fbpx
อัดฉีด 1.9 ล้านล้าน เยียวยาโควิด

รัฐอัดฉีดอีก 1.9 ล้านล้าน เยียวยาประชาชน-ศก.ระยะ 3

รัฐอัดฉีด 1.9 ล้านล้าน เติมสภาพคล่องระบบเศรษฐกิจ หลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก โดยส่วนหนึ่งจะขยายเวลาจ่ายเงิน 5,000 บาท ให้กับประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระเพิ่มจาก 3 เดือนเป็น 6 เดือน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติมาตรการดูแลและเยียวยาโควิด-19 ระยะ 3 วงเงินรวม 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และประชาชน และวางรากฐานเพื่อให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังจากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายดีขึ้น โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ร่างพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. …. เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน และควบคุมการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจ แต่ด้วยข้อจำกัดและเงื่อนเวลาการงบประมาณ รัฐบาลจำเป็นต้องตราร่าง พ.ร.ก. กู้เงินฯ โดยมีกรอบวงเงินกู้ไม่เกิน 1,000,000 ล้านบาท แบ่งการใช้เงินดังนี้

1.1 ชุดมาตรการช่วยเหลือ และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 และด้านการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดจาก COVID-19 วงเงิน 600,000 ล้านบาท โดยครอบคลุมการช่วยเหลือและเยียวยาให้กับประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID-19 การแพทย์และสาธารณสุข

รมว.คลังขยาย ความว่า ในส่วนที่จะบรรเทาผลกระทบกับประชาชน ได้พิจารณาขยายการให้เงินช่วยเหลือประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระที่ลงทะเบียนผ่านโครงการเราไม่ทิ่งกันจากเดิมได้เงินช่วยเหลือเดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน จะขยายเป็น 6 เดือน ส่วนประชาชนที่มีประกันสังคมจะได้รับการดูแลผ่านสำนักประกันสังคม

1.2 ชุดมาตรการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อดูแลเศรษฐกิจภายในประเทศ วงเงิน 400,000 ล้านบาท โดยครอบคลุม

1) การเพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศและในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ตลาดจนการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ในระดับ ที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น

2) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งการสร้างช่องทางทางการตลาด และยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (Local Economy)

3) การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน รวมทั้งการส่งเสริมและกระตุ้นการลงทุนต่างๆ ของภาคเอกชนที่จะทำให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติ

2. มาตรการเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและระบบการเงิน กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกันวางแนวทางเพื่อรักษาเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน ในสภาวการณ์ที่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้ประกอบการ SMEs ซึ่งเป็น ผู้จ้างแรงงานร้อยละ 80 ของประเทศ ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง จึงอาจส่งผลให้มีการเลิกจ้างงานและผิดนัดชำระหนี้

ในขณะเดียวกันความผันผวนในตลาดการเงินอาจทำให้บริษัทที่มีคุณภาพ ไม่สามารถไถ่ถอนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดได้ จนกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและลดประสิทธิภาพในการระดมทุน รัฐบาลจึงมีความจำเป็นเร่งด่วนในการเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs พร้อมกับการเสริมสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน โดยการตราร่างพระราชกำหนด 2 ฉบับ ดังนี้

2.1 ร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ. …. สำหรับช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยกำหนดให้ ธปท. สามารถปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้แก่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงิน 500,000 ล้านบาท

เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจไปปล่อยสินเชื่อใหม่เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มียอดสินเชื่อคงค้างเดิมไม่เกิน 500 ล้านบาท ที่ไม่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยผู้ประกอบการ SMEs จะได้รับสินเชื่อเพิ่มเติมไม่เกินร้อยละ 20 ของยอดสินเชื่อเดิม ในอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไม่ต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อที่ได้เพิ่มเติมในระยะ 6 เดือนแรก นอกจากนี้ ยังมีโครงการให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจสามารถพักชำระหนี้เดิมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการ SMEs เป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท

2.2 ร่างพระราชกำหนดการสนับสนุนสภาพคล่องเพื่อดูแลเสถียรภาพตราสารหนี้ ภาคเอกชน พ.ศ. …. สำหรับเพิ่มสภาพคล่องและรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ ภาคเอกชนและระบบการเงิน โดยกำหนดให้จัดตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่องเพื่อลดความเสี่ยงของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน (Corporate Bond Liquidity Stabilization Fund: BSF)และให้ ธปท. สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ในตลาดแรกให้ทำงานได้เป็นปกติ

กองทุนจะเข้าไปซื้อตราสารหนี้เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ที่มีคุณภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องชั่วคราว (Temporary liquidity shortage) จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ให้บริษัท สามารถ rollover หุ้นกู้ต่อไปได้ ทั้งนี้ ธปท. สามารถซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนดังกล่าวได้ไม่เกิน 400,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังให้อำนาจ ธปท. ในการซื้อขายตราสารหนี้ภาคเอกชนในตลาดรองในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อการรักษาเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชนและระบบการเงิน

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *