วนลูปกลับมาอีกรอบแล้วครับกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะจัดในปี 2565 เต็ม 100% โดยในส่วนของกรุงเทพมหานครได้ขยายเวลาการจัดเก็บจากภายในเดือนเมษายน 2565 ไปเป็นภายในเดือนมิถุนายน 2565 ระหว่างนี้ประชาชนคนกทม. ต้องตรวจสอบดูให้ดีว่ามีไปแจ้งประเมินภาษีมาถึงแล้วหรือยัง เพราะตามกำหนดที่เลื่อนมาจะต้องแจ้งให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทราบว่าต้องเสียภาษีเท่าไหร่ภายในเดือนเมษายน 2565 ส่วนใครที่ประสงค์จะผ่อนส่ง 3 งวด ทางกทม.ผ่อนปรนให้ผ่อนงวดที่ 1 ภายในเดือนมิถุนายน งวดที่ 2 ภายในกรกฎาคม และงวดที่ 3 ภายในเดือน 3 ภายในเดือนสิงหาคม ส่วนจังหวัอื่นที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะต้องจ่ายภาษีที่เก็บเต็ม 100% ภายในเดือนเมษายน 2565
เชื่อว่าหลายคนคงจะจุกกับภาษีที่เก็บเต็มอัตรา และคงต้องหาช่องทางที่จะลดภาระการจ่ายภาษี โดยเฉพาะที่ดินรกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ยิ่งถือครองต่อไปก็ยิ่งจ่ายภาษีแพงขึ้นเรื่อยๆ สูงสุดไปหยุดที่ 3% ของราคาประเมิน ซึ่งถือว่าเอาเรื่องอยู่มิใช้น้อย ปีนี้เสียแล้วก็คงต้องเสียไปก็ต้องกัดฟันจ่ายกันไปตามจำนวนเต็ม แล้วค่อยมาดูว่าจะทำอย่างไรให้ที่ดินรกร้างที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เปลี่ยนไปเป็นที่ดินที่ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษี หรือจ่ายภาษีลดน้อยลง ซึ่งทางออกที่เป็นไปได้ก็คือการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เป็นที่ดินทำเกษตรกรรม
โดยในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคมของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาของการเตรียมฐานข้อมูลที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง แต่งตั้งพนักงานสำรวจ ประเมิน และจัดเก็บภาษี ทำการสำรวจและจัดทำบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม ประกาศและส่งให้ประชาชนตรวจสอบและขอแก้ไขก่อนที่จะแจ้งการประเมินภาษีในเดือนมกราคมและเริ่มให้ประชาชนชำระภาษีไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายนของทุกปี
ในระหว่างปีถ้าเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างคิดจะเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินไปจากเดิมในช่วงเวลา 3 เดือนสุดท้ายของปี ก็จะต้องดำเนินการให้เสร็จเรียบร้อย เพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ได้มาสำรวจและอัพเดตบัญชีรายการที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกันใหม่ก่อนที่จะมีการประเมินภาษีที่จะเก็บในปีต่อไป โดยเฉพาะคนที่ต้องการเปลี่ยนที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์หรือที่รกร้างให้เป็นที่ดินเกษตร เพื่อให้จ่ายภาษีน้อยลง
เอาเป็นว่าในเวลานี้ ถ้าใครอยากจะเปลี่ยนที่รกร้างให้เป็นที่เกษตร เพื่อประโยชน์ทางด้านภาษีก็สามารถทำได้ เพราะจริงๆ วัตถุประสงค์หนึ่งของกฎหมายคือต้องการให้เจ้าของที่ดินนำที่ดินมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การที่ประชาชนคนทั่วไปที่มีที่ดินไม่กี่ไร่จะเปลี่ยนที่ดินที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาเป็นที่ดินเกษตรกรรม เพื่อให้จ่ายภาษีน้อยลงก็ไม่เห็นจะผิดตรงไหน
ทราบเช่นนี้แล้ว ถ้าใครจะเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินจากที่ดินรกร้างให้เป็นที่เกษตร เพื่อให้ทันรอบภาษีที่ต้องจ่ายในปีหน้าก็ต้องรีบเลย เพราะการเปลี่ยนไม่ใช่แค่เอาต้นไม้มาปลูกสองสามต้นแล้วจะกลายเป็นที่ดินเกษตรกรรมได้ซะที่ไหน เขามีระเบียบปฏิบัติให้เข้าหลักเข้าเกณฑ์ที่กำหนดเอาไว้ชัดเจนว่า ปลูกต้นอะไร ต้องมีจำนวนกี่ต้นต่อเนื้อที่ 1 ไร่ (และต้องปลูกกระจายทั่วทั้งบริเวณ) ถึงจะถือว่า เป็นการใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม
ตามประกาศกระทรวงการคลังและกระทรวงมหาดไทยเรื่องหลักเกณฑ์การใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภค จำหน่าย หรือใช้งานในฟาร์ม แต่ไม่รวมการทำการประมงและการทอผ้า
ส่วนการปลูกพืชผลเกษตรก็ได้กำหนดจำนวนต้นต่อไร่เอาไว้ เช่น ถ้าเป็นกล้วย ไม่ว่าจะกล้วยหอม กล้วยไข่ กล้วยน้ำว้า ต้อง 200 ต้น/ไร่ มะม่วง มะพร้าว เงาะ 20 ต้น/ไร่ มะละกอ ปลูกแบบยกร่อง 100 ต้น/ไร่ ปลูกแบบไม่ยกร่อง 175 ต้น/ไร่ มะนาว ต้อง 50 ต้น/ไร่ ฝรั่ง ปลูก 45 ต้น/ไร่
ผลไม้ตระกูลส้มต่างๆ ได้แก่ ส้มโอ ส้มโอเกลี้ยง ส้มตรา ส้มเขียวหวาน ส้มจุก ต้องปลูก 45 ต้น/ไร่ ขนุน ต้องปลูก 25 ต้น/ไร่ แพสชั่นฟรุ๊ต 400 ต้น/ไร่ หน่อไม้ไผ่ตง 25 ต้น/ไร่ ลางสาด ลองกอง 45 ต้น/ไร่ ยางพารา 80 ต้น/ไร่ ลิ้นจี่ ลำไย 20 ต้น/ไร่ มังคุด 16 ต้น/ไร พุทรา 80 ต้น/ไร่ เป็นต้น
ถ้าคิดจากอัตราภาษีสูงสุดที่ดินที่เกษตรกรรมจะเสียภาษีในอัตราล้านละ 1,500 บาท แถมถ้าถือครองโดยบุคคลธรรมดายังได้ยกเว้นภาษี สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาทอีก ส่วนที่ดินรกร้างจะเสียภาษีในอัตราสูงสุด ล้านละ 12,000 บาท ไปจนถึง 30,000 บาทเลยทีเดียว
เมื่อทราบเช่นนี้แล้วก็รีบเปลี่ยนซิครับจะรออะไร!
อ่านประกอบ
-เปลี่ยนที่รกร้างเป็นที่ดินเกษตร ด้วยไม้มีราคา 58 สายพันธุ์
-ตัวอย่างการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง