fbpx
พาร์ค บรมราชชนนี สิรินธร 01 e1641275423203

ลุมพินี วิสดอม ชี้ครึ่งปีหลังอสังหาฯยังมีโอกาสฟื้นตัว

ลุมพินี วิสดอม เผยผลสำรวจการเปิดตัวโครงการใหม่ในครึ่งปีแรกติดลบ 18% ขณะที่ตลอดทั้งปีมีโอกาสขยายตัว 8% ไปจนถึงติดลบ 20% ขึ้นอยู่กับการควบคุมโควิด-19 ชี้ครั้งปีหลังตลาดยังมีโอกาสฟื้นตัว

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุมพินี วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทด้านวิจัยและพัฒนาในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น. ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวถึงแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ว่า มีแนวโน้มที่ดีขึ้นกว่าครึ่งแรกของปี 2564 เนื่องจากผู้ประกอบการมีแผนที่จะเปิดตัวโครงการใหม่ หลังจากที่เลื่อนการเปิดตัวหลายโครงการในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีความรุนแรงตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน

LPNจากการสำรวจของ “ลุมพินี วิสดอม” คาดว่า ถ้ารัฐบาลสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ภายในไตรมาส 3 ของปี 2564 จะทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เริ่มทยอยเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงปลายไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ทำให้คาดว่าทั้งปี 2564 จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประมาณ 52,000-60,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 265,000-300,000 ล้านบาท หรือหดตัวประมาณ 5% จนถึงขยายตัว 8% เมื่อเทียบกับปี 2563

แต่ถ้ารัฐบาลไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ภายในปี 2564 คาดว่าตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล จะมีจำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวใหม่อยู่ที่ประมาณ 45,000-52,000 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 225,000-265,000 ล้านบาท หรือหดตัว 5- 20% ซึ่งจะเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันจากปี 2563

ครึ่งปีแรกเปิดโครงการใหม่หดตัว 18%
สำหรับในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จำนวน 23,551 หน่วย ลดลง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 คิดเป็นมูลค่า 130,051 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 7% จำนวนหน่วย ซึ่งการเปิดตัวที่ลดลง แต่มีมูลค่าสูงขึ้นเนื่องจากมีการเปิดตัวโครงการ The Forestias ที่มีมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านบาท ของบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในไตรมาส 2 ของปี 2564

นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า จากหน่วยเปิดตัวใหม่ทั้งหมด 23,551 หน่วย เป็นการโครงการอาคารชุด จำนวน 9,235 หน่วย เพิ่มขึ้น 4% มูลค่า 55,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยมีอัตราขายได้เฉลี่ย 29% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่าน ในขณะที่การเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีแนวโน้มลดลง แต่ยังคงมีจำนวนหน่วยและมูลค่าที่มากกว่าอาคารชุด คิดเป็นสัดส่วน 61% ของหน่วยที่เปิดตัวทั้งหมด

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีการเปิดตัวโครงการบ้านพักอาศัยจำนวน 14,316 หน่วย มูลค่า 74,435 ล้านบาท จำนวนหน่วยหดตัว 28% และมูลค่าหดตัว 18% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 แม้จะหดตัวลงแต่บ้านพักอาศัยยังมีอัตราขายได้เฉลี่ย 13% ซึ่งใกล้เคียงกับอัตราขายได้ในปี 2563

สำหรับโครงการบ้านพักอาศัยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

ประเภทแรก คือ ทาวน์เฮ้าส์ ที่ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่อง ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้น คำนึงถึงระยะห่างทางสังคมกันมากขึ้น การมองหาที่อยู่อาศัยในราคาที่จับต้องได้อย่างทาวน์เฮ้าส์จึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้

สำหรับทาวน์เฮ้าส์มีโครงการเปิดใหม่จำนวน 8,568 หน่วย มูลค่า 25,267 ล้านบาท หดตัว 35% และ 33% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 มีอัตราขายได้เฉลี่ยร้อยละ 14

ประเภทที่สอง คือ บ้านเดี่ยว มีจำนวนหน่วยเปิดตัวใหม่ในครึ่งแรกของปี 2564 จำนวน 2,984 หน่วย มูลค่า 33,499 ล้านบาท หดตัว 31% และ 16% ตามลำดับ มีอัตราขายได้เฉลี่ย 11% ซึ่งสูงขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 เนื่องด้วยเป็นสินค้าที่มีราคาขายค่อนข้างสูง ซึ่งสถานการณ์เศรษฐกิจอาจไม่ได้มีผลกระทบกับกลุ่มลูกค้าในระดับนี้มากนัก

สุดท้าย คือ บ้านแฝด เป็นรูปแบบบ้านที่ได้รับความสนใจมากขึ้น มีอัตราขายได้เฉลี่ย 12% ด้วยรูปแบบบ้านที่ถูกพัฒนาให้ใกล้เคียงกับบ้านเดี่ยว บวกกับราคาขายเฉลี่ย 5-8 ล้านบาท จึงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้น โดยในครึ่งปีแรกเปิดตัวใหม่จำนวน 2,764 หน่วย มูลค่า 15,669 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% และ 26% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

จากการศึกษายังพบว่า ในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 อาคารชุดในระดับราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท (Affordable Price) มีส่วนแบ่งการตลาดมากถึง 70% จากหน่วยที่ขายได้ของประเภทอาคารชุดทั้งหมด ซึ่งเป็นระดับราคาที่ผู้ประกอบการหลายรายเริ่มหันมาเปิดแบรนด์ใหม่หรือพัฒนาโครงการระดับราคานี้มากขึ้น

ขณะที่ตลาดบ้านพักอาศัยอย่างทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝดมีแนวโน้มที่ระดับราคาขายทรงตัว จากสภาวะตลาดและสภาพเศรษฐกิจที่ยังชะลอตัวในปัจจุบัน แต่ระดับราคาของบ้านเดี่ยวมีแนวโน้มปรับตัวขึ้น จากการพัฒนาโครงการมูลค่าสูงบนพื้นที่โครงการขนาดเล็กหรือขนาดกลาง โดยมีจำนวนหน่วยในโครงการไม่มากนัก ซึ่งกลุ่มลูกค้าระดับราคานี้เป็นผู้อยู่อาศัยจริง (Real Demand) ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจมากนัก

ในขณะที่ทำเลในเขตปริมณฑล รอบกรุงเทพมหานคร อย่าง ทำเลรังสิต ปทุมธานี และบางนา สมุทรปราการ เป็นทำเลที่ถูกพัฒนาเป็นโครงการบ้านพักอาศัยจำนวนมาก เนื่องจากเป็นทำเลที่สามารถเดินทางได้สะดวกทั้งถนนสายหลัก ทางหลวงพิเศษหรือถนนวงแหวนรอบนอก ทำให้เดินทางเข้า-ออกสู่ใจกลางเมืองหรือศูนย์กลางธุรกิจได้ง่าย แม้กระทั่งการเดินทางไปยังจังหวัดใกล้เคียง พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกในทำเล

รวมถึงปัจจัยด้านราคาที่ดินที่ยังสามารถพัฒนาโครงการเพื่อทำราคาขายไม่เกิน 5 ล้านบาทได้อยู่ แต่จากเหตุการณ์การระเบิดของโรงงานอุตสาหกรรมย่านกิ่งแก้วในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา อาจทำให้การตัดสินใจเลือกซื้อทำเลที่อยู่อาศัยใกล้กับพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างบางนานั้นยากขึ้น

หน่วยคงค้างทรงตัว คาดใช้เวลาขาย 51 เดือน
ผลจากการเปิดตัวโครงการใหม่ที่หดตัวลง บวกกับอัตราการขายได้เฉลี่ยที่ลดลงในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 “ลุมพินี วิสดอม” คาดว่าหน่วยคงค้างในตลาดที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2564 มีแนวโน้มทรงตัวจากสิ้นปี 2563 โดยมีจำนวนหน่วยคงค้างประมาณ 222,000 หน่วย อาจต้องใช้เวลาในการขายประมาณ 51 เดือนเพื่อระบายหน่วยคงค้างทั้งหมด

แบ่งออกเป็นหน่วยคงค้างประเภทอาคารชุดประมาณ 85,300 หน่วย หดตัวลงจากสิ้นปีที่ผ่านมาประมาณ 6% จากการชะลอแผนและเลื่อนเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ในขณะที่หน่วยคงค้างของบ้านพักอาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2563 ประมาณ 4% เป็นจำนวนประมาณ 136,700 หน่วย

ทั้งนี้ เป็นผลจากการที่ผู้ประกอบการอสังหาฯ หันมาเน้นพัฒนาบ้านพักอาศัยมากกว่าอาคารชุด เพื่อตอบรับกับความต้องการที่อยู่อาศัยที่มีพื้นที่ และมีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 และแนวโน้มที่ต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น

นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าวว่า การเปิดตัวโครงการใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่ลดลงในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไตรมาส 2 ของปี 2564 ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ เลื่อนแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ ประกอบกับการที่ภาครัฐ ได้เริ่มมีการออกมาตรการที่เข้มงวดเพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล

ถึงแม้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาฯ นอกเหนือจากความสามารถในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่อาจจะยืดเยื้อจากไตรมาส 3 ไปไตรมาส 4 อาทิ มาตรการปิดแคมป์ก่อสร้างในเดือนกรกฏาคม ที่ส่งผลกระทบต่อการก่อสร้าง ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถส่งมอบที่อยู่อาศัยได้ตามแผนที่วางไว้

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในเรื่องของราคาวัสดุก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเฉพาะราคาเหล็ก ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น หน่วยคงค้างของตลาดที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มคงที่ จากอัตราการระบายเฉลี่ยลดลง ผนวกกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งมีอัตราการว่างงานสูงแตะระดับ 2 ล้านกว่าคน ภาระหนี้ครัวเรือนแตะระดับ 90% ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลง

ขณะที่แหล่งเงินทุนอย่างสถาบันการเงินมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยมีอัตราการปฏิเสธสินเชื่อ 40-50% ซึ่งปัจจัยดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อที่อยู่อาศัยในตลาด และการตัดสินใจเปิดตัวโครงการใหม่ของผู้ประกอบการอสังหาฯ ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564

“ถ้ารัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ในไตรมาส 3 ของปี 2564 รวมถึงสามารถเร่งนำเข้าและฉีดวัคซีนได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศ ในขณะที่ภาคการส่งออกและภาคการผลิตยังคงสามารถเติบโตได้ต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐสามารถดำเนินการได้ตามแผน ผนวกกับอัตราดอกเบี้ยที่ยังคงอยู่ในอัตราต่ำ เป็นปัจจัยที่ อาจทำให้สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว