กดปุ่มเปิดงานกันเป็นที่เรียบร้อยสำหรับงานสถาปนิก’66 งานแสดงเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้แนวคิดเก๋ไก๋ ตำถาด:Time of Togetherness เป็นการรวมเอาสถาปัตย์ 4 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ สถาปนิก มัณฑนากร ภูมิสถาปัตย์ และสถาปนิกผังเมือง + กับอีก 1 สภาสถาปนิก มาร่วมปล่อยของในงานเดียวกันเป็นครั้งแรก พร้อมทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างชาติกว่า 800 บริษัท ที่นำผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมด้านการก่อสร้าง มาร่วมแสดงในงานครั้งนี้
ปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ ประธานจัดงานจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า การจัดงานครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 35 วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรม สร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทวิชาชีพสถาปนิกที่มีต่อสังคม ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมมากมาย โดยความพิเศษของงานสถาปนิก’66 คือมีการรวมตัวกันของ 5 องค์กรวิชาชีพ ซึ่งพื้นที่จัดงานในแต่ละสมาคมและสภาจะมีไฮไลท์ที่น่าสนใจแตกต่างกันออกไป
สำหรับไฮไลท์ของสมาคมสถาปนิกฯคือ Human Library หรือห้องสมุดมนุษย์ ที่เราจะได้รับรู้เรื่องราวในหนังสือผ่านการฟังและพูดคุยกับนักเขียนตัวจริง พบกับเหล่าหนังสือมนุษย์หลากหลายหมวดหมู่ที่จะมาถ่ายทอดเรื่องราวจากชีวิตจริง ประสบการณ์จริง อาทิ อมตะ หลูไพบูลย์, บูม ธริศร, จูน เซคิโน, ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม ‘All Member : Design Showcase’ เป็นการนำผลงานการออกแบบของเหล่าสถาปนิกและนักออกแบบของทั้ง 4 สมาคมวิชาชีพทางด้านสถาปัตยกรรม ประกอบด้วย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย และสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย มาร่วมแสดงในงานนี้ด้วย
ขณะที่ ธีรานุช กรรณสูต วงศ์ไวศยวรรณ ประธานร่วมจากสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย(TIDA) กล่าวว่า กิจกรรมไฮไลท์ของสมาคมมัณฑนากรฯก็คือ การจัดแสดง ‘TIDA Salone’ หรือ Design Showcase ระหว่าง ดีไซเนอร์กับซัพพลายเออร์วัสดุหนึ่งชนิด และผู้รับเหมาอีกหนึ่งราย ทำห้องต่างๆ ขึ้นมาให้ได้เดินชมกัน รวมทั้งการมอบรางวัล TIDA Thesis Awards จากการประกวดผลงานธีสิสของนิสิตนักศึกษา และ TIDA Awards สำหรับมืออาชีพ
นอกจากนี้ TIDA ยังได้เตรียมกิจกรรม TIDA Talk ให้ผู้ที่สนใจได้ฟังเรื่องราวเกี่ยวกับผลงานการออกแบบภายในเรื่องมุมมองหรือวิธีดำเนินการที่น่าสนใจ ในโซน TIDA SOCIETY
ด้าน มังกร ชัยเจริญไมตรี ประธานร่วมจาก สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย (TALA) กล่าวว่า ในงานสถาปนิก’66 จะมีการโชว์เคสที่สำคัญทางด้านวิชาชีพสถาปัตยกรรมของเมืองไทยและภูมิภาค ซึ่งจะทำให้เห็นภาพและเข้าใจงานภูมิสถาปนิกมากยิ่งขึ้น โดยนำเสนอผ่านพื้นที่ “TALA CLASSROOM” ให้ทุกคนได้เข้ามานั่งคุย นั่งเล่น นั่งฟัง ในรูปแบบอารีน่าที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับภูมิสถาปนิก ในบรรยากาศที่ผ่อนคลาย เป็นกันเองเหมือนเพื่อนๆ มานั่งแชร์ข้อมูลกัน
ส่วนผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ประธานร่วมจากสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย (TUDA) กล่าวว่า “พื้นที่การจัดแสดงของ TUDA จะแบ่งเป็น โซน TUDA ZEB (แซบ) เป็นการจัดแสดงผลงานวิทยานิพนธ์และผลงานออกแบบและการศึกษาวิจัยจากสถาบันการศึกษา โซน TUDA X Muang (เมือง) เป็นการจัดแสดงผลงานการประกวดแบบเมืองพัทยาและเมืองอื่นๆ ที่ TUDA ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมการพัฒนาเมือง โซน TUDA X Mhu (หมู่) หรือ TUDA and Friends เป็นการจัดแสดงงานของหน่วยงาน บริษัทที่มีผลงานโดดเด่น ด้านการออกแบบและพัฒนาเมือง โซน TUDA Khak(คัก) โชว์เคส โชว์คัก ผลงานการออกแบบเมือง ที่เป็นผลงานของสมาชิก TUDA และ โซน TUDA Muan (ม่วน) พื้นที่ให้สมาชิกได้พัก นั่งพูดคุย และจัดเสวนากัน
สุดท้าย กรกช คุณาลังการ ประธานร่วมจากสภาสถาปนิก กล่าวว่า กิจกรรมที่สภาสถาปนิกเตรียมไว้คือ ASA ACT Forum’23 โดยจุดประสงค์ให้สถาปนิกทุกสาขาและประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงวิชาชีพมากขึ้นทั้ง 4 สาขา ดังนั้นในภาพใหญ่ก็อยากให้สังคมหรือประชาชนทั่วไปเข้าใจกระบวนการทำงานทั้งสถาปัตยกรรมหลัก, สถาปัตยกรรมผังเมือง, ภูมิสถาปัตยกรรม, สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ในการทำงานร่วมกันในลักษณะการ “Collaboration” ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีคิดเรื่องหัวข้อที่จะใช้พูดคุยในงานสัมมนา โดยภายในงานจะได้พบกับวิทยากรจากประเทศไทยและประเทศต่างๆ อีก 3 ประเทศ ตั้งแต่วันที่ 25-30 เมษายนนี้
ด้านศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะออแกไนเซอร์จัดงานสถาปนิก’66 เปิดเผยว่า งานสถาปนิก’66 จัดบนพื้นที่ 75,000 ตารางเมตร โดยมีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการด้านการออกแบบและก่อสร้างจากภายในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 800 บริษัท ที่สำคัญคือได้รับความสนใจจากต่างชาติเข้าร่วมแสดงสินค้ามากขึ้น 7 เท่า หรือหรือมีสัดส่วนชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น 21.33% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีทั้งผู้ประกอบการจากออสเตรเลีย จีน ฟินแลนด์ ฮ่องกง อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา
นอกจากนี้ ทางด้านผู้จัดแสดงสินค้าในประเทศไทยก็ได้เตรียมเปิดตัวนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ภายในงานด้วยเช่นกัน อาทิแบรนด์ SCG, TOA, VG, MAKITA, JORAKAY, TOSTEM, GREENLAM, DOS, ADVANCED MATERIAL และอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงกิจกรรมไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดตลอดทั้ง 6 วัน ไม่ว่าจะเป็น
•Thematic Pavilion – พื้นที่จัดแสดงรูปแบบพิเศษที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักออกแบบและซัพพลายเออร์วัสดุก่อสร้าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของผลิตภัณฑ์ที่สามารถทำได้มากกว่าที่คิด โดยปีนี้มีทั้งหมด 4 พื้นที่ ที่จะยกระดับการจัดงานในมิติของการสร้างสรรค์และงานดีไซน์ให้ทัดเทียมกับงานในต่างประเทศ ได้แก่
VG และ TOA ทำงานร่วมกับนักออกแบบจาก Hypothesis
เป็นการร่วมกันระหว่าง VG เจ้าของรางน้ำฝนและหลังคาไวนิลคุณภาพสูง และผู้นำด้านนวัตกรรมสีทาบ้านภายใต้แบรนด์ TOA จับมือ สถาปนิกจาก Hypothesis เนรมิตพื้นที่ให้มีความสมมาตร ตรงกลางมีการติดตั้งพีระมิดกระจกรูปแบบน้ำผุด โดยสามารถเดินเข้ามาได้จากทุกทิศทาง สามารถมองความต่างของวัสดุที่แขวนติดตั้งจากแต่ละแบรนด์อย่างชัดเจน และดูกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกันเมื่อมองจากภายนอก ซึ่งถือเป็นการออกแบบที่โดดเด่นและลงตัวเป็นอย่างมาก
WOODDEN ทำงานร่วมกับ PAVA architects
หยิบอัตลักษณ์อย่างไม้ เปลี่ยนมุมมองใหม่ให้เข้าถึงได้ โดยเฉพาะ ‘ไม้สัก’ ซึ่งเป็นวัสดุที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้สัมผัส บอกเล่าเรื่องราวด้วยการสร้างสรรค์ผ่านมุมมองสถาปนิกให้ได้สัมผัสกันอย่างใกล้ชิด ในรูปแบบ enclosed space ที่จะช่วยให้ผู้เข้าชมสัมผัสความสงบจากป่าไม้สักคอนทราสต์กับบรรยากาศภายนอกทันทีที่ก้าวเข้ามา อีกทั้ง ยังสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของไม้สักตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ บอกได้เลยว่าผู้ที่หลงใหลวัสดุที่ทำจาก “ไม้” ต้องไม่พลาด
EMPOWER STEEL ทำงานร่วมกับ ACa Architects
ผลงานการถอดรหัสเหล็กที่แข็งแรงสู่โมเลกุลในยูนิตที่เล็กลงทรงเรขาคณิต สื่อถึงความเป็นธาตุโลหะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติที่มีความพลิ้วไหว สร้างจินตนาการใหม่ๆ โดยใช้เหล็กจาก EMPOWER STEEL ที่มีนวัตกรรมทำสีและพิมพ์ลวดลายมาตัดเป็นชิ้นนับหมื่นแผ่น บากร่องเพื่อต่อขึ้นเป็นโครงสร้าง (Modular Structure) โชว์พื้นผิว สี ฉีกกฎเหล็กจากอุตสาหกรรมทั่วไป สู่งานดีไซน์ที่หลากหลายตามจินตนาการ
THAIKOON STEEL และ THAI PREMIUM PIPE ทำงานร่วมกับ Context Studio
ฉีกกฎเดิมๆ ของงานเหล็ก สู่การสร้างสรรค์ให้พลิ้วไหวจาก Context Studio โดยการนำวัสดุอย่างท่อและโซ่มาออกแบบได้อย่างกลมกลืนและน่าสนใจ สร้างรูปลักษณ์ใหม่ในพื้นที่จำกัด ด้วยวิธีการปรับองศาการติดตั้งท่อเหล็ก เปลี่ยนเส้นตรงให้อยู่ในรูปทรงเกลียว (spiral) สอดประสานกันเพื่อให้ความรู้สึกที่พลิ้วไหวแต่ยังได้ฟังก์ชันที่สอดรับกันเพื่อสร้างความแข็งแรง และโครงสร้างทุกชิ้นสามารถนำกลับไปใช้ใหม่ได้ แบบนี้บอกได้เลยว่าเป็นการออกแบบที่คิดถึงการใช้งานและสิ่งแวดล้อมด้วย
•BIMobject Live Thailand 2023 – งานสัมมนาอัพเดตเทรนด์ด้าน Digital Construction ที่จะนำวงการก่อสร้างมุ่งสู่ Net Zero ด้วยเครื่องมือสุดล้ำจาก BIM และ AI พร้อมร่วมเจาะลึกกระบวนการออกเเบบและก่อสร้าง “สินธร วิลเลจ” โครงการต้นแบบ Mixed Use ของประเทศไทยที่มีสถาปัตยกรรมล้ำสมัย ดำเนินโครงการภายใต้หลักเศรษฐกิจ สังคมเเละสิ่งเเวดล้อม จาก A49, Thai Obayashi และ Siam Sindhorn ในวันศุกร์ที่ 28 เมษายน เวลา 13.00-17.15 น. บริเวณเวทีกลาง INNO-CORNER
•กิจกรรมร่วมแลกเปลี่ยนไอเดียกับนักออกแบบ อาทิ ARCH TALK จาก SCG, EXCLUSIVE TALK จากแบรนด์ JORAKAY, DOS, WILSONART เป็นต้น
ซึ่งทั้งหมดนี้คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายในงานสถาปนิก’66 โดยคาดว่าจะมียอดผู้เข้าชมงานในปีนี้มากถึง 300,000 คน และคาดว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดหลังจากจบงานกว่าสองหมื่นสองพันล้านบาท” คุณศุภแมน กล่าว
สำหรับงานสถาปนิก’66 จะจัดขึ้นในวันที่ 25-30 เมษายน 2566 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี สำหรับผู้เข้าชมงานสามารถใช้บริการรถตู้รับ-ส่งฟรี ได้ที่บริเวณลานจอดรถสถานีรถไฟฟ้า (BTS) หมอชิต ทางออก 2 หรือ สถานีรถไฟฟ้า (BTS) วัดพระศรีมหาธาตุ ทางออก 4 โดยสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวและข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง www.ArchitectExpo.com และ Facebook page : ASA Expo