fbpx
AP x BC LIFE Ladprao Presentation page 020 scaled

“วิทการ จันทวิมล” มองอสังหาฯในวิกฤติปัจจุบัน และวันข้างหน้า

ในวันที่ไวรัสโควิด-19 คุกคามเราอย่างหนัก Property mentor ได้มีโอกาสนั่งคุยในช่วงเวลาสั้นๆ กับ คุณมิ่ง-วิทการ จันทวิมล คีย์แมนคนสำคัญของ เอพี (ไทยแลนด์) ถึงการเอาตัวรอดจากวิกฤติในปัจจุบัน และความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในวันข้างหน้า

ผมว่าตอนนี้ทุกคนโดนเหมือนกันหมด ยอดขายหายไปค่อนข้างมาก รายที่ aggressive ในช่วงที่ผ่านมา จะได้รับผลกระทบหนักกว่าคนอื่น

โควิด-19 อาจจะทำให้เราต้องมาคิดทบทวนกันใหม่ว่า ในสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น เร็ว แรง และหนักหน่วง เราจะรับมือกันอย่างไรที่จะรับมือกับมัน เพราะคิดว่าภาวะวิกฤติลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้อีก

ลองคิดดูว่า ในเวลาประมาณ 1 เดือน สถานการณ์เปลี่ยนอย่างรวดเร็วมาก และส่งกระทบเป็นวงกว้างกับคนทั้งโลกและกระทบอย่างหนักหน่วง ถ้าเกิดวิกฤติในลักษณะนี้อีก องค์กรต้องปรับตัวรับความเสี่ยงนี้อย่างไรทั้งในระยะสั้น และระยะยาว

ถามว่า ผลกระทบจากวิกฤติรอบนี้จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนอย่างไรบ้าง วิทการ มองว่า คงจะต้องดูว่า วิกฤติจากไวรัสรอบนี้จะยาวแค่ไหน

โควิด-19 อาจจะเป็นตัวเร่งให้การขายไปอยู่ในออนไลน์มากยิ่งขึ้น เพราะตอนนี้คนออกจากบ้านไม่ได้ แต่จริงๆ แล้วการตัดสินใจซื้อผ่านออนไลน์ตัวเลขก็ยังไม่มาก และต้องมาดูกันว่า ถ้าเป็นการซื้อขายบ้านกันแบบทั่วๆ ไป ไม่ได้มีการจัดโปรโมชั่นเอาบ้าน-คอนโด ราคาพิเศษมาขายในช่วงที่ทำอีเวนต์บนออนไลน์แล้ว จะได้รับการตอบรับแค่ไหน เป็นสิ่งที่เราเฝ้าติดตามอยู่

การพัฒนาโปรดักต์ก็เช่นกัน ก็ต้องติดตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจากโควิด-19 ทั้งเรื่องการ work from home หรือ physical distance จะมีต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภคในอนาคตมากน้อยขนาดไหน ผู้บริโภคอาจจะมีความระมัดระวังในเรื่องของสุขภาพมากขึ้น พื้นที่สาธารณะในโครงการจะต้องปรับให้มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้น จริงๆ เป็นเรื่องที่เราทำอยู่ สำหรับการนั่งทำงานที่ต้องการความเป็นส่วนตัว

แต่สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือต้องประคองตัวให้รอดก่อน

หัวใจสำคัญของการดำเนินธุรกิจคือ การบริการจัดการด้านการเงิน เมื่อสถานการณ์ปัจจุบันยากที่จะประเมินได้ว่าจะจบเมื่อไหร่ หรือจุดพีคของกราฟ ที่เลวร้ายที่สุดจะไปในทิศทางไหน แต่ถ้ามองย้อนกลับไปเชื่อว่าผู้ประกอบการอสังหาฯโดยเฉพาะรายใหญ่ในตลาด ต่างเคยผ่าน Situation ที่เลวร้ายที่สุดที่เกิดขึ้น ในประเทศไทย อย่างปี 2540 หรือ ต้มยำกุ้ง Crisis มาแล้ว

ทุกคนจะทราบดีว่าการบริหารจัดการกระแสเงินสด คือเรื่องที่สำคัญที่สุดเมื่อธุรกิจกำลังจะประสบกับภาวะวิกฤติ ซึ่งหากเทียบสถานการณ์ ในวันนี้กับวิกฤตเมื่อปี 2540 อาจต่างกันตรงที่ ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกดูแย่ทั้งหมด ดังนั้นเราต้องช่วยตัวเองให้ถึงที่สุด ซึ่ง Cash is King คือหนทางที่ดีที่สุดในการนำพาองค์กรให้รอดผ่านไปได้

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา AP ให้ความสำคัญอย่างมากกับการ Control สัดส่วนหนี้สินต่อทุนให้ไม่เกิน 1 และการบริหารจัดการ cash flow ซึ่งท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ AP ยังมี cash flow ในจำนวนที่เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจ และจะมีการ monitor อย่างใกล้ชิด และได้มีการจัดตั้งทุนสำรอง เพื่อใช้รับรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้น เพื่อไม่ให้กระทบต่องบกำไรขาดทุนของปีนั้นๆ