fbpx
ผังเมืองแบบพิกเซล

คิกออฟรื้อร่างผังเมืองกทม. เล็งเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินรถไฟฟ้าสีส้ม-ม่วงใต้

คิกคอฟรื้อร่างผังเมืองกทม. เพิ่มผังใหม่ ปรับการใช้ประโยขน์ที่ดินแนวรถไฟฟ้าสีส้ม-ม่วงใต้ จับมือจังหวัดปริมณฑลวางผังระบายน้ำท่วม พร้อมผลักดัน ลาดกระบัง-บางขุนเทียน เป็น Sub Center เร่งให้เสร็จภายใน 1 ปี พร้อมประกาศใช้ปี 67

ร่างผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 กลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งในการปรับของเดิม เพิ่มเติมของใหม่กันอีกครั้ง เนื่องด้วยพ.ร.บ.การผังเมืองฉบับใหม่ที่ได้ประกาศใช้ในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 กำหนดให้ผังเมืองรวมจะต้องมีแผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนผังแสดงผังน้ำ และแผนผังอื่นๆ ที่จำเป็น

คณะกรรมการผังเมืองจึงได้มีมติเมื่อเดือนมกราคม 2564 ให้ผังเมืองรวมที่กรมโยธาธิการและผังเมืองหรือท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำถ้ายังไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผังเมืองให้ดำเนินการไปตามพ.ร.บ.การผังเมืองฉบับใหม่

ดังนั้นร่างผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 จึงต้องย้อนกลับไป ณ จุดเริ่มต้น โดยจะต้องไปเพิ่มเติม แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนผังแสดงผังน้ำ รวมถึงแผนผังอื่นๆ ที่จำเป็นเข้าไป ขณะเดียวกัน เมื่อมีคณะผู้บริหารกทม.ชุดใหม่นำโดยนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ก็มีแนวนโยบายเกี่ยวกับการจัดทำผังเมืองรวมกทม.เพิ่มเติม

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูลผังเมืองให้เป็น Open Data การมี FAR Bonus ที่สอดคล้องกับนโยบายของเมือง การทำผังเมืองเฉพาะในเขตลาดกระบัง และบางขุนเทียน ให้เป็นไปตามนโยบายของกทม. โดยใช้การจัดรูปที่ดินมาเป็นเครื่องมือสำคัญ เป็นต้น ซึ่งจะมีการนำมาพิจารณาในการปรับผังครั้งนี้ไปพร้อมๆ กัน

ในช่วงเกือบๆ 2 ปีนับตั้งแต่บอร์ดผังเมืองมีมติให้กทม.กลับไปทำผังใหม่ให้เป็นไปตามพ.ร.บ.ผังเมือง พ.ศ. 2562 เป็นช่วงที่เจอกับการระบาดของโควิดพอดี และต้องปรับในเรื่องของการจัดจ้างกันใหม่ พร้อมๆ กับการเปลี่ยนแปลงของคณะผู้บริหารกทม. ทำให้เพิ่งจะได้เริ่มต้นนับหนึ่งทบทวนร่างผังเมืองกทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 โดยสำนักวางผังและพัฒนาเมืองได้ตั้งเป้าหมายว่าจะพยายามเร่งให้จบภายใน 1 ปี

เพิ่มผังใหม่-ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินแนวรถไฟฟ้า
สำหรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงร่างผังเมืองกทม.ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 นอกจาก 2 ผังใหม่คือ แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนผังแสดงผังน้ำ ที่จะต้องใส่ไปในร่างผังเมืองรวมกทม.ตามกติกาใหม่ของพ.ร.บ.การผังเมืองแล้ว ได้มีการพูดคุยกันในคณะทำงานปรับปรุงร่างผังเมืองว่า อะไรที่มีความจำเป็นเพิ่มขึ้นจาก 6 ผังตามที่กฎหมายกำหนดก็ให้ทำพร้อมกันไปเลย เช่น แผนผังอนุรักษ์ ด้านศิลปะและวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นการส่งต่อมาจากผังนโยบายระดับประเทศ ส่วนจะเป็นผังที่ 7 เลยหรือไม่นั้นก็คงต้องหารือกันต่อไป

ส่วน 4 ผังที่มีอยู่เดิม ประกอบด้วย 1.แผนผังแสดงการใช้ประโยชน์ที่ดิน 2.แผนผังแสดงที่โล่ง 3.แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง 4.แผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ และบริการสาธารณะ ก็ต้องมีการยกเครื่องกันใหม่ เพราะตอนตั้งต้นทำกันในปี 2560 กว่าจะประกาศใช้ ปี 2567 ข้อมูลต่างๆ ที่นำมาใช้วางผังจึงไม่อัพเดต ก็จำเป็นต้องปรับข้อมูลให้ทันสมัยที่สุด

แต่ก็มาสะดุดตรงที่ในช่วงโควิด 2-3 ปี ข้อมูลต่างๆ มันรวนไปหมด และพอโควิดคลี่คลาย ทุกอย่างก็กลับมาเร็วมาก ทำให้ข้อมูลสวิงมากการนำมาใช้ก็ต้องระมัดระวัง

ขณะเดียวกัน ระบบขนส่งมวลชนก็ได้มีแผนการก่อสร้างเพิ่มจากเดิม ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนท์) และรถไฟฟ้าสายสีม่วงด้านใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ก็ต้องปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพิ่มตามแนวทั้ง 2 เส้นทางจากร่างเดิมที่ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) สายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี)สายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) สายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต)

อ่านเพิ่มเติม
ผังเมืองกทม. Upgrade 25 ทำเลทั่วกรุงรองรับโครงข่ายรถไฟฟ้า (ตอนที่ 1)
ผังเมืองกทม. Upgrade 25 ทำเลทั่วกรุงรองรับโครงข่ายรถไฟฟ้า (ตอนที่ 2)

ผนึกปริมณฑลวางแผนผังระบายน้ำท่วม
อีกเรื่องที่มีความสำคัญก็คือการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งมาเร็วกว่าที่คาดการณ์ และสร้างผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำทะเลหนุน ปริมาณฝนที่มากขึ้น ทำให้โครงสร้างเดิมรับไม่ไหว ซึ่งจะต้องคุยกับจังหวัดปริมณฑล เพื่อวางระบบระบายน้ำร่วมกันทั้งระบบ

ขณะนี้ทางผู้ว่าฯกทม.ได้เริ่มไปคุย และวางแนวคิดเรื่องฟลัดเวย์ร่วมกับจังหวัดสมุทรปราการ เพราะจะต้องระบายน้ำผ่านสมุทรปราการลงอ่าวไทยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเป็นเรื่องดีที่กทม.และสมุทรปราการวางผังเมืองพร้อมๆ กัน ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถ้าได้มีการประสานผังกันต่อเชื่อมระบบระบายน้ำลงไปด้านล่าง นอกจากนี้ในร่างผังเมืองยังได้ ทำเรื่องของการปรับปรุง ขยายคูคลอง สร้างใหม่ อยู่แล้วส่วนหนึ่ง

รวมไปถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะต้องมาดูในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อรองรับ การรับมือกับโรคระบาดต่างๆ ซึ่งจะต้องไปดูในเรื่องของการกระจายบริการด้านสาธารณสุขออกไปรองรับให้สัมพันธ์กับการตั้งถิ่นฐาน ซึ่งที่จริงกทม.ก็มีโรงพยายาลที่สามารถรองรับอยู่ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ ยังมีที่ดินรัฐที่สามารถนำมาพัฒนาโรงพยาบาลเพิ่มได้ ถ้าเราสามารถกระจายการบริการไปในชุมชนใหญ่ๆ ได้ ก็จะลดการกระจุกตัวของผู้ใช้บริการในโรงพยาบาลเหมือนเช่นในปัจจุบัน

ดันลาดกระบัง-บางขุนเทียนเป็น Sub Center
ในส่วนของแนวนโยบายด้านผังเมืองของผู้ว่าฯชัชชาติ ซึ่งเพิ่งไปเยี่ยมเยือนสำนักวางผังและพัฒนาเมือง กทม.เมื่อไม่นานมานี้ ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ว่าฯ ได้ให้ความสำคัญ โดยจะใช้ผังเมืองเป็นตัวชี้นำในการบริหารจัดการเมืองที่ดีเชื่อมโยงกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานคร ซึ่งเดิมทีผังเมืองมักจะถูกเข้าใจว่ามีไว้สำหรับการควบคุมเพียงอย่างเดียว คงต้องมาดูกันเรื่องของการทำงานหลังประกาศใช้ผังเมืองไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ผังโครงการต่างๆ การวางผังเฉพาะ การจัดรูปที่ดิน เป็นต้น ส่วนการวางผังเฉพาะในส่วนของลาดกระบังและบางขุนเทียนตามนโยบายของผู้ว่าชัชชาติ ก็อาจจะกำหนดให้เป็น Sub Center ของกทม.

สำหรับ Timeline ของการปรับปรุงร่างคงจะเริ่มคิกออฟกันในช่วงต้นปี 2566 เริ่มต้นจากการประชุมจังหวัดปริมณฑล กลับมาประชุมปรับผัง โดยโฟกัสใน 3 เรื่อง คือ แผนผังแสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แผนผังแสดงผังน้ำ และผังที่ 7 หลังจากนั้นจะเริ่มกระบวนการรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เช่น ประชุมรับความเห็นจากผู้ประกอบการในแต่ละสาขา ประชุมประชาชนสัญจรใน 6 กลุ่มเขต และประชุมรับฟังความเห็นประชาชน ซึ่งน่าจะเสร็จประมาณกลางปี 2566

ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการชุดต่างๆ และไปจบที่สภากทม. เพื่อออกเป็นข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร คาดว่าจะประกาศใช้ได้ภายในปี 2567