จะผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายจํานวน 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติ กองทุนบําเหน็จบํานาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และ พระราชบัญญัติ กองทุนสํารองเลี้ยงชีพ พ.ศ. 2530 ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 กองทุน มีสมาชิก รวมประมาณ 4 ล้านคน และมีมูลค่าสินทรัพย์รวม ประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลง ภายใน 4 ปี เพื่อสร้างหลักประกันในการประกอบอาชีพและอยู่อาศัย โดยออกกรรมสิทธิ์ทํากินให้แก่ประชาชนที่ทํากินในที่ดินของรัฐให้ถูกต้องตาม กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

พรรคภฺูมิใจไทย เน้นไปที่การนำนโยบายด้านการท่องเที่ยวที่สามารถต่อยอดไปสู่การพัฒนาเมืองในภูมิภาค และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามถนัด เช่น การสร้างเศรษฐกิจ ด้วยงานเทศกาล ปั้นเมือง สร้างงาน วางรากฐาน “ท้องถิ่นเข้มแข็ง” โดยการดึงงานระดับโลกมาจัดที่ประเทศไทย

นโยบาย Wellness Resort of the World รักษาเมืองหลัก พักฟื้นเมืองรอง ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายแห่งการ “รักษา” “พักผ่อน” และ “ฟื้นฟู” ร่างกายและจิตใจ ของประชากรโลก โดยจะมีการพัฒนาเมืองรอง เพื่อรองรับการพักฟื้น

นอกจากนี้ยังมีนโยบาย สร้าง Landbridge อ่าวไทย-อันดามัน ยกระดับการคมนาคมของประเทศไทย ผลักดันรถเมล์ไฟฟ้าลด Pm 2.5 โดยมีค่าโดยสารเริ่มต้น 10 บาทสูงสุด 40 บาท ทุกเที่ยว ทุกสาย ตลอดวัน โดยมีแผนที่จะดำเนินการไม่เกิน 3 ปีในการเปลี่ยนรถขนส่งสาธารณะทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถเก่าๆ หรือรถร้อน มาเป็นรถไฟฟ้า

พรรคชาติพัฒนากล้า เน้นนโยบายการแก้ปัญหาด้านสินเชื่อโดยการยกเลิกแบล็คลิสต์รื้อระบบสินเชื่อเพิ่มโอกาสการกู้เงิน ซึ่งรวมไปถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัย รวมถึงการสนับสนุนเงินปรับปรุงบ้านผู้สูงอายุ 5 หมื่นบาทต่อหลัง 1 ล้านครัวเรือนภายใน 4 ปี (จากปัจจุบันหลังละไม่เกิน 40,000 บาท โดยกรมกิจการผู้สูงอายุ และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) เพื่อลดความเสี่ยงคนสูงอายุล้มในบ้านจากสถิติปีละ 2 ล้านคน เป็นการสร้างความปลอดภัยที่ควรเริ่มที่บ้าน และช่วยค่าใช้จ่ายลูกหลานในการดูแล

รวมถึงนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยการสร้างมอร์เตอร์เวย์ 2,500 กิโลเมตร ทั่วไทย ได้แก่ Motorway สาย M61 ชลบุรี-นครราชสีมา 288 กิโลเมตร 70,000 ล้านบาท Motorway สาย M6 นครราชสีมา-หนองคาย 350 กิโลเมตร 70,000 ล้านบาท Motorway สาย M8 นครปฐม-ชะอำ-สุไหงโกลก 1,100 กิโลเมตร 250,000 ล้านบาท Motorway สาย M5 บางปะอิน-เชียงราย 680 กิโลเมตร 200,000 ล้านบาท

สุดท้ายพรรคไทยสร้างไทย มีนโยบายเกี่ยวกับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร โดยให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนที่ดิน สปก.ในกรณีชราภาพและไม่มีความประสงค์จะทำการเกษตรต่อไป โดย สปก.จะพิจารณารับซื้อที่ดินในราคาที่เป็นธรรม เพื่อนำมาจัดสรรให้เกษตรกรรายอื่นต่อไป และนโยบายนำที่ดิน คทช. ที่ดิน ภบท.5 ของกรมป่าไม้
ให้โอนอำนาจจัดการในที่ดินประเภทดังกล่าวมาให้ สปก. เพื่อดำเนินการจัดสรรให้เกษตรกรทำกิน และเป็นที่อยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

เท่าที่ดูแล้ว แต่ละพรรคต่างนำเสนอนโยบายที่ค่อนข้างฉาบฉวย บางนโยบายยังไม่มั่นใจว่าจะทำได้ตามที่หาเสียงไว้หรือไม่ แต่ยังไม่มีใครนำเสนอนโยบายสนับสนุนการมีบ้านหลังแรกเป็นของตัวเองอย่างยั่งยืน ทั้งๆ ที่เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นปัจจัยสี่ และเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสังคมที่เข้มแข็ง ขณะที่รัฐก็เครื่องมือพร้อมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเคหะแห่งชาติ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน คณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เป็นต้น ก็อยากให้รัฐบาลใหม่ ส.ส.ใหม่ หยิบจับ ผลักดันเรื่องนี้กันอย่างจริงจังเสียที