หลังเหตุระเบิดที่โรงงานโฟมบนถนนกิ่งแก้วเริ่มคลี่คลาย และให้ผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวกลับเข้าพื้นที่ได้ เพื่อเคลียร์ความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีบริษัทพัฒนอสังหาริมทรัพย์ที่มีโครงการในย่านนั้นเข้าไปอำนวยความสะดวกและให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ
ล่าสุด บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) นำโดยนายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการบริษัทได้นำทีมพนักงานบริษัทศุภาลัยทั้งฝ่ายก่อสร้าง ฝ่ายวิศวกร และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพันธมิตรทางธุรกิจ (Supplier) กว่า 300 ชีวิต เข้าสำรวจบ้านที่ได้รับความเสียหายโดยละเอียด เพื่อเร่งดำเนินการซ่อมแซมบ้านในโครงการศุภาลัย วิลล์ บางนา-วงแหวน ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุโรงงานระเบิดโดยเร่งด่วน เป็นการช่วยเหลือต่อเนื่องหลังจากที่บริษัทได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือโดยทันทีในวันเกิดเหตุการณ์ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา
“บ้านทุกหลัง ที่บริษัทเข้าสำรวจโครงสร้างแล้ว หากไม่พบว่าโครงสร้างบ้านมีปัญหา หรือมีการแก้ไขโครงสร้างจนเสร็จสมบูรณ์แล้ว บริษัทมีมาตรการที่จะรับประกันโครงสร้างบ้านที่ประสบปัญหาดังกล่าวทุกหลัง ต่อเนื่องไปอีก 5 ปีนับจากวันเกิดเหตุระเบิด”
ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่โรงงานระเบิด ผู้บริหารและทีมงานศุภาลัยได้เข้าไปยังพื้นที่เพื่อดำเนินการช่วยเหลือโดยทันที ตั้งแต่การช่วยอพยพลูกบ้านออกจากโครงการ พร้อมจัดหาโรงแรมให้ลูกบ้านทุกท่านได้เข้าพักอาศัย และสำรวจและประเมินความเสียหายกับส่วนงานที่สามารถซ่อมแซมได้อย่างเร่งด่วนที่สุด และยังคงมีมาตรการช่วยเหลือดูแลอย่างต่อเนื่อง จนกว่าบ้านที่ได้รับผลกระทบทุกหลังจะได้รับการซ่อมแซมจนแล้วเสร็จ
บริษัทได้ให้คำมั่นกับลูกบ้านว่าจะเร่งดำเนินการให้ทุกครอบครัวศุภาลัยที่ได้รับผลกระทบได้พักอาศัยในบ้านของตนเองอย่างปกติสุขได้โดยเร็ว
เช่นเดียวกับ บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ (วสท.) โดยนายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวสท.พร้อมทีมผู้เชี่ยวชาญ ลงพื้นที่ตรวจสภาพความเสียหาย และโครงสร้างที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ณ โครงการภัสสร บางนา วงแหวน และ พฤกษาวิลล์ 97 วงแหวน-อ่อนนุช
จากการเข้าสำรวจโครงการพบว่า โครงการภัสสร บางนา วงแหวน มีบ้านที่มีผู้เข้าอยู่อาศัยในโครงการและได้รับผลกระทบประมาณ 61 หลังคาเรือน ในขณะที่โครงการ พฤกษาวิลล์ 97 วงแหวน-อ่อนนุช มีผู้ได้รับผลกระทบประมาณ 123 หลังคาเรือน โดยการสำรวจครั้งนี้จะตรวจสอบที่โครงสร้างของบ้านเป็นหลัก ซึ่งหลังจากได้ข้อสรุปด้านการซ่อมแซมที่ชัดเจนแล้ว ทางพฤกษาจะเร่งให้ความช่วยเหลือในการซ่อมแซมบ้านอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรมต่อไป
ส่วนที่โครงการพาทิโอ บางนา-วงแหวน ซึ่งมีบ้านประมาณ 200 หลังคาเรือน ที่ได้รับผลกระทบ ทางผู้บริหารร่วมกับทีมวิศวกรได้เข้าสำรวจความเสียหายของบ้านแต่ละหลังเช่นเดียวกัน โดยจะเร่งระดมช่างเพื่อเข้าซ่อมแซมบ้านที่เสียหาย เพื่อให้ลูกค้าสามารถเข้าอยู่ และกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติได้อย่างรวดเร็วที่สุดต่อไป
สำหรับผู้ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ถ้าได้ทำประกันอัคคีภัยกับธนาคารที่ให้สินเชื่อไว้ หรือทำประกันเอาไว้เองก็ต้องรับไปตรวจสอบกับบริษัทว่า กรมธรรม์ที่ทำไว้คุ้มครองความเสียหายมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ทำกันไว้ครับ
ประกันอัคคีภัย คุ้มครองความเสียหายให้บ้านคุณ
นิชฌานี ฉันทศาสตร์ จาก K-Expert ธนาคารกสิกรไทย ให้ข้อมูลเอาไว้ว่า หลายคนอาจมีคำถามว่าทำไมธนาคารต้องให้เราทำประกันเวลากู้ซื้อบ้าน สามารถเลือกไม่ทำได้หรือไม่ คำตอบคือ มีประกันอยู่ 2 ประเภทที่ธนาคารให้ผู้ขอสินเชื่อบ้านทำ โดยมีทั้ง “ประกันที่ต้องทำ” และ “ประกันที่ควรทำ”
ประกันที่ต้องทำ คือ ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย โดยทั่วไปธนาคารจะให้ผู้ขอสินเชื่อบ้านทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย เพราะว่าผู้ขอสินเชื่อบ้านต้องนำบ้านที่ซื้อมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
โดยการทำประกันอัคคีภัยจะคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับบ้านและทรัพย์สินภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความเสียหายจากไฟไหม้ ฟ้าผ่า ภัยระเบิด ภัยจากการถูกชนโดยยานพาหนะหรืออากาศยาน หรือภัยเนื่องจากน้ำ โดยค่าเบี้ยประกันอยู่ที่ประมาณ 1,000 – 3,000 บาท ต่อทุนประกัน 1 ล้านบาทแล้วเรายังสามารถซื้อความคุ้มครองในส่วนภัยพิบัติ เช่น ภัยน้ำท่วม ลมพายุ และแผ่นดินไหว เพิ่มเติมได้
ไม่ว่าบ้านของเรากำลังผ่อนชำระอยู่หรือไม่ก็ควรทำประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย เพราะหากมีเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับบ้าน อย่างน้อยก็มีประกันที่ช่วยชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเพียงหลักพันถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ
ส่วนประกันที่ควรทำ คือ ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองหนี้สินบ้าน โดยธนาคารมักแนะนำให้ผู้ขอสินเชื่อบ้านทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองหนี้สินบ้าน ซึ่งผู้ขอสินเชื่อจะทำหรือไม่ก็ได้ และหากไม่ทำก็ไม่ได้ส่งผลต่อการอนุมัติสินเชื่อใด ๆ เพียงแต่แนะนำว่าผู้ขอสินเชื่อบ้านควรทำประกันประเภทนี้ เพื่อคุ้มครองผู้ผู้ขอสินเชื่อ กรณีเสียชีวิตและกรณีทุพพลภาพสิ้นเชิงถาวร โดยจะได้รับเงินชดเชยเท่ากับทุนประกันหรือความคุ้มครองที่คงเหลืออยู่