fbpx
10 ภาพอาคารเอสซีจี

เอสซีจี โตสวนวิกฤติโควิด ปั๊มรายได้ครึ่งปี 2.5 แสนล.

เอสซีจี เปิดผลประกอบการครึ่งปีแรก มีรายได้กว่า 2.5 แสนล้าน เติบโต 27% ฟันกำไร 3.2 หมื่นล้าน โต 96% ได้อานิสงส์ธุรกิจเคมีภัณฑ์ที่ราคาปรับขึ้นจากการปรับตัวของราคาน้ำมัน และการปรับแผนดำเนินธุรกิจ ขณะที่ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เติบโตเล็กน้อย จากการส่งออกและงานปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน พร้อมแจกปันผลครึ่งปี 8.5บาท/หุ้น

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เปิดเผยว่า ผลการดำเนินการในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 133,555 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีกำไรอยู่ที่ 7,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 83 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จากไตรมาสก่อน สาเหตุหลักจากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ตามการปรับตัวของราคาน้ำมันโลก และจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของทุกกลุ่มธุรกิจ

ส่วนผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2564 เอสซีจีมีรายได้จากการขาย 255,621 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากราคาขายของสินค้าเคมีภัณฑ์ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีกำไรที่ 32,050 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 96 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากส่วนต่างราคาสินค้าเคมีภัณฑ์และส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น

ในครึ่งปีแรกของปี 2564 เอสซีจีมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่ม (High Value Added Products & Services – HVA) จำนวน 86,861 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 34 ของรายได้จากการขายรวม และยังมีสัดส่วนของการพัฒนาสินค้าใหม่ (New Products Development – NPD) และ Service Solution เช่น โซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy Solution) โซลูชันบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ (Smart and Functional Solutions) คิดเป็นร้อยละ 15 และ 5 ของรายได้จากการขายรวม ตามลำดับ

นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศ รวมทั้งการส่งออกจากประเทศไทยในครึ่งปีแรกของปี 2564 รวมทั้งสิ้น 112,272 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44 ของยอดขายรวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สินทรัพย์รวมของเอสซีจี ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีมูลค่า 812,051 ล้านบาท โดยร้อยละ 39 เป็นสินทรัพย์ในอาเซียน

ในกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้างไตรมาสที่ 2 ปี 2564 มีรายได้จากการขาย 46,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากยอดการส่งออกสินค้าไปยังตลาดอาเซียนและตลาดอื่นๆ นอกอาเซียนเพิ่มขึ้น

ประกอบกับความต้องการสินค้าผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเพิ่มขึ้นตามงานปรับปรุงและซ่อมแซมภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยมีกำไรอยู่ที่ 2,468 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในไตรมาสที่ 2 ปี 2563 มีขาดทุนจากการด้อยค่าสินทรัพย์เป็นจำนวน 699 ล้านบาท ในขณะที่ลดลงร้อยละ 12 จากไตรมาสก่อน

สำหรับผลประกอบการครึ่งปีแรกของปี 2564 ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง มีรายได้จากการขาย 92,601 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสำหรับงวด 5,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายรุ่งโรจน์ กล่าวต่อว่า เอสซีจีได้ปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ทั้งการปรับสัดส่วนการขาย กระจายสินค้าไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยทั้งในและต่างประเทศ และเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ อีกทั้งขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (Merger & Partnership – M&P) รวมถึงการสร้างความร่วมมือใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูง (High Quality Post-Consumer Recycled Resin – PCR) เปลี่ยนขวดบรรจุภัณฑ์พลาสติกใช้แล้วจากครัวเรือนหมุนเวียนกลับมาผลิตเป็นขวดบรรจุภัณฑ์ใหม่ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย นับเป็นการเร่งธุรกิจเข้าสู่เทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เติบโตสูง

พร้อมกับรุกเข้าสู่ธุรกิจระบบอัตโนมัติ (Automation System) เพื่อนำเสนอโซลูชันด้านออโตเมชันแก่ลูกค้า ซึ่งจะช่วยพัฒนาขีดความสามารถและยกระดับอุตสาหกรรมไทยสู่โรงงานอัจฉริยะ (Smart Factory 4.0) จึงทำให้ผลประกอบการของเอสซีจีในไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีแรกของปี 2564 ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว

“ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง ได้รับผลกระทบจากความต้องการของตลาดที่ชะลอตัวลงจากมาตรการปิดเมือง ธุรกิจจึงปรับกลยุทธ์ด้วยการกระจายสินค้าไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยทั้งในและต่างประเทศ และเน้นการขายผ่านช่องทางออนไลน์ SCGHOME.com มากขึ้น อีกทั้งมุ่งนำเสนอสินค้า บริการ และโซลูชัน ที่มีมูลค่าเพิ่ม

ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในการปรับปรุงที่อยู่อาศัย และตอบรับเทรนด์ด้านสุขอนามัยและความใส่ใจสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังคงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมตามแนวทาง Industry 4.0 เพื่อควบคุมต้นทุน ลดการใช้ทรัพยากร และสร้างการเติบโตในระยะยาว” นายรุ่งโรจน์กล่าว

ขณะเดียวกัน เอสซีจีมีความห่วงใยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างยิ่ง จึงได้ใช้ประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญช่วยเหลือสังคมมาอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน ทั้งเร่งช่วยเหลือคู่ค้า-คู่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้วยการขยายเวลาการชำระเงิน ให้คำปรึกษาเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการภายในโรงงาน เพื่อให้ธุรกิจดำเนินงานได้อย่างต่อเนื่อง

ร่วมกับคู่ค้าจัดตั้งศูนย์พักคอยสำหรับแยก-กัก-รักษาผู้ป่วยโควิด 19 สนับสนุนเครื่องใช้อุปโภคบริโภคสำหรับช่างภายในแคมป์ก่อสร้างของคู่ค้า รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยนำสินค้ามาจำหน่ายที่ร้านเอสซีจี โฮม SCGHOME.com และช่องทางของพันธมิตร เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และช่วยให้รักษาธุรกิจให้คงอยู่ต่อไปได้

เอสซีจีได้เร่งพัฒนานวัตกรรมป้องกันโควิด 19 อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่มีการแพร่ระบาดมากขึ้น เกิดวิกฤติขาดแคลนเตียงสนามและห้องไอซียูสำหรับผู้ป่วยหนัก เอสซีจีได้มอบเตียงสนามกระดาษกว่า 60,000 เตียงทั้งในไทยและต่างประเทศ และมอบห้องไอซียูโมดูลาร์ 60 เตียง รวมทั้งห้องผู้ป่วยฉุกเฉินโมดูลาร์ขนาด 10 เตียง เพื่อปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ บรรเทาความเดือดร้อนของผู้ป่วย

นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) และชุมชนกว่า 300 ราย ให้สร้างรายได้ พัฒนาอาชีพ แปรรูปสินค้า และเพิ่มช่องทางการขาย ผมขอเชิญชวนทุกท่านช่วยกันสนับสนุนสินค้า SMEs หากพวกเราช่วยเหลือกัน ก็จะนำพาประเทศรอดพ้นวิกฤตครั้งนี้ได้

“คณะกรรมการบริษัทอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานครึ่งปีแรกของปี 2564 ในอัตรา 8.5 บาทต่อหุ้น เป็นเงิน 10,200 ล้านบาท โดยกำหนดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลในวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2564 กำหนดผู้ที่ไม่มีสิทธิรับเงินปันผล (XD) ในวันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม 2564 และกำหนดรายชื่อผู้มีสิทธิรับเงินปันผล (Record date) ในวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564” นายรุ่งโรจน์กล่าว