fbpx
shutterstock 1188792046

8 เรื่องน่ารู้ ชาวต่างชาติซื้อคอนโดไทย

การซื้อ-ขาย และการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดหรือคอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติในไตรมาส 1 ปี 2565 ยังคงชะลอตัว แม้ว่าไทยจะผ่อนคลายให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศได้สะดวกขึ้น แต่จีนซึ่งเป็นกำลังซื้อหลักของคอนโดมิเนียมไทยยังคงปิดประเทศตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ แต่อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของนักท่องเที่ยวสัญชาติอื่นๆ โดยทางการไทยตั้งเป้าหมายที่จะดึงนักท่องเที่ยวกลับมาให้ได้ 6 ล้านคนในปีนี้ และเพิ่มเป็น 19 ล้านคนในปี 2565 ก็จะเพิ่มโอกาสให้กับการซื้อขายคอนโดทดแทนกลุ่มลูกค้าชาวจีนที่ยังไม่สามารถเดินทางมาไทยได้

ต่อไปนี้เป็น 8 เรื่องน่าสนใจของการซื้อและโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติในไตรมาสที่ 1 ปีนี้ โดยดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ได้เปิดเผยว่า …

1.จีนปิดประเทศหน่วยโอนยังชะลอตัว

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2565 มีการโอนห้องชุดของชาวต่างชาติจำนวน 2,107 หน่วย ลดลงร้อยละ -10.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีจำนวนหน่วยสูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปี ในช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ปี 2563-2564) ที่มีจำนวน 2,061 หน่วย/ไตรมาส โดยมีมูลค่าการโอนรวม 10,262 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -6.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ย 2 ปี ในช่วงโควิด-19 ที่มีมูลค่า 9,683 ล้านบาท/ไตรมาส

2.ต่างชาติมีสัดส่วนโอนห้องชุดแค่ 10.6%

สำหรับสัดส่วนของการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้คนต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 10.6 ขณะที่สัดส่วนการโอนกรรมสิทธิ์ของคนไทยคิดเป็นร้อยละ 89.4 จากจำนวนหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในไตรมาส 1 ปี 2565 ทั้งหมด 19,886 หน่วย โดยที่สัดส่วนจำนวนหน่วยโอนให้คนต่างชาติลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 10.7 ขณะที่มูลค่าการโอนกรรมสิทธิห้องชุดในไตรมาส 1 ปี 2565 มีจำนวนรวม 52,291 ล้านบาท แบ่งออกเป็นการโอนกรรมสิทธิ์ให้ชาวต่างชาติร้อยละ 19.6 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 17.2

3.ห้องชุดมือสองได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น

การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติในไตรมาส 1 ปี 2565 จำนวน 2,107 หน่วย แบ่งเป็นห้องชุดใหม่ร้อยละ 65.1 ซึ่งลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีสัดส่วนของห้องชุดใหม่ร้อยละ 80.3 ขณะที่ห้องชุดมือสองมีสัดส่วนร้อยละ 34.9 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 19.7

ในด้านมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้ชาวต่างชาติทีมีจำนวน 10,262 ล้านบาทในไตรมาส 1 แบ่งเป็นมูลค่าห้องชุดใหม่ร้อยละ 71.8 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วนของห้องชุดใหม่ร้อยละ 86.1 ในขณะที่ห้องชุดมือสองมีสัดส่วนร้อยละ 28.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีสัดส่วนร้อยละ 13.9 แสดงให้เห็นว่า ตลาดห้องชุดต่างชาติ ยังนิยมห้องชุดใหม่มากกว่าห้องชุดมือสอง แต่ห้องชุดมือสองก็มีการขยายสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ

จำนวนหน่วยการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชาติของชาวต่างชาติ

4.ราคาไม่เกิน 3 ล้าน ยังฮอตสุดๆ

สำหรับระดับราคาห้องชุดที่เป็นที่นิยมของคนต่างชาติจะอยู่ในช่วงราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยมีการโอนจำนวน 1,109 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 52.6 ของจำนวนหน่วยทั้งหมดจำนวน 2,107 หน่วย รองลงมาคือ ระดับราคา 3-5 ล้านบาท มีจำนวน 504 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 23.9) ระดับราคา 5-10 ล้านบาท มีจำนวน 304 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 14.4 และระดับราคามากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 190 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 9

5.ห้องสตูดิโอและ 1-2 ห้องนอนไปได้สวย

ส่วนขนาดห้องชุดที่เป็นที่นิยมของคนต่างชาติ คือ ขนาดพื้นที่ 30-60 ตารางเมตร (1-2 ห้องนอน) มีหน่วยที่โอนกรรมสิทธิ์จำนวน 970 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 46.0 รองลงมา เป็นห้องชุดขนาดไม่เกิน 30 ตารางเมตร (สตูดิโอ หรือ 1 ห้องนอน) มีหน่วยโอน 796 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 37.8 ถัดมาเป็นห้องชุดขนาด 61-100 ตารางเมตร (2-3 ห้องนอนขึ้นไป) จำนวน 202 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 9.6 และห้องชุดพื้นที่มากกว่า 100 ตารางเมตร (3 ห้องนอนขึ้นไป) มีจำนวนน้อยที่สุด คือ 139 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 6.6

ห้องชุดขนาดไม่เกิน 30 ตารางเมตร และขนาด 30-60 ตารางเมตร เป็นประเภทห้องชุดที่คนต่างชาตินิยมมากที่สุด โดยมีสัดส่วนจำนวนหน่วยที่โอนกรรมสิทธิ์รวมกันร้อยละ 83.8

6.จีนไม่มาแต่ยังเป็นลูกค้ารายใหญ่

การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติในไตรมาส 1 พบว่า สัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดมากที่สุด ได้แก่ ชาวจีน โดยมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจำนวน 949 หน่วย คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 45.0 (ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 53.7) และมีมูลค่าการโอน 4,570 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 44.5 (ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2564 ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 51.2%) จะเห็นได้ว่า สัดส่วนชาวจีนที่โอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดลดลงไม่ถึงร้อยละ 50 เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ชาวจีนไม่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้

ในด้านจำนวนหน่วย สัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศ อันดับรองลงมา ได้แก่ รัสเซีย มีการโอนจำนวน 134 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 6.4 อันดับสาม สหรัฐอเมริกา จำนวน 114 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 5.4 อันดับสี่ สหราชอาณาจักร จำนวน 91 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 4.3 อับดับห้า เยอรมัน จำนวน 81 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 3.8 ตามลำดับ

10 อันดับต่างชาติที่มีการโอนห้องชุดมากที่สุด

ในด้านมูลค่าสัญชาติที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั่วประเทศอันดับหนึ่งยังคงเป็นจีน มีมูลค่าการโอน 4,570 ล้านบาท อันดับรองลงมา คือ รัสเซีย มีการโอนจำนวน 435 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.2 อันดับสาม กัมพูชา 401 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9 อันดับสี่ ไต้หวัน 391 ล้านบาท ร้อยละ 3.8 อับดับห้า ฝรั่งเศส 390 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.8 ตามลำดับ

7.เศรษฐีกัมพูชากว้านซื้อห้องชุดราคาแพง

ห้องชุดที่ชาวต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ ในไตรมาส 1 ปี 2565 มีขนาดเฉลี่ย 46.18 ตารางเมตร/หน่วย มูลค่าเฉลี่ย 4.87 ล้านบาท/หน่วย หรือประมาณตารางเมตรละ 105,470 บาท ในจำนวน 10 สัญชาติที่มีมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดสูงสุด ในไตรมาส 1 ปี 2565 พบว่า กัมพูชา เป็นสัญชาติที่มีมูลค่าการโอนต่อหน่วยสูงสุด เฉลี่ย 18.22 ล้านบาท/หน่วย หรือเฉลี่ย 315,825 บาท/ตารางเมตร ขนาดห้องเฉลี่ย 57.70 ตารางเมตร/หน่วย และสหรัฐอเมริกาเป็นสัญชาติที่มีมูลค่าการโอนต่อหน่วยต่ำสุด เฉลี่ย 3.02 ล้านบาท/หน่วย หรือเฉลี่ย 60,314 บาท/ตารางเมตร ขนาดห้องเฉลี่ย 50.04 ตารางเมตร/หน่วย

8.กรุงเทพฯ-ชลบุรี 2 เมืองหลักของต่างชาติ

จังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดคนต่างชาติสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี สมุทรปราการ ภูเก็ต และเชียงใหม่ ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ใน 2 จังหวัดแรก คือ กรุงเทพฯ มีจำนวน 829 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 39.3 และชลบุรี จำนวน 677 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 32.1 โดยทั้ง 2 จังหวัดมีสัดส่วนจำนวนหน่วยรวมกันสูงถึงร้อยละ 71.5 ของทั่วประเทศ

ส่วนจังหวัดที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้กับชาวต่างชาติมากที่สุดเป็นอันดับ 3-5 ได้แก่ สมุทรปราการ จำนวน 230 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 10.9 ภูเก็ต จำนวน 164 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 7.8 และเชียงใหม่ จำนวน 97 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 4.6 ซึ่งเมื่อรวม 2 จังหวัดข้างต้น มีจำนวนหน่วยรวมกันเป็นสัดส่วนมากถึงร้อยละ 94.8 ของทั้งประเทศ ส่วนจังหวัดอื่นๆ อีก 72 จังหวัด มีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดในชาวต่างชาติรวมกันเพียงร้อยละ 5.2 เท่านั้น