fbpx
1 e1652815599318

พฤกษา กางแผนคุมต้นทุนสู้เงินเฟ้อ มั่นใจช่วยตรึงราคาบ้านได้ยาวถึงสิ้นปี 65

พฤกษา โฮลดิ้ง มั่นใจคุมต้นทุนอยู่ พร้อมตรึงราคาบ้านได้ยาวถึงสิ้นปี ชี้ปัญหาแรงงานขาดแคลน-Supply Chain Disruption ทำยอดขาย-รายได้ไตรมาสแรกสะดุด แต่กำไรยังโตได้ 10% พร้อมเดินหน้าเปิดโครงการใหม่ไตรมาส 2 อีก 9 โครงการบ้านแนวราบ ผนึกโรงพยาบาลวิมุต รุกหนัก Healthy Home-Senior Living

นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 แสดงให้เห็นชัดว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยจริงยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะแนวราบในกลุ่มบ้านเดี่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ที่เติบโตจากผลกระทบโควิดที่ทำให้คนอยากอยู่บ้านมากขึ้น แม้สภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซาและมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในขณะนี้คือ เรื่องของแรงงานที่ขาดแคลน และเงินเฟ้อที่ทำให้ราคาวัสดุก่อสร้างปรับสูงขึ้นกระทบต่อต้นทุนก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น 2-3% ซึ่งบริษัทได้เตรียมแผนรับมือไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยมีการปรับปรุงกระบวนการทำงานในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็ว และช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การนำ Value Engineering หรือ วิศวกรรมคุณค่ามาใช้ ด้วยการนำวัสดุทดแทนที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับวัสดุเดิมมาใช้ เป็นการช่วยลดการใช้ซีเมนต์ที่ไม่จำเป็นไปได้มากกว่า 15,000 ตัน

นอกจากนี้ ยังมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ระบบจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาระบบ Streamline ช่วยลดชั่วโมงการทำงานไปได้ มากกว่า 10,400 ชั่วโมง และใช้การบริหารจัดการต้นทุน (Cost Management) เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากกว่า 460 ล้านบาท หรือ 1.4% ของรายได้ ทำให้เห็นผลลัพธ์ในการคุมต้นทุนได้ดี และยังสามารถตรึงราคาบ้านเอาไว้ได้

วันนี้พฤกษายังสามารถตรึงราคาบ้านเอาไว้ได้ และถ้าสภาวะยังคงเป็นแบบนี้อยู่ก็ยังไม่มีความจำเป็นต้องปรับราคาบ้านไปจนถึงสิ้นปี แต่ถ้าเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นกว่าที่เราคาดการณ์ก็ต้องกลับมาดูในเชิงกลยุทธ์ว่าจะต้องปรับราคาขายหรือเปล่า” นายอุเทนกล่าว

สำหรับผลการดำเนินในไตรมาส 1 ปี 2565 บริษัททำยอดขายโครงการอสังหาริมทรัพย์รวม 5,344 ล้านบาท รายได้รวม 5,679 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 23% และ 17.6% ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากปัญหาการขาดแคลนแรงงานทำให้ต้องชะลอการเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 1 ไปหลายโครงการ และปัญหา Supply Chain Disruption ทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไปทำให้ยอดรับรู้รายได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่ได้แก้ปัญหาไปแล้วและหวังว่าในไตรมาส 2-4 จะเห็นตัวเลขที่แข็งแรงและดีกว่าไตรมาสที่ 1

ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 639 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10% โดยมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 11.3% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ 8.4% ซึ่งเป็นผลจากการปรับกลยุทธ์หันมาเน้นการสร้างผลตอบแทนมากขึ้น ในขณะที่กำไรสุทธิของพฤกษา โฮลดิ้ง (รวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเฮลแคร์) อยู่ที่ 552 ล้านบาท และมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ที่ 20,200 ล้านบาท เป็นยอดรับรู้รายได้ในปี 2565 ที่ 18,700 ล้านบาท และจะมีโครงการแนวสูงที่สร้างเสร็จพร้อมทยอยโอนในปีนี้อีก 7 โครงการรวมมูลค่า 15,200 ล้านบาท

นายอุเทน กล่าวอีกว่า สำหรับปัจจัยบวกในตลาดอสังหาริมทรัพย์เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ความมั่นใจของผู้บริโภคก็น่าจะกลับมาดีขึ้นกว่าเดิม ขณะที่ทิศทางของดอกเบี้ยยังไม่มีสัญญาณว่ารัฐบาลจะประกาศขึ้นดอกเบี้ยก็จะยังคงปัจจัยบวกต่อภาคอสังหาฯ แต่ถ้ามีการปรับขึ้นของดอกเบี้ยก็จะส่งผลด้านลบต่อกำลังซื้อ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงด้านที่อยู่อาศัยของพฤกษาที่มุ่งสู่ตลาดซีเนียร์ ลิฟวิ่งมากขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้าที่ต้องการบ้านที่ตอบโจทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นตัวสร้างดีมานด์ใหม่และเป็นโอกาสของบริษัทในการขยายงานต่อไปในอนาคต

สำหรับแผนงานในไตรมาส 2 บริษัทมีแผนเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 2 อีก 9 โครงการ รวมมูลค่า 5,900 ล้านบาท แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 8 โครงการและบ้านเดี่ยว 1 โครงการ ออกแบบโครงการภายใต้แนวคิด Tomorrow. Reimagined. ที่ได้ต่อยอดสู่ “พฤกษา ลิฟวิ่ง โซลูชั่น” ตอกย้ำแนวทางการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพที่อยู่อาศัยตอบโจทย์เทรนด์การอยู่อาศัยใน 3 แกนหลัก ประกอบด้วย เทรนด์สุขภาพ (Health & Wellness) เทรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป (Lifestyle Disruption) และเทรนด์เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Development)

“หนึ่งในแกนที่พฤกษาให้ความสำคัญ คือ การออกแบบบ้าน “ใส่ใจเพื่อสุขภาพ” (Healthy Home) ซึ่งทางพฤกษาได้ทีมผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลวิมุต เข้ามาร่วมให้คำปรึกษา แนะนำ ในการออกบ้านในแต่ละโครงการ เพื่อให้การออกแบบบ้านนั้นตอบโจทย์ด้านการอยู่อาศัยเพื่อสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะการออกแบบที่อยู่อาศัยแบบ Universal Design ที่รองรับคนทุกเจนเนอเรชั่นที่อยู่ร่วมกันในบ้าน เช่น การดีไซน์ประตูขนาดใหญ่เผื่อพื้นที่ไว้รองรับการเข้าออกด้วยรถเข็น บันไดลูกนอนขนาดกว้างขึ้น ช่วยให้ขึ้น-ลงได้สะดวก

พื้นภายในดีไซน์เป็นทางเรียบ (Non Step Floor) หมดห่วงเรื่องเดินสะดุดและการใช้วัสดุพื้นลดแรงกระแทก (Absorbtion Floor) รวมทั้งการเลือกใช้โถสุขภัณฑ์ชั้นนำแบบ Senior Ergonomic Design ที่ออกแบบรองรับสรีระผู้สูงอายุ และยังมีการออกแบบพื้นที่เพื่อส่งเสริมสุขภาพเป็นสวนหินบำบัด (River Healing Stone) ที่คัดสรรหินแต่ละก้อนอย่างพิถีพิถันและจัดวางให้เหมาะสำหรับการเดินนวดฝ่าเท้า เป็นต้น”

ในฝั่งธุรกิจด้านสุขภาพ โรงพยาบาลวิมุตซึ่งเป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางระดับตติยภูมิ ที่มุ่งให้บริการแบบ New Normal Ecosystem โดยมุ่งเน้นการรักษาแบบบูรณาการองค์รวม ผ่านศูนย์สุขภาพและโมเดลสุขภาพด้วยระบบดิจิทัล ในไตรมาส 1 โรงพยาบาลวิมุตมีรายได้ 244 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59% จากไตรมาส 4 ปี 2564 ขณะที่แผนธุรกิจในไตรมาส 2 คาดว่ารายได้หลักจะมาจากการดำเนินงานเต็มรูปแบบของบริการด้านการแพทย์ โรงพยาบาล และบริการศูนย์ฟื้นฟูดูแลสุขภาพครอบครัวและผู้สูงอายุ (ViMut Wellness Services) ซึ่งจะพัฒนาไปพร้อมกับโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ของพฤกษาอย่างต่อเนื่องด้วย

นายอุเทน กล่าวอีกว่า กลยุทธ์ในปีนี้พฤกษามุ่งผสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเฮลแคร์ โดยมีแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบ Mixed Use ที่จะผสานบริการด้านสุขภาพไว้ในโครงการเดียวกัน รวมถึงมองหาพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อเข้ามาเติมเต็มบริการตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างดีที่สุด ในด้านการลงทุนพฤกษาได้มีการเพิ่มพอร์ตลงทุนที่หลากหลาย นอกจากการลงทุนในไทยที่ผสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจเรียลเอสเตท และโรงพยาบาล ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการศูนย์สุขภาพแห่งแรกในชุมชนพฤกษา ขนาด 50 เตียง ตั้งอยู่ด้านหน้าโครงการพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน ในเดือนสิงหาคมนี้

ขณะเดียวกันได้มีการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ โดยโรงพยาบาลวิมุตร่วมกับ JAS ASSET ก่อตั้งบริษัท Senera Vimut Health Service ทำโครงการ SENERA Senior Wellness บริเวณถนนคู้บอน เป็นศูนย์เมดิคอล ขนาด 5,713 ตร.ม. 4 ชั้น ขนาด 78 เตียง มีแผนเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้ นอกจากนี้ยังได้มีการลงทุนทั้งในไทย ออสเตรเลีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยเป็นกลุ่มธุรกิจประเภทนวัตกรรมด้านการพัฒนาความยั่งยืน (ESG Innovation) ระบบความปลอดภัยในโลกดิจิตอล (Digital Securities) และ เฮลท์เทค พร็อพเทค ที่รองรับกระแสเทรนด์ที่อยู่อาศัยและการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในอนาคต