fbpx
Annotation 2020 08 03 173123

บริษัทเคหะสุขประชาระดมทุน 6 หมื่นล. ลุยบ้านเช่าราคาถูก 1 แสนหน่วย

จับตาบทบาทของการเคหะแห่งชาติ หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ตั้งบริษัทในเครือที่ชื่อว่า บริษัท เคหะสุขประชา จำกัด (มหาชน) ด้วยทุนจดทะเบียน 500 ล้านบาท โดยให้การเคหะฯฯถือหุ้น 49% ที่เหลือเป็นบริษัทเอกชนที่อยู่ใน Ecosystem ของการพัฒนาอสังหาฯเพื่อสังคม สร้างบ้าน-สร้างอาชีพ พร้อมเดินหน้าลงทุนพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และกลุ่มเปราะบางตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติต่อไป

“การจัดตั้งบริษัทลูกในครั้งนี้ถือเป็นการปรับโครงสร้างองค์กรในทางอ้อม ในอนาคตการเคหะฯจะเป็นบริษัทแม่ที่รับนโยบายมาให้บริษัทลูกเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการของการเคหะฯฯ มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น ทันต่อสถานการณ์ในการแก้ปัญหาให้กับผู้ที่ต้องการที่อยู่อาศัยในแต่ละพื้นที่ และที่สำคัญยังช่วยลดการใช้งบประมาณของภาครัฐด้วย” นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าว

การจัดตั้งบริษัท เคหะสุขประชาในครั้งนี้ การเคหะฯจะเข้าไปถือหุ้น 49% และให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นอีก 51% แต่ละบริษัทจะถือหุ้นได้ไม่เกิน 15% โดยแบ่งเป็น 10 กลุ่มธุรกิจ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง ค้าปลีก เกษตรสุขภาพ ประกันภัย อุตสาหกรรม เป็นต้น

ทั้งนี้ เพื่อให้รองรับกับแนวคิดการพัฒนาโครงการเคหะสุขประชาที่ทำบ้านเช่าพร้อมกับอาชีพใน 6 กลุ่ม ได้แก่ ตลาดสด มินิมอลล์  อุตสาหกรรมเบา เกษตรปศุสัตว์ เกษตรกสิกรรม และการบริการ ทุกคนที่เข้ามาเช่าบ้านในโครงการสุขประชาก็จะมีอาชีพรองรับใน 6 กลุ่มนี้

“เราดึงเอกชนเข้ามาร่วมทุนเพื่อเติมศักยภาพในด้านอาชีพให้กับแต่ละโครงการ โดยมีข้อตกลงกับบริษัทที่จะเข้ามาร่วมทุน คือ บริษัทลูกจะทำเพื่อสังคมเป็นหลัก เพราะทุกบริษัทต้องมีการทำ CSR ซึ่งมันเป็นกฎของตลาดอยู่แล้ว การลงทุนในบริษัทลูกก็คือ CSR ทางอ้อม เพื่อช่วยทั้งคนที่มีรายได้น้อย กลุ่มคนเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คนไร้บ้าน ซึ่งตอนนี้จะได้มีการเจรจากับเอกชนที่จะเข้ามาร่วมทุนไว้แล้ว” นายทวีพงษ์กล่าว

หลังจากครม.อนุมัติ จะใช้เวลาในการจัดตั้งบริษัทลูกอีกประมาณ 1-2 เดือน หลังจากนั้นก็จะเริ่มขับเคลื่อนตามภารกิจทันที โดยบริษัทลูกจะมีภารกิจอยู่ 5 เรื่อง ก็คือ 1. การก่อสร้าง 2. การระดมทุน 3. การสร้างอาชีพ 4.โลจิสติกส์ และ 5.เรื่องของการทำธุรกิจ

แต่ถ้าเป็นโครงการที่การเคหะฯดำเนินการเองจะทำใน 2 ส่วนก็คืองานก่อสร้างและระดมทุน ส่วนบริษัทลูกก็จะเข้ามาช่วยทำใน 3 ส่วนที่เหลือในรูปแบบของการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP)

ขณะที่นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บริษัท เคหะสุขประชา จะเป็นกลไกในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ภาคที่อยู่อาศัย รวมทั้งยกระดับเศรษฐกิจในครัวเรือนผู้มีรายได้น้อยในชุมชน โดยจะดำเนินการดังนี้

1.พัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ภาคที่อยู่อาศัย โดยจัดทำโครงการบ้านเช่า ภายใต้โครงการเคหะสุขประชา ได้ตั้งเป้าการพัฒนาใน 4 ปี (2565-2568) จำนวน 100,000 หน่วย แบ่งเป็น ปี 2565-2566 ปีละ 30,000 หน่วย และปี 2567-2568 อีกปีละ 20,000 หน่วย จัดสร้างที่อยู่อาศัยออกใน 4 รูปแบบ ครอบคลุม 4 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่

  • กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 16 ตารางวา  พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 1,500 บาทต่อเดือน
  • กลุ่มผู้มีสถานะโสด แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 16 ตารางวา  พื้นที่ใช้สอย 30 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 2,000 บาทต่อเดือน
  • กลุ่มครัวเรือนใหม่ แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 17.5 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 40 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 2,500 บาทต่อ เดือน
  • กลุ่มครอบครัว แบบบ้านแฝดชั้นเดียว/2ชั้น ที่ดิน 20 ตารางวา พื้นที่ใช้สอย 50 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 3,500 บาทต่อเดือน ประมาณการรายรับภายใน 4 ปี (ปี 2565-2568) 60,000 ล้านบาท

2.รับซื้อทรัพย์สินมาบริหารการขาย โดยการรับซื้ออาคารคงเหลือจากการเคหะฯ เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร ประมาณ 18,000 หน่วย ภายใน 2 ปี (2564-2566) ปีละ 9,000 หน่วย นำมาบริหารการขายภายใน 4 ปี ในปี 2565 จำนวน 7,200 หน่วย ปี 2566 จำนวน 6,000 หน่วย ปี 2567 จำนวน 1,800 หน่วย และปี 2568 จำนวน 3,000 หน่วย ประมาณการมูลค่าการขายรวม 10,890 ล้านบาท

3. การพัฒนาและบริหารชุมชน โดยจะบริหารชุมชนของโครงการบ้านเช่า และรับจ้างดูแลโครงการตามแผนแม่บท รวมจำนวน 200,000 หน่วย โดยจะคิดค่าดำเนินการพัฒนาธุรกิจร้อยละ 5 ของรายได้ 40,000 บาทต่อครอบครัว ประมาณการรายรับ 2,400 ล้านบาทต่อปี

4. พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน (เศรษฐกิจสุขประชา) ในพื้นที่โครงการบ้านเช่า ประมาณ 330 โครงการ อาทิ ตลาดนัดชุมชน ร้านสะดวกซื้อ เกษตรอินทรีย์ เป็นต้น ประมาณการรายรับ 2,400 ล้านบาทต่อปี

5. บริหารทรัพย์สินรอการพัฒนา Sunk cost จำนวน 94 แปลง (4,571 ไร่) มูลค่ารวม 12,500 ล้านบาท ประมาณการรายได้พึงรับ 125 ล้านบาท/ปี

นายทวีพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ถ้าบริษัทลูกสามารถจัดตั้งได้เสร็จภายในเดือนธันวาคม ก็จะสามารถเริ่มพัฒนาโครงการเคหะสุขประชาในปี 2565 ได้ประมาณ 30,000 หน่วย ซึ่งในเบื้องต้นของการดำเนินงานจะใช้แหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงิน และในอนาคตจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อระดมทุนสำหรับการพัฒนาโครงการในอนาคต 100,000 หน่วย เป็นเงิน 60,000 ล้านบาท

 

เงินจากการระดมทุนจะนำมาใช้พัฒนาโครงการ แก้ปัญหาสินทรัพย์ที่มีปัญหาและทรัพย์สินคงเหลือของการเคหะฯ นอกจากนี้ การจัดตั้งบริษัทในรูปแบบของบริษัทมหาชน ก็เพื่อให้สามารถตรวจสอบการทำงานได้อย่างโปร่งใสและสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนรายได้ของบริษัทจะมาจากหลักการที่บอกว่า เงินจำนวนมากมาจากคนจำนวนมาก ก็สามารถทำให้มีรายได้ที่มากขึ้น ดังนั้นถ้าเรามีของในปริมาณที่มากพอก็สามารถที่จะสร้างรายได้ได้เพียงพอ ซึ่งโดยหลักการเราก็ต้องสร้างให้ได้จำนวนมาก ตัวเลข 20,000 หน่วยก็มาจากการสร้างที่อยู่อาศัยที่กระจายไปในทั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 300 หน่วย

ส่วนหนึ่งเราก็พบว่า มีพี่น้องที่ประสบภาวะวิกฤติจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้กลับไปอยู่ต่างจังหวัดและไม่อยากจะกลับมาทำงานในเมืองอีกแล้ว แต่ก็ยังไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าเราสามารถสร้างกระบวนการนี้ให้เกิดขึ้นก็จะเกิดการจ้างงานเกิดระบบหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด

ถ้าเราทำสำเร็จในแต่ละจังหวัดก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป้าหมายเราคือ 1 แสนหน่วย นอกจากนี้ ยังมีงานตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อีกกว่า 2.2 ล้านหน่วยที่จะต้องดำเนินการต่อไปในระยะยาว

การตั้งบริษัทลูกครั้งนี้จะทำให้การเคหะฯ สามารถยกระดับการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งเรื่องของจำนวนและคุณภาพชีวิต และสามารถเป็นที่พึ่งด้านที่อยู่อาศัยของคนมีรายได้น้อย กลุ่มคนด้อยโอกาส ได้ดีกว่าที่ผ่านมาหรือไม่ต้องติดตามครับ