fbpx
brochure bkm ศรีนครินทร์ อ่อนนุช 121020 page 005

เอพี ขยายเซ็กเมนต์ลุย Mass Product เจาะคนเมือง

เอพี ไทยแลนด์ ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในปี 2563 ที่ผ่านมา ด้วยยอดรายได้รวม 46,130 ล้านบาท ทำให้ในปี 2564 เอพีมีภารกิจที่ยิ่งใหญ่คือการเอาชนะตัวเอง ท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่ต่างไปจากปีที่ผ่านมา และอาจจะลำบากมากขึ้นเมื่อบริษัทอสังหาฯระดับบิ๊กเนมต่างก็พร้อมจะแย่งชิงความเป็นหนึ่งในตลาดเดียวกัน

ถือเป็นความท้าทายของทีมบริหาร และเป็นภาระที่หนักหน่วงของแม่ทัพคนสำคัญของเอพี นายวิทการ จันทวิมล รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานกลยุทธ์องค์กรและการสร้างสรรค์ บริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) ที่จะต้องนำพาเอพีเดินหน้าสู่เป้าหมายที่วางเอาไว้

เอพี

เปิด 34 โครงการใหม่ ปั๊มยอดขาย 3.5 หมื่นล.
ในปี 2564 เอพี มีแผนจะเปิดโครงการใหม่จำนวน 34 โครงการ มูลค่ารวม 4.3 หมื่นล้านบาท โดยยังคงเน้นที่โครงการที่อยู่อาศัยแนวราบ 30 โครงการ มูลค่ารวม 28,800 ล้านบาท และคอนโดมิเนียมที่คาดว่าจะพร้อมเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลังอีก 4 โครงการ มูลค่ารวม 14,200 ล้านบาท พร้อมกับตั้งเป้ารับรู้รายได้ (รวมโครงการร่วมทุน) จำนวน 4.31 หมื่นล้านบาท และเป้ายอดขายอยู่ที่ที่ 3.55 หมื่นล้านบาท

“ตอนนี้เอพีมีโครงการอยู่ทั่งหมด 147 โครงการ มูลค่ารวม 1.22 แสนล้านบาท บวกกับ 34 โครงการที่จะเปิดใหม่ในปี 2564 ซึ่งยังคงโฟกัสที่โครงการที่อยู่อาศัยเป็นหลักและเสริมด้วยคอนโดมิเนียม ขณะนี้ได้เปิด 2 โครงการใหม่ในต่างจังหวัด ที่อยุธยาและเชียงรายไปแล้ว มียอดขายประมาณ 10% และในไตรมาส 2 จะเปิดโครงการใหม่อีก 5 โครงการ ส่วนที่เหลือซึ่งรวมทั้งคอนโด 4 โครงการใหม่จะเปิดตัวในช่วงครึ่งปีหลัง” นายวิทการกล่าว

ขยายเซ็กเมนต์แมสโปรดักส์สำหรับคนเมือง
นอกจากนี้ เราเริ่มมองเห็นโอกาสจากการมีโครงการในมืออยู่มากในช่วง 3-10 ล้านบาท ทั้งโครงการแนวราบและแนวสูง เราก็เริ่มมองเห็นโอกาสจากซัพพลายที่เริ่มหายไปจากตลาดในราคาที่ต่ำกว่า 3 ล้านบาท ซึ่งเรากำลังศึกษาแมสโปรดักส์สำหรับคนเมืองอยู่ และตลาดที่มากกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไปถึง 20-30 ล้านบาท ก็เป็นอีกตลาดที่เริ่มหมดและยังมีดีมานด์อยู่ ซึ่งจะทำให้เอพีขยายตลาดได้กว้างขึ้นจากเดิมที่โฟกัสอยู่ที่ราคา 3-10 ล้านบาท

ตลาดหลักๆ ในปีนี้จะยังคงเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบ และเริ่มมีคอนโดมิเนียมเข้ามาเสริม โดยในช่วงครึ่งปีหลัง จะมีคอนโดมิเนียมใหม่ทะยอยเปิดตัวมากขึ้น หลังจากสต๊อกเก่าเริ่มลดลง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการรายใหญ่จะขยายเซ็กเมนต์ครอบคลุมในทุกตลาดซึ่งจะทำให้การแข่งขันเข้มข้นยิ่งขึ้น

เอพี

สัญญาณดี 2 เดือนแรกยอดขายวิ่งฉิวโต 37%
นายวิทการ กล่าวอีกว่า สำหรับภาวะตลาดตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะเกิดการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ แต่ความต้องการซื้อยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะประสบการณ์จากการระบาดรอบแรกทำให้ผู้บริโภคไม่ค่อยตื่นเต้นตกใจ ประกอบกับ การที่ภาครัฐไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์เหมือนครั้งแรกทำให้ sentiment ในตลาดยังดีอยู่ ขณะที่ผู้ประกอบการก็ใช้ประสบการณ์จากระบาดรอบที่แล้ว ปรับแผนรับมือได้ดี

สิ่งที่ยืนยันได้ก็คือตัวเลขยอดขายเดือนมกราคมจนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ เอพีมียอดขายเข้ามาแล้ว 4,500 ล้านบาท (เติบโตขึ้น 37%) จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยเป็นยอดขายจากบ้านแนวราบ 4,100 ล้านบาท (เติบโตขึ้น 50%) และยอดขายคอนโดอีก 400 ล้านบาท ที่น่าสังเกตคือ ลูกค้าที่โอนคอนโด 40% โอนด้วยเงินสด

ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเอพีกับการเริ่มต้นธุรกิจในปี 2564 และ ด้วยพลัง Empower Living และ 3 กลยุทธ์ที่ทางทีมบริหารได้นำมาใช้ จะนำพาเอพีวิ่งชนความสำเร็จเหมือนในปีที่ผ่านมาได้หรือไม่ต้องติดตาม

3 ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเอพี สู่การเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

1. สร้างผู้นำอิสระ เพิ่มโอกาสในการแข่งขันที่มากกว่า (CREATE INDEPENDENT RESPONSIBLE LEADERS) องค์กรจึงจำเป็นต้องมีความยืดหยุ่นสูงยิ่งในสภาวะที่ไม่ปกติ เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันที่มากขึ้น บริษัทฯ จึงให้เดินหน้าสร้างบทบาทของผู้นำในโลกยุคใหม่ ให้เป็น “ผู้นำที่มีความเป็นอิสระในการตัดสินใจ” ภายใต้กรอบความรับผิดชอบต่อตนเอง ลูกค้า คู่ค้า และเพื่อนร่วมงานดำเนินงาน โดยมุ่งเน้นไปที่ “ความต้องการของลูกค้า” มากกว่า “ข้อกำหนดของบริษัท” หรือ “ข้อจำกัดขององค์กร”

2. การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม (INNOVATIVE CULTURE) การที่พนักงานเอพี ทุกคนจะสามารถสร้างและจัดหาสินค้าหรือบริการที่เกื้อหนุนให้ผู้คนในสังคม สามารถเลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการด้วยตนเองนั้น สมาชิกทุกคนในองค์กรไม่ว่าจะทำหน้าที่ในบทบาทใด หรือรับผิดชอบเรื่องใด พวกเขาจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้เกิดขึ้น บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม ผ่านการปลูกฝังให้พนักงานทุกคนมีระบบคิดตามหลัก DESIGN THINKING ที่ให้ความสำคัญกับการค้นหา Unmet Need ของลูกค้า ให้เกิดขึ้นกับพนักงานเอพีทุกคน

3. ทรานฟอร์มทุกมิติด้วยดิจิทัล (EVERYTHING DIGITAL) อีกหนึ่งยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนองค์กรคือ การนำทุกมิติของการดำเนินงานเข้าสู่ระบบดิจิทัลแบบองค์รวม (Holistic Digital Management) ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับลูกค้า พาร์ทเนอร์ที่ทำงานร่วมกับเอพี หรือ พนักงาน เพื่อเป็นรากฐานสนับสนุน 2 ยุทธศาสตร์ข้างต้น ทั้งนี้ การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองลูกค้า ตลอดจนการสร้างนวัตกรรมจำเป็นต้องมีข้อมูลที่รวดเร็ว และถูกต้อง เพื่อนำมาใช้ในการวิเคราะห์ค้นหา Unmet Need ของลูกค้าได้อย่างแม่นยำ เพื่อส่งมอบ ‘ประสบการณ์การใช้ชีวิต’ ผ่านสินค้าและบริการที่มีความสะดวกและรวดเร็วให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ

ติดตามช่อง Property Mentor Chanel ทาง YouTube

Property Mentor Line Official: https://lin.ee/nE9XYOo4