fbpx
Winner อาคารสำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน

เปิดไอเดียงานออกแบบอาคารรางวัล ‘BlueScope Design Awards 2021’

จากผลงานออกแบบอาคารกว่าร้อยโครงการถูกส่งเข้ามายังเวทีการประกวด “BlueScope Design Awards 2021” ซึ่งเกิดจากการร่วมมือกันขับเคลื่อนวงการสถาปนิกไทยระหว่างบริษัท เอ็นเอส บลูสโคป (ประเทศไทย) จำกัด และ สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อคัดสรรอาคารและการออกแบบที่นำวัสดุและผลิตภัณฑ์เหล็กเคลือบโลหะ และเหล็กเคลือบสี ไปใช้ในงานออกแบบได้อย่างสร้างสร้างสรรค์ และใช้งานได้อย่างยั่งยืน พร้อมก้าวสู่การเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานในระดับสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ภายใต้แนวคิด “The Sustainability of Coated Steel Buildings” ซึ่งมาจากวิสัยทัศน์ในการดำเนินงานของบลูสโคป ที่มีนโยบายมุ่งเน้นการสร้างแรงบันดาลใจด้วยนวัตกรรมจากผลิตภัณฑ์เหล็ก เพื่อสร้างความยั่งยืนในอนาคตให้กับ สังคมและชุมชน พร้อมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนช่วยในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ และลดการใช้ทรัพยากรต่างๆ ทั้งในแง่ของการออกแบบ และในแง่ของการนำสินค้าไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด นำมาสู่ผู้ชนะรางวัลการออกแบบในแต่ละประเภทดังนี้

สำหรับการประกวดประเภทแรก ‘The Sustainability of Coated Steel Buildings Design Contest’ ผลงานออกแบบเชิงการทดลอง หรืออยู่ระหว่างการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ รางวัลชนะเลิศ ได้แก่

โครงการจ้างออกแบบอาคารสำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอน ระดับพลังงาน 3GeV และ อาคารปฏิบัติการ

ดร.ณรงค์วิทย์ อารีมิตร กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก 49 จำกัด กล่าวว่า “การออกแบบอาคารสำหรับเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนต้องสื่อสารตัวตนของประเทศ รวมทั้งกระบวนการทำงานด้านวิทยาศาสตร์ให้คนภายนอกเข้าใจ ประกอบกับภายในอาคารจะมีการใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ วัสดุที่เลือกใช้จึงต้องช่วยประหยัดพลังงาน และตอบโจทย์เรื่องความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างที่รวดเร็ว หรือมิติของวัสดุที่มีความสามารถหลากหลาย ตรงกับแนวคิดของ BlueScope Design Awards ที่ทำให้นักออกแบบได้ฝึกคิดแบบมีกระบวนการ สามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์ประเด็นต่าง ๆ แล้วเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดสถาปัตยกรรมที่ยั่งยืนในอนาคต”

ส่วนรางวัลการประกวดประเภท ‘The Sustainability of Coated Steel Buildings of the Year 2021/2022’ ผลงานออกแบบอาคารที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว มีผู้ชนะการประกวด 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทบ้านพักอาศัย ประเภทพาณิชยกรรม และประเภทสถาบัน

รางวัลชนะเลิศ ‘ประเภทบ้านพักอาศัย’ ได้แก่ KING KONG HOUSE
นายวรนล สัตยวินิจ กรรมการบริหาร บริษัท สถาปนิก49 เฮ้าส์ดีไซน์ จำกัด กล่าวถึง แนวคิดในการออกแบบว่า “โครงสร้างส่วนหนึ่งของตัวบ้านเป็นลักษณะกล่องยื่นออกมาจากแนวซัพพอร์ต 6-9 เมตร วัสดุที่นำมาใช้จะต้องไม่เป็นภาระโครงสร้าง มีการบำรุงรักษาต่ำ การเลือกใช้เมทัลชีทนอกจากตอบโจทย์ทุกอย่างแล้ว ยังเปรียบเหมือนการก้าวไปสู่อนาคตของการก่อสร้างรูปแบบใหม่ ๆ โดย BlueScope Design Awards ถือเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้สถาปนิกได้มีโอกาสแสดงความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับการพัฒนาไอเดีย รวมถึงการพรีเซนต์เป็นภาษาอังกฤษยังช่วยให้นักออกแบบได้ฝึกเรื่องการสื่อสารอีกด้วย”

รางวัลชนะเลิศ ‘ประเภทพาณิชยกรรม’ ได้แก่ ร้านอาหารบ้านส้มตำและหอมคาเฟ่
นายสุวภัทร ชูดวง สถาปนิกโครงการ แสดงมุมมองในการเลือกใช้เมทัลชีทในแง่ของความรวดเร็ว สามารถประหยัดทรัพยากรในกระบวนการก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งช่วยตอบคำถามด้านความยั่งยืน “ไอเดียในการออกแบบเริ่มต้นจากพื้นที่ราว 10 ไร่ มีพาร์ทที่ต้องพัฒนาองค์ประกอบร่วมกับโครงการทั้งหมด 3 ส่วน โจทย์ของเราคือจะทำอย่างไรให้ 3 ส่วน กลมกลืนและสอดคล้องกัน อีกทั้งข้อจำกัดเรื่องระยะเวลาการเช่าพื้นที่ ทำให้สิ่งที่สร้างลงไปต้องสามารถเคลื่อนย้ายได้ในอนาคต ซึ่งเมทัลชีทเป็นวัสดุที่มีแนวคิดตอบโจทย์กระบวนการก่อสร้างในโปรเจกต์นี้ครบทุกมิติ”

รางวัลชนะเลิศ ‘ประเภทสถาบัน’ ได้แก่ โรงเรียนนานาชาติบางกอก พรีแพราธอรี แอนด์ เซ็กเคินเดอรี (บางกอกเพรพ)
นางสาวจิตตนันท์ จิตรประทักษ์ สถาปนิกโครงการ บริษัท แปลน อาคิเต็ค จำกัด กล่าวถึงแนวคิดของการออกแบบที่เน้นความเชื่อมโยงของการก่อสร้างอาคาร เพื่อลดช่องว่างระหว่างการก่อสร้างในอนาคต เพราะโปรเจกต์นี้เป็นการก่อสร้างแบบหลายเฟส แต่ละอาคารสร้างไม่พร้อมกัน ต้องคำนึงถึงความยั่งยืน ในที่นี้หมายถึงการเลือกใช้วัสดุที่มีความคงทน ซึ่งเมทัลชีทมีลักษณะการทำสีที่สามารถใช้ได้ยาวนาน ไม่ต้องดูแลเยอะ ตรงกับวัตถุประสงค์ของการใช้งานในโรงเรียน ที่ไม่ต้องจัดการอะไรมาก แต่ยังดูสวยตลอดเวลา”

สำหรับ “เอ็นเอส บลูสโคป” เป็นผู้ผลิตเหล็กเคลือบโลหะและเหล็กเคลือบสี ดำเนินงานธุรกิจในประเทศไทยมามากกว่า 30 ปี มุ่งมั่นสร้างสรรค์และพัฒนาโซลูชันเกี่ยวกับเหล็กเคลือบโลหะ และเหล็กเคลือบสีที่ดีที่สุด นำไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของทางสมาคมสถาปนิกสยามฯ ที่ต้องการสนับสนุนวงการสถาปนิก และนักศึกษาที่กำลังจะก้าวเข้ามาในสายอาชีพนี้ให้มีศักยภาพ สามารถช่วยส่งเสริม สนับสนุน และเผยแพร่การศึกษาค้นคว้า การวิจัยและพัฒนา เพื่อความก้าวหน้าในการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรม อีกทั้งปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย โดยเฉพาะในเรื่องสังคมแห่งอนาคตที่ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อม และการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด