fbpx
ภาพโดย PIRO4D จาก Pixabay

รีโนเวทบ้าน ไม่ยากอย่างที่คิด!

ในสังคมยุคดิจิทัล เจ้าของบ้านส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการค้นหาข้อมูลก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า ซื้อบ้าน รวมถึงปรับปรุงบ้าน ซึ่งจากสถิติการค้นหาใน Google trends พบว่าในปีพ.ศ. 2563 คำว่า ‘รีโนเวทบ้าน’ มีการค้นหาสูงที่สุดในรอบ 5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในการรีโนเวทบ้านที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันเศรษฐกิจที่ยังทรงตัว ทำให้ผู้บริโภคอาจลังเลที่จะซื้อบ้านหลังใหม่ ดังนั้นการรีโนเวทบ้านจึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถตอบโจทย์

ทั้งเรื่องการปรับปรุงพื้นที่ให้มีฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะกับสมาชิกในครอบครัว เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หรือคนวัยทำงาน การปรับดีไซน์บ้านหลังเก่าให้มีชีวิตชีวามากขึ้น รวมถึงต่อเติม หรือซ่อมแซมบ้านให้มีสภาพที่ดี “เอสซีจี” ในฐานะผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างครบวงจร จึงได้รวบรวม 5 ข้อสงสัย ที่เจ้าของบ้านอยากรู้เมื่อต้องการรีโนเวทบ้าน พร้อมแนะนำทริคดีๆ ที่จะทำให้การรีโนเวทบ้านไม่วุ่นวาย ไม่มีปัญหากวนใจภายหลัง และได้บ้านที่ตรงใจมากที่สุด

นายเจือ คุปติทัฬหิ Consult and Design Solution Business Lead จากเอสซีจี กล่าวว่า หลายคนอาจคิดว่า การรีโนเวทบ้านเป็นเรื่องง่าย และใช้งบประมาณน้อยกว่าซื้อบ้านหลังใหม่ แต่จริงๆ แล้ว หากเจ้าของบ้านขาดการวางแผนที่ดี อาจต้องเจอปัญหามากมาย ซึ่งจากประสบการณ์ในการให้บริการลูกค้ามายาวนาน เอสซีจีได้รวบรวม 5 คำถามที่เจ้าของบ้านที่ต้องการรีโนเวทบ้านนำมาปรึกษามากที่สุด ดังนี้

1. จะรีโนเวทบ้าน ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี
2. หาช่างยาก จะหาอย่างไรให้ได้ช่างที่ดี มีคุณภาพ ไม่ทิ้งงาน
3. มีงบประมาณอย่างจำกัด จะรีโนเวทได้ไหม และจะจัดสรรงบอย่างไร
4. ควรเลือกวัสดุก่อสร้างอย่างไรให้ได้คุณภาพดี
5. วัสดุก่อสร้างควรเลือกมีการรับประกันหรือบริการหลังการขายด้วยไหม

“เอสซีจี” จึงไขข้อสงสัย พร้อมแนะนำทริคที่จะช่วยให้เจ้าของบ้านสามารถวางแผนในการรีโนเวทบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ต้องมาปวดหัวกับปัญหาเหล่านี้อีกต่อไป

1.จะรีโนเวทบ้าน ไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี?
สิ่งแรกที่เจ้าของบ้านควรคำนึงเสมอเมื่อต้องการรีโนเวทบ้าน คือ กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน ว่าต้องการจะปรับปรุงบ้านทั้งหลัง จัดสรรพื้นที่บ้านใหม่ หรือซ่อมแซมบ้าน จากนั้นจึงหาข้อมูลเพิ่มเติม และสิ่งที่ขาดไม่ได้ คือ ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพควบคู่ไปด้วย เนื่องจากการปรับพื้นที่บ้านเดิมมีข้อจำกัดมากกว่าการสร้างและต่อเติมใหม่จึงมีรายละเอียดงานที่ต้องคำนึงถึงมากมาย เช่น โครงสร้างเดิมของบ้าน การกำหนดรูปแบบการรีโนเวท การเลือกและหาซื้อวัสดุก่อสร้าง การคำนวณวัสดุที่ต้องใช้เพื่อวางแผนงบประมาณที่เหมาะสม การรื้อถอนวัสดุเดิมและดำเนินการปรับปรุงพื้นที่โดยไม่กระทบกับงานโครงสร้าง หรือพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของบ้าน

โดยปัจจุบันมีบริการให้คำปรึกษาและวางแผนเรื่องบ้านให้เจ้าของบ้านได้ใช้บริการมากมาย ซึ่งเอสซีจี มีบริการให้คำปรึกษาเรื่องบ้านจากทีมผู้เชี่ยวชาญมืออาชีพ วิศวกร และดีไซน์ผ่านช่องทางที่หลากหลาย ได้แก่ SCG HOME Contact Center เอสซีจี เอ็กซ์พีเรียนซ์ (SCG Experience) เอสซีจี โฮมโซลูชั่น (SCG HOME SOLUTION) รวมถึงเว็บไซต์ และโซเชียลมีเดียต่างๆ ของเอสซีจี นอกจากนี้ก่อนเข้าไปปรึกษากับเชี่ยวชาญอย่าลืมเตรียมข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ เช่น ผังพื้นบ้านเดิม รูปถ่ายบ้านและพื้นที่โดยรอบ รวมถึงวัตถุประสงค์ที่ต้องการปรับปรุง เพื่อให้การวางแผนรีโนเวทบ้านมีความสมบูรณ์แบบมากที่สุด

2. หาช่างยาก จะหาอย่างไรให้ได้ช่างที่ดี มีคุณภาพ ไม่ทิ้งงาน?
เป็นหนึ่งในปัญหาที่พบบ่อย และสร้างความกังวลให้เจ้าของบ้านมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น หาช่างไม่ได้ ได้ช่าง หรือผู้รับเหมาที่ทำงานไม่เรียบร้อย ทิ้งงานกลางคัน ทำงานเสร็จไม่ตรงตามกำหนด และอีกมากมาย เอสซีจี จึงอยากแนะนำองค์ประกอบที่ควรพิจารณาเมื่อจะเลือกช่าง หรือผู้รับเหมา ดังนี้ ควรเลือกบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ หากเป็นช่างอิสระให้ดูผลงานที่ผ่านมา ราคาสมเหตุสมผล หากเป็นการซ่อมแซม หรือปรับปรุงเฉพาะส่วนควรเลือกใช้ช่างที่มีความชำนาญแต่ละประเภทของงานซ่อม เช่น ช่างหลังคา ช่างปูน ช่างไม้

หรือเรียกใช้บริการช่างแบบครบวงจรจากผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่มีบริการติดตั้งให้สำเร็จ อย่างเอสซีจี ซึ่งจะมีข้อดีทั้งเรื่องความชำนาญและมาตรฐาน มีการรับประกันผลงาน ทั้งยังมีเครือข่ายทีมช่างที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านครอบคลุมทุกประเภทงาน รวมถึงมีทีมงานที่ดูแลแต่ละขั้นตอน การสำรวจหน้างาน การติดตั้งและปรับปรุงการตรวจสอบคุณภาพ และการดูแลหลังการขาย เรียกว่าครบจบในที่เดียว

3. มีงบประมาณอย่างจำกัดจะรีโนเวทได้ไหม และจะจัดสรรงบอย่างไร?
การรีโนเวทบ้านสามารถทำได้ภายในงบประมาณที่จำกัด โดยเลือกรีโนเวทเฉพาะส่วนที่จำเป็นก่อน หากมีงบประมาณเหลือสามารถนำไปทำในส่วนอื่นๆ ที่มีความสำคัญรองลงมาได้ และสิ่งสำคัญ คือ เจ้าของบ้านควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและวางแผนงบประมาณอย่างรอบคอบ เพื่อจัดสรรและควบคุมงบให้เป็นไปตามแผน โดยสิ่งที่ต้องนำมาคำนวณ ได้แก่ 1. ค่าออกแบบของสถาปนิก มัณฑนากร หรือวิศวกร ในกรณีที่ต้องมีการออกแบบพื้นที่ใหม่ 2. ค่าก่อสร้าง หรือรีโนเวท ซึ่งประกอบด้วย ค่าวัสดุก่อสร้างที่คำนวณจากวัสดุที่เลือกและปริมาณที่ต้องใช้ ค่าแรงงาน ค่าดำเนินการของผู้รับเหมา ค่าน้ำ และค่าไฟฟ้า 3. ค่าใช้จ่ายอื่นๆ และค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดจากงบบานปลาย เช่น ค่าเช่าบ้านชั่วคราวขณะต้องปรับปรุงพื้นที่ภายในบ้าน ค่าซ่อมแซมเพิ่มเติมที่เกิดจากอุบัติเหตุในการรื้อถอน การเปลี่ยนวัสดุที่มีราคาสูงขึ้น หรือช่างทิ้งงานกลางคัน เป็นต้น

4. เลือกวัสดุก่อสร้างอย่างไรให้ได้คุณภาพดี?
เจ้าของบ้านควรร่วมกันเลือกวัสดุก่อสร้างกับสถาปนิก หรือผู้เชี่ยวชาญ โดยหัวใจสำคัญในการเลือกวัสดุ คือ คุณภาพและความทนทาน ซึ่งปัจจุบันมีการนำนวัตกรรมต่างๆ มาผสานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และช่วยให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น นอกจากนี้เจ้าของบ้านควรเลือกวัสดุให้ตอบปัจจัยด้านต่างๆ เพื่อให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุด อาทิ เหมาะกับงบประมาณที่ตั้งไว้ มีดีไซน์ที่สวยงามถูกใจ มีฟังก์ชันการใช้งานที่ตอบโจทย์ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและผู้อยู่อาศัย มีฉลากรับรองที่ได้มาตรฐานต่างๆ เช่น มอก. ฉลากประหยัดพลังงาน ฉลากสิ่งแวดล้อม ตามเกณฑ์ ISO ฯลฯ เพราะเมื่อรีโนเวททั้งทีควรให้สามารถอยู่ได้ยาวนาน คุ้มค่าในระยะยาว ดีกว่าต้องมาปวดหัวกับการซ่อมแซมบ้านเพราะเลือกวัสดุไม่ได้คุณภาพ นอกจากนี้เมื่อเลือกวัสดุได้แล้ว เจ้าของบ้านควรระบุรายละเอียดลงไปในแบบบ้านที่จะรีโนเวททั้งชื่อแบรนด์ รุ่น สี และขนาด เพื่อให้ช่างสามารถเลือกซื้อวัสดุได้อย่างถูกต้อง และตรงตามที่เจ้าของบ้านต้องการ

5.วัสดุก่อสร้างควรเลือกแบบมีรับประกัน หรือบริการหลังการขายด้วยไหม?
การรับประกัน และบริการหลังการขาย เป็นสิ่งที่หลายๆ คนมักมองข้าม เนื่องจากคิดว่าซื้อของใหม่จะไม่มีปัญหา แต่อย่าลืมว่าบ้านเป็นสิ่งที่ใช้ในระยะยาว วัสดุก่อสร้างที่ใช้ก็ควรมีอายุการใช้งานที่ยาวนานเช่นกัน รวมถึงงานรีโนเวทบ้าน และสร้างบ้าน อาจมีปัญหาที่ไม่คาดคิดตามมาได้ทุกเมื่อ การรับประกัน และบริการหลังการขาย จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่เจ้าของบ้านได้มากเลยทีเดียว โดยสิ่งที่ต้องคำนึงเรื่องบริการหลังการขาย คือ เจ้าของแบรนด์ควรมีช่องทางการติดต่อที่สามารถให้คำปรึกษาได้ทันทีและหลากหลายช่องทาง มีทีมตรวจสอบคุณภาพสินค้าหลังการติดตั้ง รวมถึงมีทีมงานที่พร้อมจะลงพื้นที่ไปแก้ไขปัญหาให้เจ้าของบ้านได้อย่างรวดเร็ว ส่วนการรับประกันสินค้า ควรพิจารณาระยะเวลาในการรับประกัน และการคืนสินค้าเมื่อพบปัญหา

ภาพปกโดย PIRO4D จาก Pixabay