fbpx
ภาพอสังหาฯ

นายกสมาคมอาคารชุดคนใหม่ ‘พีระพงศ์ จรูญเอก’ เดินหน้าปลุกกำลังซื้อฟื้นตลาดคอนโด

นายกสมาคมอาคารชุดคนใหม่ “พีระพงศ์ จรูญเอก” เดินหน้า 3 ภารกิจเร่งด่วน ปลุกกำลังซื้อคนไทย-ต่างชาติฟื้นตลาดคอนโด

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2565 สมาคมอาคารชุดไทยได้จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2564 เพื่อเลือกคณะกรรมการและนายกสมาคมคนใหม่ โดยนายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการสมาคมอาคารชุดไทย ให้ดำรงตำแหน่ง “นายกสมาคมอาคารชุดไทย” วาระประจำปี 2565-2566 พร้อมกับประกาศภารกิจเร่งด่วน เพื่อฟื้นตลาดคอนโดมิเนียมที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 อย่างรุนแรง

“ในฐานะผู้พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตจากการพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียม ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการสมาคมอาคารชุดไทยให้ขึ้นรับตำแหน่งสำคัญในครั้งนี้ และยินดีที่จะนำเอาความรู้ วิสัยทัศน์ และประสบการณ์ที่สั่งสมมาตลอด 12 ปี มาปรับใช้ในการทำงานร่วมกับทางสมาคม เพื่อช่วยฟื้นฟูและขับเคลื่อนตลาดคอนโดมิเนียมให้เติบโตยิ่งขึ้น พร้อมผลักดันและส่งเสริมผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ทั้งขนาดกลางและขนาดเล็กให้พร้อมรับมือกับการแข่งขัน สามารถเติบโตไปด้วยกันในทุกภาวะเศรษฐกิจ” นายพีระพงศ์ กล่าว

คาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยในปีนี้จะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว โดยปรับเกณฑ์ให้ผู้ที่ซื้อที่อยู่อาศัยมูลค่าไม่เกิน 10 ล้านบาท เป็นสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3 สามารถยื่นขอสินเชื่อที่อยู่อาศัยได้ 100% จะช่วยกระตุ้นให้ผู้บริโภคกลุ่มเรียลดีมานด์ที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัยเอง และกลุ่มนักลงทุนตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น

ประกอบกับแนวโน้มที่จะมีการกลับมาเปิดประเทศเต็มรูปแบบเร็วๆ นี้ ซึ่งจะเข้ามาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและรายได้ของคนในประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยให้กลับมาสู่ภาวะใกล้เคียงปกติ ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น

สำหรับนโยบายเร่งด่วนในปี 2565 ที่ต้องรีบดำเนินการมี 3 เรื่องหลัก ได้แก่

1.การไปขอความร่วมมือกับบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ หรือเครดิตบูโร ช่วยผ่อนคลายเครดิตการขอสินเชื่อสำหรับกลุ่มอาชีพที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ได้รับผลกระทบในช่วงวิกฤติโควิด-19 ในช่วงกว่า 2 ปี ให้สามารถเข้าถึงการกู้ยืมสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยได้

2.การสร้างความร่วมมือกับกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม (สปส.)ในการให้ สปส.จัดแคมเปญในการสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยหลังแรกกับผู้ใช้สิทธิ์ประกันสังคมของสปส. โดยนโยบายจะคล้ายกับรถยนต์คันแรก สำหรับการซื้อบ้านจัดสรร–คอนโดมิเนียมราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งจะนำเงินจากกองทุน สปส.ที่มีอยู่มาสนับสนุนการซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกของผู้ประกันต้น

3.การกระตุ้นตลาดต่างประเทศ ในเรื่อง Permanent Residence Visa ให้สิทธิ์การพักอาศัยระยะยาว 10 ปี คล้ายประเทศมาเลเซีย ทดแทน “อีลิทคาร์ด” (Elite Card) เพื่ออำนวยความสะดวกและจูงใจให้ลูกค้าชาวต่างชาติ มาซื้อที่อยู่อาศัยในประเทศไทยมากขึ้นหวังให้ตลาดคอนโดฯกลับมาฟื้นตัวและคึกคักอีกครั้ง

นายพีระพงศ์ กล่าวอีกว่า ตลาดคอนโดมิเนียมมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในทุกไตรมาส สต๊อกถูกระบายออกไปมากขึ้น แต่ยังไม่กลับคืนสู่ภาวะปกติในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยคาดว่าจะเข้าสู่ภาวะปกติได้ในปี 2566 อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้มีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องของต้นทุนการก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นประมาณ 10-15% ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องหาวิธีการคุมต้นทุนเพื่อไม่ให้กระทบกับราคาที่อยู่อาศัย เช่น การปรับโปรดักส์ใหม่ ลดทอนในส่วนที่เกินความจำเป็นออกไป และอาจจะต้องยอมเฉือนกำไรบางส่วน เพื่อไม่ให้กระทบกับกำลังซื้อผู้บริโภคที่ยังเปราะบาง