ทำเลพระราม 2 กำลังจะถูกพลิกโฉมอีกครั้ง ด้วยทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ที่เริ่มตอกเข็มก่อสร้างทางด่วนลอยฟ้าคร่อมถนนพระราม 2 จากบริเวณกม.ที่ 13 ไปตามแนวทางด่วนไปสิ้นสุดโครงการที่บริเวณถนนพระราม 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่
ในช่วงเวลา 3-4 ปี สำหรับการก่อสร้าง การจราจรบนถนนพระราม 2 ซึ่งปกติมีปัญหาติดขัดอย่างหนักอยู่แล้วจะยิ่งหนักขึ้นไปอีก แม้ว่า รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงคมนาคมจะกำชับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย และผู้รับเหมา พยายามลดผลกระทบกับผู้ที่ใช้เส้นทางสัญจรบนถนนดังกล่าวก็ตาม แต่ก็เชื่อว่า คงจะแก้ปัญหาอะไรได้ไม่มากนัก โดยคาดว่าทางด่วนเส้นทางนี้จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2567 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า
คลิปวิดีโอโดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม หากโครงการเสร็จสมบูรณ์จะอัพ ทำเลพระราม 2 ขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เนื่องจากทำเลพระราม 2 ปัจจุบันเป็นทำเลที่อยู่อาศัยแนวราบที่ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อหาที่อยู่อาศัยมาอย่างยาวนาน เพราะเป็นทำเลที่วิ่งเข้าสู่พื้นที่ย่านเศรษฐกิจใจกลางเมืองได้สะดวกรวดเร็ว เมื่อเทียบกับทำเลชานเมืองทางโซนอื่นๆ ของกทม.
เมื่อมีทางด่วนขยายออกไปนอกเขตวงแหวนรอบนอกและจะไปเชื่อมต่อกับกับโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 หรือมอเตอร์เวย์สายธนบุรี-ปากท่อของกรมทางหลวง ที่ได้เริ่มก่อสร้างไปแล้วก่อนหน้า การเดินทางเข้าออกเมืองจะยิ่งสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น และจะขยายพื้นที่การพัฒนาที่อยู่อาศัยเชื่อมต่อจากกรุงเทพฯไปจนถึงสมุทรสาครเลยทีเดียว
โดยเฉพาะบริเวณโดยรอบของทางขึ้น-ลงทั้งขาเข้าขาออกของทางด่วนพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก ที่อยู่บนถนนพระราม 2 จะกลายเป็น prime area ในพื้นที่ ได้แก่
- ด่านบางกระดี่ อยู่บริเวณพระราม 2 ซอย 84 ทางขึ้นอยู่ฝั่งขาเข้าเมือง ทางลงจะอยู่ฝั่งขาออกเมือง
- ด่านบางขุนเทียน อยู่บริเวณพระราม 2 ซอบ 69 ทางขึ้นอยู่ฝั่งออกเมือง ทางลงจะอยู่ฝั่งเข้าเมือง
- ด่านวัดเลา อยู่บริเวณพระราม 2 ซอย 50 ทางขึ้นอยู่ฝั่งขาเข้าเมือง ทางลงจะอยู่ฝั่งขาออกเมือง
- ด่านวัดยายร่ม อยู่บริเวณพระราม 2 ซอย 33 ทางขึ้นอยู่ฝั่งออกเมือง ทางลงจะอยู่ฝั่งเข้าเมือง
- ด่านพุทธบูชา อยู่บริเวณพระราม 2 ซอย 27 ทางขึ้นอยู่ฝั่งขาเข้าเมือง ทางลงจะอยู่ฝั่งขาออกเมือง
ในอีก 3-5 ปีข้างหน้าเมื่อทุกอย่างเสร็จสมบูรณ์ ทำเลพระราม 2 จะกลายเป็นทำเลที่อยู่อาศัยชั้นดีอีกแห่งของคนเมืองอย่างแน่นอน
แต่อีกไม่กี่วันนับจากนี้ คนย่านพระราม 2 คงจะต้องอดทนกับสภาพการจราจรที่จะติดขัดหนักขึ้นไปอีก นับตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค. 2563 ไปจนถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 กินเวลา 3 ปีกว่าๆ (ตามสัญญาก่อสร้าง จริงๆ อาจจะนานกว่านั้น) การทางพิเศษแห่งประเทศไทย โดยกิจการร่วมค้าซีทีบี ผู้รับเหมาก่อสร้างจะเริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่บริเวณหน้าโรงพยาบาลนครธน ไปจนถึงหน้าโรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้ต้องลดพื้นที่จราจรบนถนนพระราม 2 ด้านละ 1 ช่องทาง และทำการก่อสร้างที่เกาะกลางถนนพระราม 2 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
– ถนนพระราม 2 ขาเข้า จาก กม. 6+630.910 บริเวณหน้าโรงพยาบาลนครธน ถึง กม. 1+309.423 บริเวณหน้าโรงพยาบาลบางประกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล จะปิด 1 ช่องจราจรด้านขวาสุดของเกาะกลางถนน
– ถนนพระราม 2 ขาออก กม. 1+309.423 ถึง กม. 6+630.910 จะปิด 1 ช่องจราจรด้านขวาสุดของเกาะกลางถนน
นอกจากนี้ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้ว่าจ้าง บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินการก่อสร้าง โครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ในสัญญาที่ 4 ทำการก่อสร้างงานเข็มฐานรากและเสา ของโครงสร้างงานสะพานคู่ขนานสะพานพระราม 9 จึงได้เบี่ยงจราจร บริเวณพื้นที่ใต้ทางด่วนบางโคล่ มาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2563 ถึง วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2563 ในบริเวณดังนี้
-ทางพิเศษเฉลิมมหานคร บริเวณทางราบก่อนขึ้นสะพานพระราม 9 จะปิด 1 ช่องจราจรด้านซ้ายสุดทาง
-ทางพิเศษศรีรัช บริเวณทางลงบางโคล่ – สะพานพระราม 9 จะปิด 1 ช่องจราจรด้านขวาสุดทาง
สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 – ดาวคะนอง – วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานครด้านตะวันตก มีวัตถุประสงค์ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายทางพิเศษให้สามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและพื้นที่ชั้นในกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยแบ่งเบาปัญหาจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 และทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงบางโคล่-ดาวคะนอง นอกจากนี้ ยังเป็นเส้นทางที่ใช้ในการเดินทางและการขนส่งสินค้าในกรณีเกิดภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์อุทกภัย เป็นต้น
โครงการมีจุดเริ่มต้นบริเวณ กม. 13 ของถนนพระรามที่ 2 เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร (ทิศทางละ 3 ช่องจราจร) ซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 จนถึงด่านเก็บค่าผ่านทางด่วนดาวคะนอง จากนั้นซ้อนทับบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระรามที่ 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่ ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดโครงการ โดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษเฉลิมมหานครและทางพิเศษศรีรัช
ในช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจร (ทิศทางละ 4 ช่องจราจร) ขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 มีระยะทาง 18.7 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2567 โดยบริเวณจุดเริ่มต้นโครงการ (พระราม 2 กม. 13) จะเชื่อมต่อกับโครงการทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 (ธนบุรี-ปากท่อ) ของกรมทางหลวง
อ่านประกอบ: การขยายตัวและทำเลการพัฒนาของกทม.