fbpx
คอนโด วันเดอร์ เกษตร

ลูกค้าคนเดิมกับความต้องการใหม่ หลังคลายล็อคดาวน์

รายงานจาก ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ ระบุว่า จากการที่หลายธุรกิจค่อยๆ กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จากภาครัฐ ขณะที่ตลาดอสังหาริมทรัพย์เองก็จะเริ่มมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นเช่นกัน แต่การกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งนั้น จะมาพร้อมกับการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ที่ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากรูปแบบการใช้ชีวิตในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานเพียงพอสำหรับการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คนในระยะยาว

เมื่อเปิดต้อนรับลูกค้าหรือผู้เช่าอีกครั้ง เราอาจจะพบกับลูกค้าคนเดิมที่มาพร้อมกับความต้องการใหม่ๆ

สำหรับตลาดที่พักอาศัยหลายคนใช้เวลาตลอด 24 ชั่วโมงอยู่ที่บ้านในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้รายละเอียดหลายอย่างในที่พักอาศัย ไม่ว่าจะในคอนโดมิเนียมหรือบ้านกลับมีความสำคัญขึ้นมาก พื้นที่ที่เคยโฆษณาว่าเป็น “พื้นที่เอนกประสงค์” ในบ้านจะไม่ถูกมองเป็นแค่พื้นที่ว่างอีกต่อไป แต่จะถูกให้ความสำคัญมากขึ้นว่าสามารถจะใช้เป็น “โฮมออฟฟิศ” ได้หรือไม่ ซึ่งควรแยกออกจากสิ่งรบกวน พร้อมจัดพื้นที่ให้เหมาะสมสำหรับการทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่พื้นที่ครัวก็จะมีความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากบางคนอาจได้ค้นพบความสามารถในการเป็นเชฟฝีมือเยี่ยมในช่วงล็อกดาวน์

“การออกแบบบ้านยุคต่อไปจะให้ความสำคัญมากขึ้นกับห้องทำงาน ห้องเอนกประสงค์สำหรับครอบครัว ห้องเด็ก ห้องครัว และพื้นที่เก็บของ ขณะที่สัตว์เลี้ยงก็ได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นเดียวกันกับกีฬา โครงการที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยงเริ่มเป็นที่ต้องการมากขึ้น และสิ่งอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับกีฬา เช่น ห้องออกกำลังกาย เลนจักรยาน ลู่วิ่งจ็อกกิ้ง สระว่ายน้ำ และอื่น ๆ ก็ถูกให้ความสำคัญมากขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ เมื่อสำนักงานขายเปิดได้เต็มรูปแบบแล้ว พนักงานขายจะต้องพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อรองรับผู้ซื้อที่มีความต้องการที่ซับซ้อนขึ้น” นายรัฐวัฒน์ คูวิจิตรสุวรรณ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ กล่าว

ในตลาดค้าปลีก ลูกค้าที่จะทยอยกลับมาใช้บริการจะเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อ 2 ปีก่อนอย่างมาก ในส่วนของพฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอยเห็นได้ชัดว่าวิถีชีวิตที่ส่งเสริมสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดีเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในยุค Next Normal ซึ่งส่งผลต่อความต้องการของผู้บริโภคในด้านสินค้าและบริการ

new normal
ภาพโดย StockSnap จาก Pixabay

 

“เห็นได้ชัดว่าธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะถูกบีบให้ปรับตัวให้เข้ากับบริการจัดส่งอาหารที่เติบโตขึ้นอย่างมาก แต่ก็ใช่ว่าธุรกิจอื่น จะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เช่น การให้บริการสตรีมภาพยนตร์ก็ส่งผลอย่างมากต่อมุมมองของคนที่ชอบดูหนังที่มีต่อโรงภาพยนตร์ในเวลานี้ เพราะรู้สึกว่าการดูหนังที่บ้านในชุดนอนนั้นสะดวกสบายกว่า ร้านค้าอุปกรณ์ไอทีจะมีความสำคัญมากขึ้นในพื้นที่ค้าปลีกหรือไม่ ชุดกีฬาสำหรับกลางแจ้งหรือในร่มจะได้รับความนิยมมากกว่ากัน เครื่องสำอางที่ใช้แต่งหน้าจะขายดีพอๆ กับผลิตภัณฑ์ดูแลผิวพรรณหรือไม่ นี่คือคำถามที่ผู้ค้าปลีกจะต้องเผชิญ” นายรัฐวัฒน์กล่าวเสริม

อาคารสำนักงานเป็นอีกตลาดหนึ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ทั้งภายนอกและภายใน จากรายงานการสำรวจเกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่สำนักงานในปี 2564 โดยแผนกวิจัย ซีบีอาร์อี ระบุว่า มุมมองที่บริษัทต่างๆ มีต่อรูปแบบการทำงานแบบไฮบริดเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับผลสำรวจในปี 2563 จากกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจซึ่งมาจากบริษัทข้ามชาติในเอเชียแปซิฟิกมากกว่า 100 บริษัท พบว่า มีเพียง 26% เท่านั้นที่ระบุว่าพนักงานจะกลับมาทำงานเต็มเวลาในสำนักงานเหมือนเดิม เปรียบเทียบกับ 37% ในปีที่แล้ว

“การปรับนโยบายให้ทำงานจากที่บ้านได้ ทำให้องค์กรต่างๆ กลับมาคิดทบทวนเรื่องการออกแบบพื้นที่สำนักงานใหม่ๆ และให้ความสำคัญกับเรื่องการมีส่วนร่วมและการทำงานร่วมกันของพนักงาน ซึ่งหมายความว่าการใช้พื้นที่ภายในสำนักงานจะเปลี่ยนไป และพื้นที่ใหม่ที่ส่งเสริมการทำงานร่วมกันจะมีความสำคัญมากขึ้น” นายรัฐวัฒน์ ให้ความเห็น

การที่ธุรกิจเริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง ผู้ให้บริการต่าง ๆ จะต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่างเพื่อให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป การเรียนรู้วิธีรับมือกับ Next Normal จะเป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ยังคงไม่แน่นอนและอาจเปลี่ยนแปลงได้ในเวลาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ การมีแผน A B และ C นั้นมีความจำเป็นต้องเตรียมให้พร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้