fbpx
ภาพโดย Pexels จาก Pixabay  e1641356601929

เรื่องวุ่นๆ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปี 65 ยังต้องรอลุ้นจ่าย 10 หรือจ่าย 100

มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2564 เห็นชอบให้คงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ตามพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 สำหรับการจัดเก็บภาษีตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งพระราชกฤษฎีกาได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2564 และมีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2564

การคงอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในที่นี้ก็คือ คงอัตราการจัดเก็บที่ได้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ที่ได้กำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเอาไว้ใน 2 ปีแรก คือปี 2563-2564 เพื่อให้ผู้ที่ต้องเสียภาษีได้ตั้งหลักกับระบบภาษีใหม่ และเมื่อครบกำหนดจึงจำเป็นต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ ซึ่งกระทรวงการคลังเลือกที่จะใช้อัตราเดิมตามบทเฉพาะกาล

แม้ว่าในพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มาตรา 37 จะกำหนดเพดานของอัตราภาษีของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของที่ดินในแต่ละประเภทเอาไว้สูงกว่าอัตราการจัดเก็บที่กำหนดเอาไว้ในบทเฉพาะกาลก็ตามกล่าวคือ

  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.15 ของฐานภาษี (มูลค่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง)
  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.3 ของฐานภาษี
  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากประกอบเกษตรกรรมหรืออยู่อาศัยให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 1.2 ของฐานภาษี

ขณะที่บทเฉพาะรวมถึงอัตราภาษีที่ครม.ให้ความเห็นชอบและประกาศใช้ล่าสุด

  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม มีอัตราภาษีร้อยละ 0.01-0.1
  • ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัย มีอัตราภาษีร้อยละ 0.02-0.1
  • ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจากประกอบเกษตรกรรมหรืออยู่อาศัย มีอัตราภาษีร้อยละ 0.3-0.7

ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ มีอัตราภาษีร้อยละ 0.3-0.7

การที่ยังคงอัตราการจัดเก็บเดิมเอาไว้ กระทรวงการคลังให้เหตุผลว่า เพื่อให้ประชาชนได้มีระยะเวลาปรับตัวอีกระยะหนึ่ง และภายหลังการใช้อัตราภาษีนี้ไปแล้ว 2 ปี ในปี 2567 กระทรวงการคลังจะพิจารณาทบทวนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อให้มีความเหมาะสม และสอดคล้องกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

ทั้งหมดคือ ที่มาที่ไปของการคงอัตราการจัดเก็บเดิมเอาไว้ แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เพราะในระหว่างปี 2563-2564 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยได้ลดภาษีในอัตราร้อยละ 90 ของภาษีที่คำนวณได้ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้กับผู้เสียภาษี ทำให้ผู้เป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจ่ายภาษีเพียงร้อยละ 10 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

จะด้วยการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนหรือจงใจจะสับขาหลอกอย่างไรก็แล้วแต่ การคงอัตราการจัดเก็บเดิมเอาไว้เหมือนปี 2563-2564 ทำให้ผู้เสียภาษีส่วนใหญ่เข้าใจไปว่า จะยังได้จ่ายภาษีเพียงแค่ร้อยละ 10 เหมือน 2 ปีที่ผ่านมา แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะรัฐบาลยังไม่ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกาลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสำหรับปี 2565 แต่อย่างใด และหากยังชะล่าใจเมื่อถึงเวลาจ่ายภาษีหลายคนอาจต้องร้องจ๊าก เพราะภาษีสูงขึ้นลิบลิ่วเพราะจากที่เคยจ่าย 10 ต้องจ่ายเต็ม 100 และอาจจะทำให้ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต้องล้มหายตายจากไปในที่สุด

ด้วยเหตุนี้ภาคเอกชน โดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย จึงได้ส่งจดหมายน้อยไปถึงกระทรวงการคลังอีกครั้ง หลังจากเคยยื่นข้อเสนอขอลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเหลือร้อยละ 10 ไปเมื่อปลายปี 2564 แต่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 ธันวาคม เรื่องการขอลดภาษีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกลับหล่นหายไประหว่างทาง จึงต้องส่งหนังสือย้ำไปอีกรอบ

“มติครม.เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2564 ทำให้เกิดความสับสน ทั้งประชาชนและภาคธุรกิจส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่า ยังได้จ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราเดิม คือ ได้ลดภาษีร้อยละ 90 จ่ายเพียงร้อยละ 10 แต่มติครม.ที่ออกมาให้คงอัตราการจัดเก็บภาษีเดิมเอาไว้ ไม่ได้มีเรื่องของการลดภาษี ตามที่ภาคเอกชนเคยเสนอไป

ถ้าต้องกลับมาจ่ายเต็มจำนวนในขณะที่คนส่วนใหญ่ยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ภาคธุรกิจ อย่างเช่นธุรกิจโรงแรม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัว จะยิ่งซ้ำเติมธุรกิจที่ย่ำแย่อยู่แล้วให้ทรุดหนักลงไปอีก” นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาสมาคมการค้าให้ความเห็น

ทั้งนี้ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการ กกร.ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร.จะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอขยายระยะเวลาการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงร้อยละ 90 ออกไปอีก 2 ปี เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้กับประชาชนและผู้ประกอบการทั่วประเทศในทุกภาคส่วน

คงต้องรอติดตามตอนต่อไปว่า รัฐบาลจะเอาอย่างไรกับการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะอีกทางหนึ่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็เรียกร้องเงินชดเชยจากร้อยละ 90 ที่หายไป และยังกดดันให้รัฐบาลปรับปรุงอัตราการจัดเก็บใหม่ เพราะที่ผ่านมาหลังการประกาศใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เก็บภาษีได้น้อยมาก

ะยะสั้น 1 ปี หรืออาจจะ 2 ปีนี้ เป็นไปได้ที่รัฐบาลอาจจะลดภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 แต่หลังจากนั้น นอกจากไม่ลดแล้ว อาจจะมีการปรับปรุงแก้ไขหลักเกณฑ์ให้เก็บภาษีได้มากขึ้น เพราะตามกฎหมายยังมี room ที่สามารถทำได้ ขึ้นอยู่กับว่า ใครกล้าพอที่จะเล่นกับของร้อนๆ ครับ