fbpx
6 Life Asoke Hype 1

บิ๊กอสังหาฯ ฝ่าล็อคดาวน์ ลุยเปิดโครงการใหม่ครึ่งปีหลัง

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งปีหลังยังต้องฝ่าฟันกับหลากหลายปัจจัยลบที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ที่รุนแรงและขยายวงกว้าง โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งทะยานไปเกือบแตะหลักหมื่นรายต่อวัน ขณะที่ผู้เสียชีวิตก็ยังอยู่ในระดับสูง

จนที่สุดรัฐบาลโดยศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ต้องใช้มาตรการกึ่งล็อคดาวน์

เพื่อเป็นการควบคุมการเดินทางในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 10 จังหวัด ได้แก่ กทม. นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ สมุทรสาคร สงขลา ยะลา นราธิวาส ปัตตานี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีหลังนี้อย่างแน่นอน

ศก.ครึ่งปีหลังยังเปราะบางจากโควิดระลอก 3
หากมองย้อนกลับไปในครึ่งแรกของปี 2564 พิษจากโควิดระลอกใหม่ก็ฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยไม่สามารถเติบโตได้ดังที่คาดหวัง ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับประมาณการแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจาก 3% เดือนมี.ค.เหลือ 1.8% ในเดือนมิ.ย. เนื่องจากรระบาดของไวรัสโควิด-19 ในระลอกที่ 3 ได้ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและอุปสงค์ในประเทศ ตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า โดยเฉพาะแรงงานในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ

ทั้งนี้ การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลงตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2564 แต่ก็คาดว่า จะทยอยฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี จากมาตรการให้เงินเยียวยาและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมของภาครัฐ และการกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้ามากขึ้น มีส่วนช่วยให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้น ส่งผลให้การใช้จ่ายในภาคการท่องเที่ยวและบริการฟื้นตัวได้ในปี 2565

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนก็เป็นไปในลักษณะเดียวกัน คือ ชะลอลงบ้างในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 และคาดว่าตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวตามการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวสูง และการบริโภคภาคเอกชนที่ทยอยฟื้นตัว

real demand ขับเคลื่อนตลาดอสังหาฯ
อย่างไรก็ตาม ตัวแปรสำคัญอยู่ที่การควบคุมการแพร่เชื้อ และความสามารถในการฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิต้านทานหมู่ให้ได้เร็วที่สุด แต่สถานการณ์ในปัจจุบัน เรายังไม่สามารถทำได้เช่นนั้น เมื่อการได้มาของวัคซีนยังกำหนดวันเวลาที่แน่นอนไม่ได้ และเมื่อรัฐประกาศมาตรการกึ่งล็อคดาวน์เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่า จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยรวมประมาณ 50,000-100,000 ล้านบาท หรือประมาณ 3,000-5,000 ล้านบาทต่อวัน ย่อมสะเทือนถึงภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังอย่างเลี่ยงไม่ได้

สำหรับในภาคอสังหาฯ ผู้ประกอบการยังเชื่อมั่นว่า ตลาดในครึ่งปีหลังก็ยังพอที่จะขับเคลื่อนไปได้ด้วย Real Demand ในตลาดที่อยู่อาศัยแนวราบที่ยังพอมีหล่อเลี้ยงไม่ให้ตลาดติดคัดซะทีเดียว นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดหวังว่า ในครึ่งปีหลังตลาดบ้านแนวราบจะยังคงไปได้ดีอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ซึ่งเป็นผลจาก Real Demand ที่ยังมีอยู่ ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียม ก็หวังว่าจะกลับมาได้บ้างในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้ตลาดในปีนี้ยังพอประคองตัวให้ผ่านไปได้

ระวังกำลังซื้ออ่อนแรง ภาระหนี้พุ่งสูง
อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีความกังวลอยู่ว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เรากำลังเผชิญกันอยู่ขณะนี้จะทำให้ Real Demand มีมากพอที่จะช่วยขับเคลื่อนตลาดได้สักแค่ไหน

“จากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจ ณ ช่วงเวลานี้ได้ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะกำลังซื้อในภาคการค้าและบริการที่มีรายได้ลดลงมาก ขณะที่กำลังซื้อในกลุ่มอื่นๆ ก็ยังไม่มั่นใจต่อรายได้ในอนาคต ประกอบกับ หนี้ครัวเรือนที่สูงเกินกว่า 90% ของ GDP ทำให้ธนาคารเพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากยิ่งขึ้น แม้ว่าหลายบริษัทจะประกาศตัวเลขยอดขายที่ดี แต่ยอดปฏิเสธสินเชื่อก็อยู่ในระดับสูงเช่นเดียวกัน ทำให้รายได้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้” นายกิติศักดิ์ จำปาทิพย์พงศ์ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) จำกัด ให้ความเห็น

แต่ถึงจะอย่างไร ผู้ประกอบการอสังหาฯไทยก็ไม่เคยท้อถอย แม้โควิด-19 จะระบาดอย่างรุนแรง และส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจอสังหาฯโดยรวม แต่ก็ยังเดินหน้าลงทุนเปิดโครงการใหม่กันอย่างต่อเนื่อง

เอพี พร้อมผุด 26 โครงการใหม่ 3.3 หมื่นล้าน
ล่าสุด บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) ประกาศแผนการลงทุนโดยยืนยันว่าจะเปิดโครงการใหม่รวม 26 โครงการ มูลค่า 33,440 ล้านบาท หลังจากครึ่งปีแรกเปิดไปเพียง 5 โครงการ มูลค่ารวม 4,060 ล้านบาทเท่านั้น

“จะเห็นว่าที่ผ่านมาทุกคนก็รอดูสถานการณ์ จนมาถึงครึ่งปีหลังทุกคนก็คงอั้นไม่อยู่สำหรับการเปิดโครงการใหม่ ของเอพีก็เพิ่งเปิดไปเพียง 5 โครงการในครึ่งปีแรก พอไตรมาส 3-4 เราจะเปิดโครงการใหม่ทั้งหมด 26 โครงการ มูลค่ารวม 33,440 ล้านบาท ขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นก็คงจะเป็นแบบเดียวกัน ทำให้ในครึ่งปีหลังจะมีการกลับมาทำการตลาดกันอย่างเต็มที่

มั่นใจดีมานด์ในตลาดยังมีพอ สวนทางซัพพลายลดฮวบ
จากตัวเลขในครึ่งปีแรกจะเห็นว่า ซัพพลายในตลาดลดลงไปมากพอสมควร ทุกคนก็เห็นโอกาส และบริษัทที่มีความพร้อมก็จะกลับมาทำตลาดต่อ ขณะที่ความต้องการซื้อแม้ว่าจะลดลง แต่ก็ยังมีความต้องการอยู่ และลดลงในอัตราที่น้อยกว่าการลดลงของซัพพลาย แต่เราก็ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อออกไปจับกำลังซื้อที่ยังมีอยู่” นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) กล่าว

ขณะเดียวกัน นายวิทการ ยังได้ประเมินด้วยว่า ธุรกิจอสังหาฯจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติได้ก็ต่อเมื่อเศรษฐกิจกลับมาเข้ารูปเข้ารอย ถ้าสามารถกระจายการฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้ การท่องเที่ยวเริ่มกลับมา เศรษฐกิจก็จะเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าที่สุดประมาณกลางปีจนถึงปลายปี 2565 ทุกอย่างก็น่าจะกลับมาเป็นปกติ แม้ว่าในช่วงนี้ จะได้รับผลกระทบจากการปิดไซต์โครงการ และมาตรการล็อคดาวน์ บริษัทก็ได้มีการปรับวิธีการขายในรูปแบบออนไลน์รองรับอยู่แล้ว

ปัดฝุ่นบ้านกลางกรุง ปรับแบรนด์คอนโดแอสปาย
สำหรับโครงการใหม่ทั้ง 26 โครงการ แบ่งเป็นโครงการแนวราบ 22 โครงการ มูลค่าประมาณ 20,440 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 4 โครงการ มูลค่าประมาณ 13,000 ล้านบาท โดยบริษัทได้เตรียมพัฒนาโครงการในเซ็กเมนต์ใหม่ระดับ Super Luxury โดยการนำแบรนด์ ‘บ้านกลางกรุง’ กลับมาพัฒนาอีกครั้ง ด้วยจุดเด่นในเรื่องของทำเลที่ตั้งนำร่องโครงการแรกกับ บ้านกลางกรุง สาธุประดิษฐ์-พระราม 3 บ้านเดี่ยว 2-3 ชั้น ราคาเริ่ม 35-60 ล้านบาท พร้อมเปิด Pre-Sale ในเดือนก.ย.นี้

ส่วนสินค้ากลุ่มคอนโดมิเนียม บริษัทเตรียมขยายโปรดักส์ไปยังตลาดแมสมากยิ่งขึ้น ด้วยการปรับโฉมแบรนด์แอสปาย( ASPIRE) กับ 4 จุดขายใหม่ ได้แก่

  • CITY-ZONE LOCATION เจาะทำเลในเมือง จำนวนยูนิตน้อย เดินทางสะดวกด้วยระบบคมนาคมวันนี้และอนาคต
  • MODULAR LAYOUT DESIGN สเปซดีไซน์ที่ปรับเปลี่ยนพื้นที่ใช้งานได้ตามใจ
  • UNCOMPROMISED FACILITIES พื้นที่ส่วนกลางแบบจัดเต็ม
  • UNEXPECTED PRICE PACKAGE แพคเกจราคาขายที่สอดรับกับกลุ่มเป้าหมาย เริ่มต้นประมาณ 55,000-65,000 บาท/ตารางเมตร

ทั้งนี้บริษัทจะคอนโดแอสปายใน 2 ทำเล ได้แก่ แอสปาย รัตนาธิเบศร์-เวสต์ตัน จำนวน 854 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,600 ล้านบาท จะเปิดตัวในเดือนก.ย.นี้ ในราคาเริ่มต้น 1.59 ล้านบาท และแอสปาย ปิ่นเกล้า-อรุณอมรินทร์ จำนวน 396 ยูนิต มูลค่า 1,200 ล้านบาท ที่จะเปิดตัวในเดือนพ.ย. ส่วนคอนโดอีก 2 โครงการที่จะเปิดตัวในครึ่งปีหลัง ได้แก่ คอนโดไลฟ์ พระราม 4 – อโศก จำนวน 1,237 ยูนิต มูลค่า 6,700 ล้านบาท จะเปิดตัวในเดือนก.ย.นี้ และไลฟ์ ลาดพร้าว สเตชั่น จำนวน 636 ยูนิต มูลค่า 3,500 ล้านบาท จะเปิดตัวในเดือนพ.ย.

บิ๊กอสังหาฯพร้อมฝ่ามรสุมเดินหน้าลงทุนใหม่
นอกจากเอพี ไทยแลนด์ ที่ประกาศแผนลุยโครงการใหม่แบบไม่สนใจโควิดว่าจะระบาดหนักแค่ไหน ยังมีบิ๊กเนิมอีกหลายรายที่พร้อมเดินหน้าลุยเช่นกัน เช่น บริษัท ศุภาลัย ที่โหมรุกโครงการบ้านแนวราบทั้งในกทม. ปริมณฑล และต่างจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้เปิดโครงการรับการเปิดตัวของ ภูเก็ต แซนด์บ็อก

นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาบริษัทมีความเชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของจังหวัดภูเก็ต ซึ่งล่าสุดมีการเปิดจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบ หรือโครงการ “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” ให้นักท่องเที่ยว สามารถเดินทางเข้ามาในพื้นที่ได้

ล่าสุดเตรียมเปิดตัวแบรนด์ใหม่ “ปาล์มสปริงส์” ภายใต้ชื่อ “ศุภาลัย ปาล์มสปริงส์ บ้านพอน” มูลค่าโครงการ 1,700 ล้านบาท บนที่ดิน 68 ไร่ พร้อมแบบบ้านมากถึง 7 แบบ ขนาดพื้นที่ใช้สอยเริ่มต้น 119-213 ตร.ม. ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์โฮม ในราคาเริ่มต้น 2.49 ล้านบาท โดยจะเปิด Pre-Sale 17-18 ในเดือนก.ค.นี้

ทั้งนี้รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท ศุภาลัยมีแผนจะเปิดตัวโครงการใหม่ในครึ่งปีหลังรวม 2.48 ล้านบาท ขณะที่ครึ่งปีแรกเปิดตัวโครงการใหม่ไปเพียง 9,200 ล้านบาท โดยในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 บริษัทจะยังคงเดินหน้าเปิดตัวและทำการขายโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียมทั่วประเทศ

ทางด้าน แสนสิริ จะเปิดโครงการใหม่ในครึ่งปีหลังรวม 20 โครงการ มูลค่ารวม 19,400 ล้านบาท แบ่งเป็นบ้านเดี่ยวและมิกซ์โปรดักส์ แบรนด์อณาสิริ 8 โครงการ มูลค่ารวม 7,500 ล้านบาท ทาวน์โฮมแบรนด์ สิริเพลส และแบรนด์ใหม่ 5 โครงการ มูลค่ารวม 6,300 ล้านบาท และคอนโดมิเนียม 7 โครงการ มูลค่ารวม 5,600 ล้านบาท

ขณะที่ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ วางเป้าหมายเปิดตัวโครงการใหม่ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ทั้งหมด 5โครงการ มูลค่า 24,422 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนทั้งหมด โดยจะเปิดตัวในไตรมาส 3 จำนวน 1 โครงการมูลค่า1,870 ล้านบาท และช่วงไตรมาส4 จะเปิดตัวมากที่สุด 4 โครงการมูลค่า 22,550 ล้าน

บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท มีแผนเปิดโครงการใหม่ในปีนี้ 29 โครงการ มูลค่ารวม 26,630 ล้านบาท ในไตรมาสแรกเปิดไปแล้ว 5 โครงการ มูลค่ารวม 1,915 ล้านบาท ขณะที่ในไตรมาส 2 เปิด 7-10 โครงการ มูลค่ารวม 5,000-7,000 ล้านบาท ที่เหลืออีกประมาณ 14-17 โครงการ 17,000-19,000 ล้านบาท จะเปิดตัวในครึ่งปีหลัง

บริษัท ออริจิ้น เตรียมจะเปิดโครงการในไตรมาส 3 จำนวน 5 โครงการ มูลค่ารวม 4,580 ล้านบาท ได้แก่ บริทาเนีย ติวานนท์-ราชพฤกษ์ และบริทาเนีย ราชพฤกษ์-นครอินทร์ โครงการแฮมป์ตัน ระยอง รวมถึงคอนโดมิเนียมแบรนด์อออริจิ้น ปลั๊ก แอนด์ เพลย์ รามคำแหง ทริปเปิ้ล สเตชั่น และแบรนด์ บริกซ์ตัน เจาะกลุ่มความต้องการเฉพาะ (Affordable Niche) อย่างบริกซ์ตัน เพ็ท แอนด์ เพลย์ สุขุมวิท 107 คอนโดมิเนียมเลี้ยงสัตว์ได้โครงการแรกของบริษัท

บริษัท ไรมอนแลนด์ มีแผนจะเปิดโครงการใหม่ในระดับลักชัวรี่อีก 3 โครงการ มูลค่ารวม 20,000 ล้านบาท ได้แก่ คอนโดบนทำเลสุขุมวิท 2 โครงการ ที่สุขุมวิท 38 และพร้อมพงษ์ และโครงการลักชัวรี่ วิลล่า (คาดว่าจะอยู่ที่ภูเก็ต) อีก 1 โครงการ

ขณะที่บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ตามแผนการลงทุนในปี 2564 จะเปิดโครงการใหม่ 12 โครงการ มูลค่ารวม 20,660 ล้านบาท โดยมีการเปิดตัวโครงการใหม่ในไตรมาส 3 มากที่สุด 9 โครงการ และไตรมาส 4 เปิดเพิ่มอีก 2 โครงการ

ก็คงเป็นไฟต์บังคับให้แต่ละบริษัทต้องออกมาเดินหน้าลงทุนในครึ่งปีหลัง หลังจากส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์มาครึ่งปี แม้ว่าจะไม่ใช่จังหวะที่ดีแต่สำหรับบริษัทที่พร้อมทางด้านเงินทุน ก็จำเป็นต้องออกหาปลาแม้ว่าในทะเลจะมีมรสุมใหญ่อยู่ก็ตาม