แม้ว่าอสังหาริมทรัพย์ไทยจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มายาวนานมากกว่า 1 ปี แต่ความสนใจซื้ออสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยและลงทุนของชาวต่างชาติก็ยังมีอยู่อย่างต่อเนื่อง ถึงจะชะลอตัวลงไปในช่วงวิกฤติโควิด แต่นั่นเป็นเพราะข้อจำกัดในการเดินทางทำให้ชาวต่างชาติยังไม่สามารถเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อการซื้อขายของชาวต่างชาติต้องชะลอออกไป ยิ่งทำให้เกิดความต้องการสะสม (Pending Demand) ที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นขุมทรัพย์ก้อนโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หลังการเปิดประเทศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
จากตัวเลขของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ที่ได้เก็บข้อมูลการโอนกรรมสิทธิ์ของชาวต่างชาติในปี 2561-2563 พบว่า ในปี 2561 มีชาวต่างชาติโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดรวม 13,568 หน่วย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ปี 2562 มียอดโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติรวม 12,798 หน่วย คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปี 2562 เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ในปี 2563 การโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของต่างชาติลดลงไปประมาณ 35% เหลือ 8,285 หน่วย คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.7 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ประเมินว่า โดยเฉลี่ยต่อปีจะมีการโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดของชาวต่างชาติประมาณ 11,550 หน่วย คิดเป็นมูลค่า 48,526 ล้านบาท การที่ตัวเลขโอนกรรมสิทธิ์ของต่างชาติลดลงในปี 2563 เช่นเดียวกับในปี 2564 ที่มีแนวโน้มที่ลดลงในระดับใกล้เคียงกับปี 2563 มีเหตุผลสำคัญจากการที่ชาวต่างชาติไม่สามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้
ขณะเดียวกันข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า มูลค่าเงินโอนจากต่างชาติเพื่อจ่ายเงินดาวน์และซื้ออาคารชุดในประเทศไทยนับตั้งแต่ปี 2556-2559 มีมูลค่าเฉลี่ยปีละประมาณ 50,000 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น เป็น 71,000 ล้านบาท ในปี 2560 ขณะที่ปี 2561 มูลค่าเงินโอนจากต่างชาติเพื่อจ่ายเงินดาวน์และซื้ออาคารชุดสูงถึง 92,000 ล้านบาท ก่อนที่จะเริ่มลดลงในปี 2562 เหลือ 68,000 ล้านบาท
ดังนั้น เมื่อประเทศไทยสามารถฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้อย่างทั่วถึง และสามารถเปิดประเทศกลับมาได้อีกครั้ง Pending Demand ที่หายไปในปี 2563 และปี 2564 พร้อมทั้ง New Demand ของต่างชาติที่มีความเชื่อมั่นต่อระบบสาธารณะสุข และการแพทย์ของไทย จะกลับเข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยเป็นบ้านหลังที่สองหรือซื้อเพื่อลงทุน เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
แม้ว่าในเวลานี้ชาวต่างชาติจะยังไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้สะดวกนัก แต่ก็ยังให้ความสนใจในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูล DDproperty.com ระบุว่า จำนวนคนเข้าชมเว็บไซต์ DDproperty เพื่อหาซื้อและเช่าอสังหาริมทรัพย์ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีประมาณ 3-3.5 ล้านคนต่อเดือน
ในจำนวนดังกล่าวเป็นชาวต่างชาติประมาณ 30% โดยส่วนใหญ่ยังคงเป็นชาวจีนที่ต้องการหาข้อมูลเพี่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา และมีเพิ่มขึ้นในระยองอยู่บ้าง ขณะที่ชาวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ ทั้งญี่ปุ่น และยุโรปต้องการหาเช่าอสังหาริมทรัพย์มากกว่าการซื้อ
เมื่อมีขุมทรัพย์แสนล้านอยู่ตรงหน้า บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) จึงให้ความสำคัญกับตลาดนี้มากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะชาวจีนที่เป็นตลาดหลักของไทย ซึ่งมีสัดส่วนการโอนกว่า 60% ของชาวต่างชาติที่โอนคอนโดมิเนียมในปี 2563
ขณะที่การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนก็พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยในไตรมาสแรก GDP ของจีน สูงถึง 18.3% โดยทางการจีนได้ประมาณการเติบโตทั้งปีเอาไว้ที่ 6%
จากจำนวนประชากรที่มากที่สุดกว่า 1,400 ล้านคน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง จีนจะเป็นเมกะเทรนด์ของโลก อิทธิพลของจีนต่อตลาดโลกมีอย่างมหาศาล ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของเราจะรองรับเมกะเทรนด์นี้อย่างไร” นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็น
ขณะที่ประเทศไทยยังคงเป็น World Class Destination ที่ชาวต่างชาติอยากจะเข้ามาท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม วัฒนธรรม และการบริการที่ดี รวมถึงระบบสาธารณสุขของไทยเป็นอันดับ 1 ในเอเชียที่ทั่วโลกยอมรับ ยิ่งทำให้ชาวต่างชาติต้องการเข้ามาพักอาศัยในเมืองไทยมากขึ้น
ด้านประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า จากยอดขายของชาวต่างชาติที่ลดลงไปถึง 89% ในปี 2563 ทำให้ประเมินได้ว่า ถ้าเปิดประเทศมีการเดินทางได้เมื่อไหร่ ตลาดคอนโดมิเนียมของไทยระเบิดแน่นอน
พร้อมกับยืนยันว่า ความต้องการซื้ออสังหาริมทรัพย์ไทยของต่างชาติโดยเฉพาะลูกค้าชาวจีนยังมีอยู่มาก แม้จะอยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และไม่สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศไทยได้ แต่ยอดโอนของบริษัทในปีที่ผ่านมาจำนวน 18,340 ล้านบาท 21% หรือเกือบๆ 4,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับกลยุทธ์ในการโอนผ่านระบบออนไลน์
นอกจากนี้ยัง มีลูกค้าต่างชาติกลุ่มหนึ่งรวมแล้วเกือบๆ 1,000 ล้านบาท ที่ยินดีโอนเงินค่าห้องให้ 100% โดยที่ยังไม่รับโอนกรรมสิทธิ์ เพราะอาจจะติดปัญหาเอกสารบางอย่าง แสดงถึงความต้องการซื้อจริงๆ ของชาวต่างชาติ
บริษัทยังเชื่อมั่นว่ากลุ่มลูกค้าความมั่งคั่งสูง (High net worth individual) ยังมีความต้องการซื้ออสังหาฯระดับพรีเมี่ยมที่มีราคาขายสมเหตุสมผลกับคุณภาพของโครงการ โดยลูกค้ากลุ่มนี้จะมีความพิถีพิถัน และใช้เวลาตัดสินใจค่อนข้างนาน และส่วนใหญ่จะตัดสินใจง่ายขึ้นหากเป็นโครงการพร้อมอยู่ที่ได้เห็นของจริง” นายประเสริฐกล่าว
อนันดา จึงได้ร่วมกับพันธมิตรซึ่งเป็นบริษัทตัวแทนอสังหาริมทรัพย์ เพื่อทำตลาดในต่างประเทศ ได้แก่ บริษัท ไทยเวย์พร็อพเพอร์ตี จำกัด และบริษัท ชินยู เรียล เอสเตส จำกัด นำคอนโดพร้อมอยู่ 2 โครงการนำร่อง ได้แก่ ไอดีโอ คิว สุขุมวิท 36 และ แอชตัน อโศก ออกไปโปรโมทในจีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ เรียกว่าเป็นการทำตลาดล่วงหน้ารอการเปิดประเทศที่จะมาถึงในอนาคต
“เรายังเชื่อมั่นว่าโมเดลธุรกิจของบริษัท ผสานกับการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญและเข้าใจลูกค้าต่างชาติเป็นอย่างดี จะสามารถเชื่อมโยงความต้องการของนักลงทุนต่างชาติกับโครงการของบริษัท ที่คัดสรรทุกมาเป็นอย่างดีเพื่อให้สามารถตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของการอยู่อาศัยได้เป็นอย่างดี” นายประเสริฐกล่าว
ในปีนี้ อนันดา ตั้งเป้ายอดขายเอาไว้ 18,570 ล้านบาท และตั้งเป้ารายได้ที่ 16,008 ล้านบาท โดยมี Backlog ที่จะโอนในปีนี้กว่า 3,847 ล้านบาท ขณะที่มีสต๊อกคอนโดสร้างเสร็จที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นรายได้อยู่กว่า 26,000 ล้านบาท พร้อมกับคอนโดใหม่อีก 5 โครงการ มูลค่า 24,422 ล้านบาท ที่จะเปิดขายในครึ่งปีหลัง
หากเราเปิดประเทศได้เมื่อไหร่ และด้วยแผนการที่เตรียมไว้ อนันดา ก็พร้อมมากๆ กับการแย่งชิงส่วนแบ่งขุมทรัพย์แสนล้านจากตลาดต่างชาติ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับบริษัทในอนาคต “ปีนี้ผู้ชนะคือ ผู้ที่มีสต๊อกพร้อมขายอยู่ในมือที่พร้อมจะเปลี่ยนเป็นรายได้ และเราจะเป็นผู้ชนะสำหรับปีนี้” ผู้บริหาร อนันดา มั่นใจอย่างเต็มเปี่ยม