fbpx
อีอีซีน่าอยู่

อีอีซี เตรียมเดินหน้า TOD รถไฟความเร็วสูง เม็ดเงินลงทุน 1 แสนล้าน

อีอีซี วางแผน 5 ปี ระยะที่ 2 เม็ดเงินลงทุนสะพัดไม่ต่ำกว่า 2.2-2.5 ล้านล้าน เดินหน้าพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง (TOD) เม็ดเงิน 1 แสนล้าน เมืองการบินอีก 1 แสนล้าน ปักหมุดพัฒนาเมืองใหม่ พร้อมเร่งรัดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่อีกปีละ 1.5 แสนล้าน

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบาย เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวสรุปผลการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2564 โดยมีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ว่า การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ในครึ่งแรกของปี 2564 มีทั้งสิ้น 232 โครงการ มูลค่าลงทุน 126,643 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าการลงทุน 82,159 ล้านบาท

“การเพิ่มขึ้นของการลงทุนในอีอีซี แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวและกำลังจะก้าวต่อไปข้างหน้า โดยจำนวนโครงการที่ขอส่งเสริมการลงทุนสูงสุดคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ชิ้นส่วน ส่วนเงินลงทุนสูงสุดคือ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (FDI) คิดเป็น 64% ของคำขอลงทุนในอีอีซี ขณะที่นักลงทุนที่สนใจมากที่สุดคือ ญี่ปุ่น จีน ฮ่องกง ตามลำดับ”

ทั้งนี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้ประเมินว่า จนถึงสิ้นปีการลงทุนในพื้นที่อีอีซีน่าจะถึง 200,000 ล้านบาท หรือ 250,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ดังนั้นในระยะเวลา 3 ปี 8 เดือนจนถึงเดือนกันยายน 2564 ที่อีอีซีทำงานมา ได้อนุมัติการลงทุนไปแล้ว 1.6 ล้านล้านบาท จากแผน 5 ปี (2561-2565) ได้วางเป้าหมายไว้ที่ 1.7 ล้านล้านบาท

ถ้า BOI สามารถเร่งรัดการลงทุนจนถึงสิ้นปีได้ 200,000-250,000 ล้านบาท ตามที่คาดการณ์เอาไว้ อีอีซีจะบรรลุเป้าหมาย 1.7 ล้านล้านบาทได้ก่อนเวลา โดยใช้เวลา 4 ปีจาก 5 ปีตามเป้าหมายที่วางไว้

นอกจากนี้ ในที่ประชุมได้มีข้อเสนอในหลายๆ เรื่องที่สำคัญคือ แผนการลงทุนในระยะต่อไปของอีอีซี ตั้งแต่ปี 2565-2569 น่าจะกำหนดเงินลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 2.2-2.5 ล้านล้านบาท เป็นส่วนของการลงทุนเมืองการบินภาคตะวันออก 100,000 ล้านบาท การลงทุนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงหรือที่เรียกว่า TOD: Transit Oriented Development อีก 100,000 ล้านบาท

เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายอีกปีละ 400,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนที่เป็นการลงทุนโดยพื้นฐานที่ BOI สามารถดำเนินการได้อยู่แล้วปีละ 250,000 ล้านบาท และจะเร่งรัดการลงทุนอีกปีละ 150,000 ล้านบาทในอุตสาหกรรมดังต่อไปนี้

  • อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ปีละ 40,000 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรม 5G Digital Electronics อีกปีละ 50,000 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่-สุขภาพ ปีละ 30,000 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมขนส่งโลจิสติกส์ ปีละ 30,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมการลงทุนโครงการเมืองใหม่ที่จะเกิดขึ้น และการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่ที่กำลังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และหลังจากโควิดจะเพิ่มมากขึ้นอีก

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการให้พิจารณาการลงทุนเพิ่มเติมในส่วนอื่นๆ อย่างเช่นในอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งกำลังมีแนวโน้มที่ดี
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้รับทราบ ร่างแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซี (ปี 2566-2570) โดยมีกรอบแนวคิด เน้นตลาดนำการผลิต (Demand Pull) ใช้เทคโนโลยีสร้างรายได้ (Technology Push) สร้างโอกาสการตลาดให้กับสินค้าเกษตรคุณภาพดี พร้อมเป็นต้นแบบการพัฒนาภาคเกษตรเข้าถึงตลาดสินค้ามูลค่าสูง

โดยเริ่มพัฒนา 5 คลัสเตอร์สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ทุเรียน มังคุด มะม่วง ประมงเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำทดแทนนำเข้า พืชอุตสาหกรรมชีวภาพ มันสำปะหลัง พืชสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร กัญชง กัญชา และเกษตรมูลค่าสูง โคเนื้อพรีเมียม ซึ่งแผนพัฒนาการเกษตรในอีอีซีตั้งเป้าหมายยกระดับรายได้ให้ชุมชนเกษตรกรในพื้นที่เทียบเท่ากลุ่มอุตสาหกรรม-บริการ พร้อมให้ GDP ภาคเกษตรในอีอีซีเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กบอ.ยังได้พิจารณา แผนการดำเนินงานด้านสิทธิประโยชน์ โดยขยายมาตรการสนับสนุนการลงทุนจากโครงการที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล สู่การให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษโดยเริ่มนำร่องที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) ให้เป็น พื้นที่ต้นแบบ (Sandbox)

รวมทั้งได้พิจารณา แผนดำเนินการโครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) กำหนดแผนปฏิบัติการ ปี 2564-2565 จำนวน 4 แผนหลัก คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ได้แก่ 1) จัดทำแผนการดำเนินโครงการ (Master Plan) 2) จัดทำแนวคิดออกแบบโครงการ (Conceptual Design) 3) วางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค และ 4) จัดทำแผนดึงดูดนักลงทุนและสิทธิประโยชน์

โดยตั้งเป้าหมายในไตรมาส 4 ปี 2564 จะทำความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ-เอกชน เพื่อศึกษาการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆ ของโครงการ พร้อมเจรจาร่วมกับบริษัท-หน่วยงานที่สนใจเข้าร่วมลงทุน และออกแบบรายละเอียดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคต่างๆภายในพื้นที่โครงการช่วงไตรมาส 1-2 ของปี 2565