fbpx
shutterstock 203161951

นโยบายเด่นด้านอสังหาฯกับ (ว่าที่) ผู้ว่ากทม.

เข้าสู่โค้งสุดท้ายสำหรับการช่วงชิงตำแหน่งพ่อเมืองกรุงเทพมหานครที่มีกำหนดหย่อนบัตรเลือกตั้งกันในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 นี้ ใครจะเข้าวินกินตำแหน่งผู้ว่ากทม.อีกไม่นานคงได้รู้กัน

ในขณะที่ผู้สมัครแต่ละท่านกำลังหาเสียงช่วงโค้งสุดท้ายกันอย่างหนักหน่วง แต่ละคนก็มีนโยบายที่เหมือนๆ กันบ้างแตกต่างกันบ้าง ตามสภาพปัญหาและความต้องการของคนแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันออกไป

วันนี้ Property Mentor ขอพาไปดูกันหน่อยว่าบรรดาผู้สมัครระดับแถวหน้า แต่ละคนมีนโยบายที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์กับภาคอสังหาริมทรัพย์กันอย่างไรบ้าง

เริ่มต้นที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครหมายเลข 8 เต็งหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้มีทั้งนโยบายทางตรง ทางอ้อมที่เชื่อมโยงกับธุรกิจอสังหาฯ ส่วนหนึ่งเพราะมี ดร.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในทีมนโยบายชัชชาติ นโยบายเด่นๆ ในด้านอสังหาริมทรัพย์จึงมีอยู่หลายหัวข้อ อาทิ

วางแผนแนวคิดเมืองใหม่ที่ได้มาตรฐานในพื้นที่ชานเมือง สนับสนุนศูนย์พาณิชยกรรมให้กระจายไปยังพื้นที่ชานเมืองของกรุงเทพฯ เพิ่มโอกาสให้เกิดแหล่งงานในบริเวณย่านที่อยู่อาศัยชานเมือง ลดการเดินทางเข้าศูนย์พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน

ปรับปรุงข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับผังเมืองและการควบคุมอาคารให้ทันสมัย และจะพัฒนาระบบติดตามการขออนุญาต (tracking system)

ส่งเสริมแนวคิดการจัดรูปที่ดินในบริเวณที่เหมาะสม

ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินการกองทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยกรุงเทพฯ และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ที่อยู่อาศัย โดยสำนักงานพัฒนาที่อยู่อาศัย

เพิ่มโอกาสการมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงและหลากหลายรูปแบบให้กับคนกรุงเทพฯ

สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่อยู่อาศัยชั่วคราว (housing incubator) สำหรับนักเรียนนักศึกษาจบใหม่ให้เช่าในราคาต่ำ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 5 ปี

จัดทำฐานข้อมูลห้องเช่าราคาถูก (housing stock) 1,000-1,500 บาท

สร้างแนวทางรับดูแลโครงสร้างพื้นฐาน หมู่บ้านและคอนโดเก่า

มาที่พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้สมัครหมายเลข 6 ในฐานะอดีตผู้ว่ากทม.คนล่าสุด นโยบายส่วนใหญ่จึงเน้นไปที่สานงานต่อจากงานเดิม และเริ่มงานใหม่ เช่น

แก้ไขปัญหาน้ำท่วม พัฒนาระบบระบายน้ำที่เริ่มแล้วให้สมบูรณ์ พัฒนาระบบระบายน้ำให้ได้ประยชน์หลากหลาย เช่น พัฒนาระบบระบายน้ำกับสวนสาธารณะ พัฒนาระบบระบายน้ำกับการพัฒนาที่อยู่อาศัย สถานที่ท่องเที่ยว

เดินหน้าต่อสร้างความสะดวกในทุกการเดินทาง ผลักดัน Sky Walk เชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าไปยังโรงพยาบาลใกล้เคียง

พัฒนาพื้นที่สำคัญของเมือง ให้เป็นย่านแห่งการเดินเท้าที่สะดวก เช่น ย่านเศรษฐกิจย่านเมืองเก่า ย่านนวัตกรรม และศูนย์การแพทย์
ผลักดันเมืองสิ่งแวดล้อมที่ดี เพิ่มพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐานสากล พัฒนาสวนสาธารณะขนาดใหญ่และขนาดเล็ก Dog Park Pocket Park (สวนชุมชน) เพิ่มขึ้น

เสริมสร้างความปลอดภัยจากสิ่งก่อสร้าง พัฒนาระบบบริหารจัดการงานควบคุมอาคาร

ผลักดันการสำรวจข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์ของโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เพื่อใช้ในการวางแผนการใช้โครงสร้างพื้นฐานและการสร้างใหม่

ผลักดันการจัดระเบียบสายสื่อสารลงดินให้เพิ่มมากขึ้น

ผลักดันการใช้ผังเมืองรวมใหม่ เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ร่วมกันได้มากขึ้น

ส่งเสริมให้มีการเพิ่มพื้นที่เพื่อสาธารณประโยชน์มากขึ้น เช่น มีพื้นที่การดูแลเด็กและผู้สูงอายุในอาคาร หรือสาธารณประโยชน์อื่นๆ

ผลักดันให้มีการจัดตั้งบ้านผู้สูงอายุ เพื่อดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี

ผู้สมัครคนต่อไป ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ เบอร์ 4 จากพรรคประชาธิปัตย์ นโยบายส่วนใหญ่เน้นไปที่ปัญหาใกล้ตัวคน ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาฯตรงๆ อาจจะไม่ได้พูดถึงนัก และเน้นไปที่นโยบายระดับเขตที่มีสภาพปัญหาที่แตกต่างกันออกไป

นโยบายที่พอจะเกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ เช่น

เปลี่ยนพื้นที่รกร้าง และที่ดินไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้เป็นสวนสาธารณะขนาดย่อม โดยสามารถนำไปลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

เพิ่มสวน ที่พักให้สัตว์เลี้ยง

ทางเท้า ต้องได้มาตรฐานสากล มีบริการน้ำดื่ม น้ำประปา

สร้างทางจักรยานลอยฟ้า นำร่องเส้นทางตามแนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์

พัฒนาแก้มลิงใต้ดินกรุงเทพ แก้น้ำท่วมซ้ำซาก

มาถึงนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกลหมายเลข 1 มีนโยบายที่เกี่ยวกับอสังหาฯที่เด่นๆ เช่น

สร้างที่อยู่อาศัยใจกลางเมือง 10,000 ยูนิตภายใน 4 ปี โดยกทม. ลงทุนสร้างและบริหารที่อยู่อาศัย
ในราคาเช่าระยะยาว 30 ปี ไม่เกิน 3,500-9,000 บาท/เดือน(แล้วแต่ขนาดครอบครัว)
เปลี่ยนที่รกร้างเป็นสวนสาธารณะ โดยการซื้อที่ดินหรือเช่าที่ดินระยะยาว และร่วมมือกับเจ้าของที่ดินเอกชนเพื่อนำที่มาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะให้กับประชาชน โดยใช้กลไกภาษีที่ดินกับที่ดินร้างช่วยจูงใจ

หน้าอาคารใหม่ต้องมีสวน โดยออกข้อบัญญัติ กทม. เพื่อกำหนดให้ด้านหน้าของอาคารทุกแห่งที่จะก่อสร้างใหม่ จำเป็นต้องมีพื้นที่สีเขียวที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้

พัฒนาทางเท่าที่ดีเท่ากันทั้งกรุงเทพฯ โดยการออกแบบทางเท้าใหม่ให้สวยงาม คงทน เริ่มจากบริเวณที่มี
แผนเอาสายไฟลงดิน และเปลี่ยนท่อระบายน้ำ และต้องมีการเสริมโครงสร้างเหล็กไว้ใต้พื้นเพื่อให้ทางเท้ามีความแข็งแรง และทางเท้าที่แคบกว่า 3.2 เมตร ห้ามตั้งแผนลอย โดยจะหาพื้นที่ใกล้เคียงให้ค้าขายแทน

มาถึงผู้สมัครคนสุดท้ายนายสกลธี ภัททิยกุล ผู้สมัครหมายเลข 3 ในฐานะอดีตรองผู้ว่ากทม. จึงเน้นนโยบายที่ทำได้จริงและทำได้ทันที ที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาฯ เช่น การผลักดันรถไฟฟ้าสีเทา วัชรพล – ทองหล่อ และรถไฟฟ้าสายสีเงินบางนา-สุวรรณภูมิ พัฒนา 50 สวน 50 เขต หลัง ผลักดันแนวคิด Green Roof พัฒนาย่านต่างๆ ในกทม. ปรับปรุงกฎหมายผีงเมือง เป็นต้น

ที่กล่าวมาคือนโยบายบางส่วนของผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้ว่ากทม.ระดับแถวหน้า จะมีมากบ้างน้อยบ้างก็ตามแต่จะให้ความสำคัญก่อนหลัง เอาเป็นว่าวันที่ 22 พ.ค.เข้าคูหา เลือกคนที่ใช่ เลือกนโยบายที่โดนกันเองครับ