fbpx
FB cover 12

5 มหาอำนาจอสังหาฯ ฝ่าวิกฤติโควิด-19

จากผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ประจำไตรมาสที่ 2 และ 6 เดือนแรกของปี 2564 พบว่า บริษัทอสังหาริมทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ที่มีธุรกิจหลักเป็นการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่ยังแอคทีฟอยู่จำนวน 33 บริษัท มีรายได้รวมกันในไตรมาสที่ 2 จำนวน 74,921 ล้านบาท และมีรายได้รวมกันในครึ่งปีแรกจำนวน 148,313 ล้านบาท

ขณะที่รายได้ที่เกิดจากการขายอสังหาริมทรัพย์ล้วนๆ ในไตรมาสที่ 2 ทั้ง 33 บริษัททำรายได้จากการขายรวมกันที่ 67,121 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกมีรายได้จากการขายรวมที่ 132,042 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่ 2 รวมกัน 7,727 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิรวมกันทั้งสิ้น 15,684 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม บริษัทอสังหาฯกวาดรายได้ครึ่งปี 1.3 แสนล.โต 10% กำไรพุ่ง 36%

แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบอย่างมากมายกับตลาดอสังหาฯ แต่พบว่า มี 5 บริษัทที่ครองส่วนแบ่งตลาดทั้งในแง่รายได้รวม รายได้จากการขาย และกำไรเกินกว่าครึ่งของตลาด ไปดูกันครับว่า 5 มหาอำนาจอสังหาฯท่ามกลางวิกฤติโควิดมีใครกันบ้าง

ขอเริ่มต้นที่ภาพรวมกันก่อน สำหรับในไตรมาสที่ 2 บริษัทอสังหาฯมหาชนทั้ง 33 บริษัท มีรายได้รวมกันทั้งสิ้น 74,921 ล้านบาท โดยที่ Top 5 มีรายได้รวมกันทั้งสิ้น 38,882 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52% ส่วนรายได้จากการขายจำนวน 67,121 ล้านบาท เป็นของบริษัทที่ทำรายได้จากการขายสูงสุด 5 อันดับแรกรวมกัน 36,959 ล้านบาท หรือคิดเป็น 55% ขณะที่กำไรสุทธิรวม 7,727 ล้านบาท เป็นของ 5 รายใหญ่ถึง 6,271 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81% เลยทีเดียว

ส่วนผลงานในครึ่งปีแรกบริษัทอสังหาฯทั้ง 33 บริษัทมีรายได้รวมกันทั้งสิ้น 148,313 ล้านบาท เป็นของ Top 5 รวมกัน 73,663 ล้านบาท คิดเป็น 50% ส่วนรายได้จากการขายจำนวน 132,042 ล้านบาท เป็นของ 5 บริษัทที่ทำรายได้จากการขายสูงสุด 5 อันดับแรกจำนวน 69,512 ล้านบาท คิดเป็น 53% ขณะที่ในครึ่งปีแรกมีกำไรสุทธิรวมกัน 15,684 ล้านบาท เป็นกำไรสุทธิของ 5 รายใหญ่รวมกัน 11,453 ล้านบาท หรือคิดเป็น 73%

คราวนี้มาดูกันว่าใครเป็นใครใน Top 5 ของผลงานในแต่ละประเภท ซึ่งผลประกอบการของแต่ละบริษัทจะใช้ตัวเลขที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นหลักไม่นับรวมรายได้จากบริษัทร่วมทุน

แลนด์แอนด์เฮ้าส์ แชมป์ไตรมาส 2
สำหรับบริษัทที่ทำรายได้รวมในไตรมาสที่ 2 ได้สูงสุดเป็นอันดับ 1 ได้แก่ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ถือเป็นการกลับมายืนในอันดับ 1 ได้อีกครั้ง ด้วยรายได้ 9,153 ล้านบาท จากการที่โฟกัสบ้านแนวราบในระดับกลาง-บน ที่ได้รับผลกระทบจากโควิดน้อยกว่าตลาดอื่น ตามมาด้วย เอพี (ไทยแลนด์) เข้าป้ายเป็นอันดับที่ 2 ด้วยรายได้รวมในไตรมาสที่ 2 ที่ 8,063 ล้านบาท เฉือนอันดับที่ 3 แสนสิริ ที่มีรายได้ 8,042 ล้านบาท แบบเฉียดฉิว ส่วนอันดับที่ 4 รอบนี้เป็นของ ศุภาลัย ที่ผลงานได้ค่อนข้างโดดเด่น โดยมีรายได้รวมอยู่ที่ 7,235 ล้านบาท ขณะที่อันดับ 5 เป็นของ พฤกษา โฮลดิ้ง มีรายได้รวมที่ 6,389 ล้านบาท

เมื่อนับเฉพาะรายได้จากการขายเพียว บริษัทที่เป็นแชปม์ประจำไตรมาสที่ 2 ยังคงเป็น แลนด์แอนด์เฮ้าส์ โดยมีรายได้จากการขายที่ 8,465 ล้านบาท อันดับ 2 เป็นของ เอพี (ไทยแลนด์) มีรายได้จากการขายที่ 7,836 ล้านบาท เช่นเดียวกับอันดับที่ 3 ยังคงเป็นแสนสิริที่มีรายได้จากการขายรวม 7,249 ล้านบาท อันดับ 4 ยังคงเป็น ศุภาลัย มีรายได้ 7,075 ล้านบาท อันดับ 5 ก็ยังเป็น พฤกษา โฮลดิ้ง มีรายได้จากการขายที่ 6,334 ล้านบาท

มาที่กำไรประจำไตรมาส บริษัทที่มีความสามารถในการทำกำไรเป็นอันดับ 1 ก็คือขาประจำอย่าง แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีกำไรสุทธิ 1,864 ล้านบาท อัตรากำไรอยู่ที่ 21.55% อันดับ 2 เป็นบริษัทมาแรงแซงทางโค้งอย่าง ศุภาลัย มีกำไรสุทธิที่ 1,741 ล้านบาท อัตรากำไรอยู่ที่ 22.7% อันดับ 3 เป็นของ เอพี (ไทยแลนด์) มีกำไรสุทธิ 1,115 ล้านบาท มีอัตรากำไรที่ 14.56%

อันดับ 4 เป็นของออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ก้าวขึ้นมาติด Top 5 ด้วยผลกำไร 909 ล้านบาท และมีอัตรากำไรที่ 23.19% ขณะที่อันดับ 5 เป็นของ แสนสิริ มีกำไรสุทธิ 642 ล้านบาท อัตรากำไรอยู่ที่ 6.69% ส่วนพฤกษา โฮลดิ้ง หลุดจากพื้นที่ Top 5 ไปอยู่อันดับที่ 10 ด้วยกำไรสุทธิ 439 ล้านบาท มีอัตรากำไรที่ 7.94%

ผลประกอบการที่โดดเด่นของแลนด์แอนด์เฮ้าส์คือการโฟกัสตลาดที่ชัดเจนในตลาดบ้านแนวราบ โดยเฉพาะตลาดบ้านเดี่ยวที่มีสัดส่วนรายได้ถึง 80% และทำให้มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงขึ้น

นพร-แลนด์แอนด์เฮ้าส์

นายนพร สุนทรจิตต์เจริญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เคยกล่าวกับทาง property mentor ว่า บ้านแนวราบเป็นตลาดที่ยังคงมี Demand เข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การแข่งขันจะรุนแรงขึ้นแน่นอน เพราะว่าคนที่ทำคอนโดก็กลับเข้ามาทำบ้านแนวราบมากขึ้น

สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบของแลนด์ฯยังคงอยู่ในตลาดกลาง-บนอยู่แล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เราก็ไม่ค่อยทำราคาที่ต่ำกว่า 2 ล้านบาทอยู่แล้ว เพราะทำไม่ไหว สินค้าของแลนด์ฯจะอยู่ที่ 2.5 ล้านบาทขึ้นไป แต่สัดส่วน 2.5-3 ล้านบาทก็ไม่ได้มากแค่กว่า 10% เมนหลักจะอยู่ที่ราคา 5-10 ล้าน หรือ 5-15 ล้านบาทมากที่สุด

เอพี (ไทยแลนด์) แชมป์รายได้ครึ่งปี
มาดูกันต่อที่ผลงานครึ่งปี บริษัทที่เป็นแชมป์ทำรายได้รวมสูงสุดในครึ่งแรกของปี 2564 กลายเป็น เอพี (ไทยแลนด์) ที่มีรายได้รวมที่ 17,289 ล้านบาท เฉือน แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่เข้าป้ายมาเป็นอันดับ 2 ด้วยรายได้รวม 17,217 ล้านบาท แบบเส้นยาแดงผ่าแปด ส่วนอันดับ 3 เป็นของ แสนสิริ มีรายได้รวม 14,868 ล้านบาท ขณะที่อันดับ 4 ได้แก่ พฤกษา โฮลดิ้ง มีรายได้รวม 13,289 ล้านบาท ปิดท้ายที่อันดับ 5 ตกเป็นของ ศุภาลัย มีรายได้รวมที่ 11,000 ล้านบาท

สำหรับบริษัทที่รายได้จากการขายเป็นอันดับ 1 ในครึ่งปีแรกยังคงเป็นของ เอพี (ไทยแลนด์) มีรายได้จากการขายรวม 16,715 ล้านบาท อันดับ 2 เป็นของ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีรายได้จากการขาย 15,605 ล้านบาท ขณะที่ แสนสิริ เข้าป้ายในอันดับ 3 ด้วยรายได้จากการขาย 13,293 ล้านบาท ส่วนอันดับ 4 ได้แก่ พฤกษา โฮลดิ้ง มีรายได้จากการขายรวม 13,222 ล้านบาท และอันดับ 5 เป็นของ ศุภาลัย มีรายได้จากการขายรวม 10,677 ล้านบาท

ปิดท้ายด้วยกำไรในครึ่งปีแรก บริษัทที่ยืนหนึ่งในเรื่องนี้ก็คือขาประจำอย่าง แลนด์แอนด์เฮ้าส์ ที่ทำกำไรได้สูงสุดที่ 3,606 ล้านบาท โดยที่ เอพี (ไทยแลนด์) มาเป็นอันดับ 2 ด้วยกำไรสุทธิ 2,518 ล้านบาท ศุภาลัย มาเป็นอันดับ 3 มีกำไรสุทธิครึ่งปีที่ 2,497 ล้านบาท ส่วนอันดับ 4 เป็นของ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เข้าพื้นที่ Top 5 ด้วยผลกำไรสุทธิที่ 1,777 ล้านบาท สุดท้ายอันดับ 5 ตกเป็นของ พฤกษา โฮลดิ้ง มีกำไรสุทธิที่ 1,055 ล้านบาท เฉือน แสนสิริ ที่หลุดจาก Top 5 ไปอยู่ในอันดับ 6 ด้วยกำไรสุทธิ 1,001 ล้านบาท

เอพี ไทยแลนด์
วิทการ-เอพี (ไทยแลนด์)

บริษัทยังคงดำเนินแผนธุรกิจด้วยความรัดกุม ควบคู่ไปกับความพร้อมที่จะปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาได้สะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัวของเอพี (ไทยแลนด์) ทั้งการบริหารจัดการภายในองค์กร ควบคู่ไปกับการบริหารพอร์ตสินค้า และการบริหารกระแสเงินสดที่รัดกุมและมีประสิทธิภาพท่ามกลางสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น พร้อมกับการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมกว่า 100 ทำเลทั่วประเทศไทย และขยายการพัฒนาธุรกิจที่อยู่อาศัยไปยังเซ็กเมนต์ใหม่ๆ

ทั้งหมดคือผลงานของบริษัทระดับ Top 5 ในรอบไตรมาสที่ 2 และครึ่งแรกของปี 2564 แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างรุนแรง แต่ละบริษัทก็พยายามปรับกลยุทธ์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโฟกัสตลาดที่ชัดเจนด้วยประสบการณ์และข้อมูลที่อยู่ในมือ การปรับตัวที่รวดเร็ว การพัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ในทุกการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงการบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพสุงสุด จนทำให้สามารถฝันฝ่าอุปสรรคมาได้ครึ่งทาง แต่ยังมีอีกครึ่งทางที่เหลือซึ่งว่ากันว่าผลกระทบจากวิกฤติโควิดจะออกฤทธิ์ออกเดชหนักหนาสาหัสกว่าที่ผ่านๆ มา ใครจะเป็นผู้ชนะตัวจริง ต้องติดตามกันต่อไปครับ

ไตรเตชะ-ศุภาลัย

ในรอบครึ่งปีแรก 2564  มีความท้าทายเป็นอย่างมาก ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 อันยาวนาน ศุภาลัยได้มีการวางแผนและปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีการปรับแผนการบริหารจัดการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ยังเดินหน้าลงทุนในทำเลใหม่ๆ ที่จะขยายตลาดให้กว้างขึ้น เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ อีกทั้งการสื่อสารการตลาดรูปแบบใหม่ร่วมกับพันธมิตรธุรกิจ

อุทัย-แสนสิริ

ความแข็งแกร่งในธุรกิจอสังหาฯของแสนสิริมาจากการมองตลาดเร็วและพร้อมปรับตัวรองรับทุกสถานการณ์ ตลอดเวลา (Speed to Market) พร้อมทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัยที่เข้าใจความต้องการของลูกค้าทั้งในด้านคุณภาพ ดีไซน์ รวมถึงการบริการ และกุญแจสำคัญ ซึ่งจะผลักดันสู่ผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่องในครึ่งปีหลังคือการบริหารเงินสดในมือที่ดี (Cash is King) ที่จะส่งผลให้แสนสิริมีสภาพคล่องสูงและมีความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ

ปิยะ-พฤกษา เรียลเอสเตท

พฤกษามีการปรับตัวเน้นการใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้าผ่านทางออนไลน์ให้ครอบคลุมทุกช่องทาง ทำให้สามารถเพิ่มจำนวนลูกค้าเข้าโครงการได้ 20% ควบคู่ไปกับการจัดแคมเปญส่งเสริมตลาดให้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้ายุคใหม่ที่เปลี่ยนไป จึงยังคงรักษาการเติบโตได้ดี โดยบริษัทยังคงกลยุทธ์ ‘A YEAR OF VALUE’ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการบริหารสินทรัพย์ เปิดโครงการที่มีมูลค่าสูง และผนวกความร่วมมือกับธุรกิจเฮลท์แคร์

พีระพงศ์-ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้

แม้จะมีมาตรการกึ่งล็อคดาวน์เกือบตลอดทั้งไตรมาส 2 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 แต่เรายังคงมียอดโอนกรรมสิทธิ์เข้ามาอย่างต่อเนื่อง จากการวางรากฐานกระจายความเสี่ยงทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมครอบคลุมทุกเซ็กเมนท์และทุกทำเลศักยภาพ และพยายามเพิ่มช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้ผู้บริโภคสามารถเข้าทั้งโครงการพร้อมอยู่ และโครงการที่อยู่ระหว่างเปิดขายได้ง่ายยิ่งขึ้น บริษัทจะยังคงเดินหน้าปรับตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้พร้อมรับมือทุกสถานการณ์