ช่วงนี้เชื่อว่าหลายคนต้องอยู่บ้านเก็บตัวกันแบบยาวๆ เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 และลดการแพร่ระบาดที่กระจายเป็นวงกว้าง
การใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้นทำให้การใช้ไฟ และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ก็มากขึ้นตามไปด้วย โอกาสที่จะเกิดการใช้ไฟที่มากเกิน หรือเกิดไฟ้ารั่ว ไฟฟ้าช๊อตจากอุปกรณ์ต่างๆ ย่อมเกิดขึ้นได้ วันนี้เรามีผู้เชี่ยวชาญมาแนะนำการตรวจเช็คอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อความปลอดภัยในการอยู่อาศัย ห่างไกลจากภัยที่อาจจะเกิดจากไฟฟ้ากันครับ
ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้า สภาวิศวกร นายเตชทัต บูรณะอัศวกุล อนุกรรมการสวัสดิการและสมาชิกสัมพันธ์ สภาวิศวกร และ อนุกรรมการทดสอบความรู้ความชำนาญฯ สาขาวิศวกรรรมไฟฟ้า เปิดเผยว่า ระยะเวลาที่ต้องอยู่บ้านนานขึ้นจากการ Work from Home หรือการเรียน Online เป็นปัจจัยสำคัญให้ทุกครัวเรือนหรืออาคารในหลายพื้นที่ มีเหตุจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้าสูงจนอาจเกิดภาวะกระแสไฟฟ้าเกินหรือไฟช็อตได้
ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันเหตุอันตรายจากภาวะดังกล่าว ผู้ใช้งานจึงควรสังเกต 3 อาการเสี่ยงไฟดูด-ไฟช็อต-ไฟเกิน ของอุปกรณ์ไฟฟ้า ดังนี้
- สายไฟถลอกหรือชำรุด กรณีที่มีการเดินระบบสายไฟบริเวณผนังหรือฝ้าเพดานบ้าน อาจจะส่งผลให้ฉนวนสายไฟเกิดการถลอกได้ ดังนั้น จึงควรแจ้งให้ผู้รับเหมาหรือวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ทำการทดสอบค่าความเป็นฉนวนทุกครั้ง เพื่อป้องกันฉนวนสายไฟชำรุดหรือสึกหรอ
- เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหรือชำรุด เครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดมีอายุการใช้งานที่เหมาะสม แต่ในกรณีที่ใช้งานนานต่อเนื่อง เช่น การเปิดพัดลมไว้นานหลายชั่วโมง อาจจะส่งผลให้มอเตอร์พัดลมมีความร้อนสูงและนำไปสู่การไหม้ได้ ดังนั้น หากพัดลมมีอาการดังกล่าว ควรปิดวงจรและดึงปลั๊กออกจากเต้าเสียบทันที
- จุดต่อหลวม เสีย หรือชำรุด ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับหนึ่ง ในกรณีที่ช่างไฟฟ้าติดตั้งไม่ได้คุณภาพ อาจจะทำให้จุดต่อของปลั๊กไฟ หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าหลวมได้ และอาจจะเกิดอันตรายในที่สุด
- สัตว์หรือสิ่งของบางประเภท (เช่น โลหะ) เป็นส่วนนำกระแสไฟฟ้า ในช่วงอากาศชื้น หรือหลังฝนตก สัตว์จำพวกมดและปลวก มักทำรังบริเวณที่มีความอบอุ่น ดังนั้น หากสังเกตพบสัตว์ดังกล่าว เดินทางเป็นแนวยาวไปยังบริเวณเต้ารับหรือสวิตช์ (กระดิ่งกดหน้าบ้าน) ต้องรีบกำจัดเพื่อป้องกันการช็อต-รั่วของระบบไฟฟ้าภายใน
นอกจากนี้ บ้านอยู่อาศัยหรืออาคารสถานที่ต่างๆ ควรติดตั้ง “เครื่องตัดไฟรั่ว” (RCD: Residual Current Device) เครื่องตัดไฟฟ้าอัตโนมัติ กรณีกระแสไฟฟ้าที่ไหลผ่านเข้ามีค่าไม่เท่ากระแสไฟฟ้าที่ไหลออก พร้อมป้องกันอันตรายจากการถูกไฟฟ้าดูด กรณีแรงดันไฟฟ้าที่กำหนดไม่เกิน 440 โวลต์ โดยจะต้องมีคุณสมบัติตามมาตรฐาน IEC 60755, IEC 61008, IEC 61543 หรือ มอก. 909-2548 หรือ มอก. 2425-2552 ดังนี้
1. มีค่ากระแสรั่วไม่เกิน 30 มิลลิแอมแปร์ และมีช่วงเวลาในการตัดไม่เกิน 0.04 วินาที
2. ต้องเป็นชนิดที่ปลดสายไฟเส้นที่มีไฟทุกเส้นออกจากวงจร รวมทั้งสายนิวทรัล (Neutral)
3. ห้ามต่อวงจรคร่อมผ่าน (By Pass) นอกจากนี้ ยังควรหมั่นตรวจสอบ-บำรุงรักษาอุปกรณ์หรือระบบไฟฟ้าภายในบ้านอย่างสม่ำเสมอ
4. ควรกดปุ่มทดสอบ (Test Trip) หรือเปิดปิด C.B เพื่อให้กลไกทำงานได้อย่างปกติ
โดยสามารถขอคำปรึกษากับสภาวิศวกร ผ่านสายด่วน 1303 ไลน์ไอดี @coethai หรือขอคำแนะนำจากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญได้ที่ แอปพลิเคชันรวมช่าง (Fixer Finder) ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ขณะที่ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมาข่าวการเสียชีวิตจากเหตุ ‘ไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อตหรือไฟเกิน’ ยังมีให้พบเห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ปริมาณ ระยะเวลา และเส้นทางหรือส่วนที่กระแสไฟฟ้าไหลผ่านจากร่างกายลงสู่ดิน สภาวิศวกร ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม และพร้อมให้บริการด้านวิชาการแก่ประชาชน
ทั้งนี้ เพื่อสร้างความปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สภาวิศวกร จึงเปิดแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ผู้สนใจสามารถรับชมย้อนหลังได้สะดวกขึ้น ผ่านยูทูบแชลแนล (YouTube Channel) ‘COE Thailand’ ซึ่งภายในมีหัวข้อ/งานวิศวกรรมที่น่าสนใจจำนวนมาก ทั้งการออกแบบระบบไฟฟ้าในอาคารชุด แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 และไฟป่า การแก้ไขอาคารทรุดตัว ฯลฯ หรือกรณีพบข้อสงสัยเกี่ยวกับงานด้านวิศวกรรม สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนสภาวิศวกร 1303 และไลน์ไอดี @coethai
นอกจากนี้ ยังสามารถติดตามข่าวสารและกิจกรรมความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกรได้ที่ เว็บไซต์ www.coe.or.th เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/coethailand และยูทูบแชลแนล “COE Thailand” หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ สายด่วนสภาวิศวกร 1303 และไลน์ไอดี @coethai