กระทรวงคมนาคม อัพเดตแผนงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถนน-ระบบราง ปี 2564 และแผนขับเคลื่อนปี 2565
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานของกระทรวงในปี 2564 และแผนขับเคลื่อนในปี 2565 โดยมีโครงการสำคัญๆ ในส่วนของงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางถนนที่มีวงเงินลงทุน 2.6 แสนล้านบาท และระบบราง เงินลงทุน 1.1 ล้านล้านบาท ดังนี้
-มอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา ในปี 2564 ดำเนินการคืบหน้าไป 94% คาดว่าในปี 2565 จะดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้ในปี 2566
-มอเตอร์เวย์สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ในปี 2564 ดำเนินการคืบหน้า 63% ในปี 2565 จะเร่งรัดการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ และจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566
นอกจากนี้ ในปี 2565 กระทรวงคมนาคมยังมีนโยบายต่อเติมโครงข่ายทางพิเศษเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค ที่จะการเริ่มการก่อสร้างตามแผนงบประมาณ รวมระยะทาง 203.68 กม. วงเงินลงทุน 261,854 ล้านบาทโดยมีโครงการที่จะดำเนินการ เช่น
- มอเตอร์เวย์ M82 สายบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ระยะทาง 25 กม. วงเงิน 32,220 ล้านบาท
- มอเตอร์เวย์ M9 วงแหวนตะวันตก (ยกระดับ) ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 36 กม. วงเงิน56,035 ล้านบาท
- มอเตอร์เวย์ M7 ต่อขยายเชื่อมต่อสนามบินอู่ตะเภา ระยะทาง 1.92 กม. วงเงิน 4,508 ล้านบาท
- มอเตอร์เวย์ M5 ต่อขยายยกระดับอุตราภิมุข (ดอนเมืองโทลเวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 27,800 ล้านบาท
- ทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ตอน N1 และ N2 ระยะทาง 18.4 กม. วงเงิน 37,870 ล้านบาท
-การจัดทำแผนแม่บท MR-Map ซึ่งเป็นแผนแม่บทของการเดินทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศทั้งด้านเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก ด้วยโครงข่ายรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ โดยในปี 2564 ได้ทำการศึกษาแผนแม่บทแล้วเสร็จ และได้เริ่มการศึกษาออกแบบเบื้องต้นโครงการนำร่อง 4 โครงการ ประกอบด้วย
- MR2 กาญจนบุรี (ด่านเจดีย์สามองค์)-อุบลราชธานี (สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6) ช่วงนครราชสีมา -อุบลราชธานี ระยะทาง 440 กม.
- MR5 ชุมพร-ระนอง ตามแนวการเชื่อมต่อโครงการ Landbridge ระยะทาง 108 กิโลเมตร
- MR8 หนองคาย (ด่านหนองคาย)-แหลมฉบัง ช่วงนครราชสีมา-แหลมฉบัง ระยะทาง 288 กิโลเมตร
- MR10 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ระยะทางรวม 319 กิโลเมตร
ในปี 2565 จะศึกษาความเหมาะสมเส้นทางที่เหลืออยู่ให้ครบทั้ง 10 เส้นทาง ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการเดินทางทางรางและทางบกในภูมิภาคเอเซียนต่อไปในอนาคต”
-การพัฒนาทางพิเศษในจังหวัดภูเก็ต เส้นทางเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้-ป่าตอง ในช่วงกะทู้-ป่าตอง ระยะทาง 3.98 กม. วงเงินลงทุน 14,470 ล้านบาท จะเริ่มเวนคืนพร้อมดำเนินการคัดเลือกเอกชน ในปี 2565 และสามารถก่อสร้างได้ในปี 2566 เพื่อเปิดให้บริการในปี 2570
ในเส้นทางกะทู้-ป่าตอง จะช่วยให้การเดินทางจากสนามบินภูเก็ตไปสถานที่ท่องเที่ยวที่กระทู้-ป่าตอง ลดลงมากโดยใช้เวลาไม่เกิน 30 นาที จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้แหล่งท่องเที่ยวในภูเก็ต และเป็นการลดปัญหาการจราจร และอุบัติเหตุจากการเดินทาง
ส่วนช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ ระยะทาง 30 กม. วงเงินลงทุน 30,456 ล้านบาท จะเริ่มศึกษาความเหมาะสมโครงการในปี 2565 ออกแบบรายละเอียดในปี 2567 และเริ่มก่อสร้างในปี 2568 เพื่อเปิดให้บริการโครงข่ายทางพิเศษที่ครบสมบูรณ์ ในปี 2571
-โครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (Landbridge ชุมพร-ระนอง) เป็นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ระยะทาง 90 กม. เพื่อช่วยลดเวลาในการขนส่งทางน้ำจากที่ต้องไปใช้ช่องแคบมะละกา ซึ่งจะทำให้ไทยมีความสามารถที่จะเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำในอนาคต
ในปี 2564 ได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และปี 2565 ออกแบบ Conceptual ท่าเรือ รวมทั้งออกแบบ Definitive แนวเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างท่าเรือทั้งสองฝั่ง ซึ่งประกอบด้วยทางหลวงพิเศษ รถไฟทางคู่ และท่อส่งน้ำมัน คาดว่าจะสามารถเริ่มการพัฒนาโครงการได้ในปี 2568 และเปิดโครงการได้ในช่วงปี 2573
-การแก้ไขปัญหาการจราจรบนทางด่วน ขณะนี้ได้ทำการศึกษา วิเคราะห์ปัญหาการจราจรบนทางด่วนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และจะเริ่มศึกษาความเหมาะสมของโครงการต่างๆ เรียงลำดับความสำคัญก่อนหลังของแต่ละโครงการ เบื้องต้นดำเนินการไปได้แล้ว 80% โดยมีกรอบในการดำเนินการ 2 ปี
-การติดตามโครงการขนาดใหญ่ ในปี 2564 สามารถแก้ปัญหาความล่าช้าของการบริหารโครงการขนาดใหญ่ได้ทั้งสิ้น 5 โครงการ ยกตัวอย่างเช่น ถนนพระราม 2 ขณะนี้สามารถเปิดผิวจราจรด้านล่าง 14 ช่องทางได้ครบ 100% และกำลังอยู่ระหว่างก่อสร้างทางยกระดับจากพระราม 3 เชื่อมต่อกับมอเตอร์เวย์
นอกจากนี้ จะเสนอครม.ภายในปีนี้ เพื่อขออนุมัติในการนำเงินกองทุนมอเตอร์เวย์มาก่อสร้างส่วนต่อขยายจากบางขุนเทียนไปจนถึงบ้านแผ้ว ส่วนในปี 2565 จะนำผลสำเร็จในการบริหารโครงการขนาดใหญ่ไปใช้กับโครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคมอีก 22 โครงการ
-โครงการเติมเต็ม Missing Links เชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีอยู่หลายโครงการที่จะดำเนินการในปี 2565 เพื่อขยายการค้าขายชายแดน เช่น
- ถนนเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จังหวัดนครพนม ระยะทาง 23.102 กม. ค่าก่อสร้าง 1,600 ล้านบาท
- สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) จังหวัดอุบลราชธานี ระยะทาง 26 กม. วงเงินรวม 4,765 ล้านบาท
- ทางหลวงหมายเลข 348 และ 3486 ช่วงเขาช่องตะโก จังหวัดสระแก้ว ระยะทาง 49 กม. ที่อยู่ระหว่างการออกแบบ เป็นต้น
สำหรับผลการดำเนินงานและแผนงานโครงการขนส่งทางราง มีโครงการที่น่าสนใจดังนี้
-รถไฟฟ้าในกทม.และปริมณฑล ในปี 2564 รถไฟฟ้าสายสีแดง(บางซื่อ-รังสิต) ได้เปิดทดลองใช้ไปแล้วจะครบกำหนดในเดือนพ.ย. โดยจะมีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการประมาณปลายเดือนพ.ย.
“สำหรับค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีแดงจะต้องมีความเป็นธรรม และช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนในช่วงที่ประสบปัญหาจากโควิด-19 ได้”
ในปี 2565 จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ในบางส่วน และเริ่มก่อสร้างใหม่ 2 เส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์) และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) และนำเสนอ ครม.ให้อนุมัติ อีก 2 โครงการ 5 เส้นทาง วงเงินลงทุนรวม 455,255 ล้านบาท ได้แก่
- รถไฟฟ้าสายสีแดงฝั่งเหนือ รังสิต-ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
- รถไฟฟ้าสายสีแดงฝั่งใต้ บางซื่อ-หัวลำโพง
- รถไฟฟ้าสายสีแดงฝั่งตะวันตก ตลิ่งชัน-ศาลายา/ตลิ่งชัน-ศิริราช
- รถไฟฟ้าสายสีแดงฝั่งตะวันออก บางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก
- รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)
-รถไฟทางคู่ ในปี 2564 สามารถเปิดให้บริการได้ 2 เส้นทาง และเร่งรัดก่อสร้างอยู่ 5 เส้นทาง ส่วนในปี 2565 จะแล้วเสร็จ 4 เส้นทาง และก่อสร้างโครงการใหม่อีก 2 เส้น และอนุมัติทางคู่ระยะ 2 อีก 7 โครงการ ระยะทาง 1,483 กม. วงเงินลงทุนรวม 241,822 ล้านบาท
-รถไฟฟ้าล้อยางในภูมิภาค กำลังศึกษาและทบทวนรูปแบบของระบบขนส่งมวลชนที่ภูเก็ต โดยในปี 2565 จัดทำรายงาน PPP เพื่อผลัดดันไปสู่ขั้นตอนการประกวดราคาต่อไป นอกจากนี้จะต้องมีการศึกษาในเมืองใหญ่ เช่น พิษณุโลก ขอนแก่น อุดรธานี เชียงใหม่
เพราะโจทย์ของเราคือ เมื่อดำเนินการแล้วจะต้องมีความคุ้มค่าในการลงทุน และไม่ผลักภาระให้กับประชาชนในเรื่องของค่าโดยสาร จึงต้องไปดูในเรื่องของปริมาณผู้โดยสารว่ามีความสอดคล้องเหมาะสมอย่างไร
-รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 ขณะนี้ดำเนินการแล้วเสร็จ 1 สัญญา ลงนามงานโยธาอีก 10 สัญญา ในปี 2565 จะเร่งรัดก่อสร้างระยะที่ 1 และขออนุมัติ ระยะที่ 2 ส่วนรถไฟความเร็วสูง 3 สนามบิน วงเงินลงทุนรวม 403,957 ล้านบาท จะเริ่มงานก่อสร้าง หลังส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนได้ตามแผน
-การพัฒนาพื้นที่รอบสถานี รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ (TOD) ในปี 2564 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาแล้วเสร็จ โดยมีพื้นที่ศักยภาพในการพัฒนา TOD ทั่วประเทศ 177 แห่ง วงเงินลงทุน 6.4 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ จะนำเสนอแผนพัฒนา TOD ให้ ครม. พิจารณาเห็นชอบกรอบในการดำเนินงาน ในปี 2565-2566 จะผลักดันการพัฒนาที่ดิน 3 พื้นที่ ได้แก่ สถานีรถไฟธนบุรี เนื้อที่ 21 ไร่ สถานีรถไฟหัวหิน เนื้อที่ 575 ไร่ และสถานีกลางบางซื่อ แปลง A และ E รวมเนื้อที่ 160 ไร่
นอกจากงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางถนนและระบบรางแล้ว ยังมีงานในส่วนอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น
– แผนเชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่ระบบรถไฟฟ้า ในปี 2564 ขสมก. ได้ปรับเส้นทางเพื่อเป็น Feeder รถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้ว 62 เส้นทาง และจะเพิ่มเติมการเชื่อมต่อสถานีรถไฟรังสิตเพิ่มเติมอีก 3 เส้นทาง ในปี 2565
-แผนการเชื่อมต่อท่าเรือกับสถานีรถไฟฟ้า ในปี 2565 -2566 จะเชื่อมต่อท่าเรือกับสถานีรถไฟฟ้า ครบ 12 จุด ในพื้นที่กรุงเทพและปริมณฑล
-เร่งพัฒนาระบบตั๋วร่วมของรถไฟฟ้า ในปี 2565 จะเริ่มทดลองที่เรียกว่าบัตร EMV ก็คือใช้บัตรอะไรก็ได้ในการเดินทางข้ามสายระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงม่วง ก่อนที่จะใช้พร.บ.ของตั๋วร่วม
-พัฒนาระบบผ่านทางด่วนทางพิเศษแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow ปี 2564 ได้ทดสอบระบบบนมอเตอร์เวย์สาย 9 จำนวน 4 ด่าน และปี 2565 เปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบจำนวน 7 ด่าน
-การจัดระเบียบรถยนต์จอดทิ้งริมทาง เป็นปัญหาที่ยังไม่มีการดำเนินการ ได้มอบหมายให้กรมการขนส่งทางบกไปจัดทำแผน และโครงการนำร่อง ซึ่งในต่างประเทศจะใช้วิธีการเก็บภาษีตั้งแต่ตอนซื้อรถ เมื่อใช้รถไปถึงเวลาที่ต้องหยุดการใช้ต้องไปแจ้งที่กรมการขนส่งเพื่อที่รับภาษีคืน ถ้าไม่แจ้งก็จะใช้เงินภาษีนั้นในการบริหารจัดการรถยนต์ที่ไปจอดทิ้ง
-ระบบติดตามตรวจสอบพฤติกรรมการขับขี่ ซึ่งในปี 2564 ได้เตรียมความพร้อมร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้แล้ว ในปี 2565 จะสามารถนำมาตรการหักแต้มใบขับขี่มาใช้งานได้จริง
-พัฒนาท่าเรือยอร์ชคลับ ในปี 2565 จะศึกษาความเป็นไปได้และรูปแบบบการลงทุน และปี 2566 พัฒนาท่าเรือที่เหมาะสมให้เป็นยอร์ชคลับ
-การพัฒนาท่าอากาศยาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ/เพิ่มประสิทธิภาพ ในปี 2565 จะดำเนินการเร่งพัฒนา 8 ท่าอากาศยาน วงเงินลงทุนรวม 58,364 ล้านบาท