สำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำราคาประเมินที่ดินฉบับใหม่โดยจะเริ่มนำมาใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นระยะเวลา 4 ปี ไปจนถึง 31 ธันวาคม 2566
ราคาประเมินที่ดิน คืออะไร?
หลายๆ คนอาจจะสงสัย และเข้าใจผิดคิดว่า มันคือราคาที่ตั้งไว้สำหรับการซื้อขายที่ดิน แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เพราะราคาประเมินมีหน้าที่หลัก คือ ใช้เป็นราคาอ้างอิงในการจัดเก็บภาษีของทางราชการ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราไปโอนซื้อ-ขายที่ดิน สำนักงานที่ดินจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอน 2% ของราคาประเมิน ซึ่งก็คือราคาที่สำนักประเมินราคาทรัพย์สินไปสำรวจและประเมินมานั่นเอง ส่วนราคาซื้อขายจะเป็นเท่าไรก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเทียบกันไม่ได้หรอกครับ เพราะราคาซื้อขายเป็นราคาตลาดขึ้นอยู่กับราคาที่ตกลงปลงใจกัน ร้อยทั้งร้อยราคาซื้อ-ขายหรือราคาตลาดจะสูงกว่าราคาประเมินอยู่แล้วครับ
นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นวันที่เราจะได้ใช้ราคาประเมินที่ดินฉบับใหม่ ซึ่งเจ้าราคาประเมินฉบับนี้จะมีหน้าที่อันยิ่งใหญ่เพิ่มขึ้นมาอีกอย่าง นั่นคือ เป็นราคาประเมินที่ใช้สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งจะใช้เป็นครั้งแรกในวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้เช่นกัน
ต่อไป ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของเราจะต้องเสียภาษีในอัตราที่ทางการกำหนดตามประเภทของการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ในการเกษตรกรรม ใช้สำหรับการอยู่อาศัย หรือใช้เพื่อพาณิชยกรรม เป็นต้น จะมีอัตราภาษีที่เรียกเก็บตามราคาประเมินที่ดิน และราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างนั่นเอง
4 ถนนไฮโซราคาประเมินตร.ว.ละ 1 ล้าน
นายฐนัญพงษ์ สุขสมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าการประกาศใช้ราคาประเมินที่ดินใหม่นี้ว่า ปัจจุบันราคาประเมินที่ดินฉบับใหม่ดำเนินการใกล้เสร็จแล้ว ซึ่งราคาประเมินใหม่นี้บางพื้นที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของราคาเลย แต่บางพื้นที่ปรับขึ้นไปสูงกว่า 100%
สำหรับราคาประเมินที่ดินใหม่โดยรวมทั่วประเทศจะปรับขึ้นประมาณ 11.37% (อัพเดตตัวเลขใหม่เป็น 8.34%) ถือเป็นตัวเลขที่ปรับขึ้นตามภาวะปกติ ขณะที่ราคาประเมินที่ดินในกรุงเทพฯเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.45% โดยพบว่า ถนนสายสำคัญๆ ที่มีราคาประเมินตารางวาละ 1 ล้านบาท ได้แก่ ถนนพระรามที่ 1 ถนนสีลม ถนนเพลินจิต และถนนวิทยุ
ทำเลทองถนนวิทยุปรับสูงสุด 100%
สำหรับถนนที่มีการปรับขึ้นของราคาประเมินใหม่เทียบกับราคาประเมินปัจจุบันอยู่ในระดับที่สูง 3 อันดับแรก ได้แก่
- ถนนวิทยุ ราคาประเมินที่ดินใหม่ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 1 ล้านบาท/ตารางวา(ตร.ว.) จากราคาประเมินปัจจุบันอยู่ที่ 5-7.5 แสนบาท/ตร.ว. หรือปรับขึ้น 100% จากราคาต่ำสุด 5 แสนบาท/ตร.ว. และปรับขึ้น 33.33% จากราคาประเมินสูงสุดในพื้นที่ 7.5 แสนบาท/ตร.ว (100-33.33%)
- ถนนพหลโยธิน ราคาประเมินใหม่ปรับมาอยู่ที่ 1.3-5 แสนบาท/ตร.ว. จากราคาประเมินปัจจุบันอยู่ที่ 1-4 แสนบาท/ตร.ว. หรือเพิ่มขึ้น 30-25%
- ถนนรามอินทรา ราคาประเมินใหม่ปรับมาอยู่ที่ 1-1.7 แสนบาท/ตร.ว. จากราคาประเมินปัจจุบันอยู่ที่ 85,000-1.5 แสนบาท/ตร.ว. หรือเพิ่มขึ้น 17.65-30.76%
ส่วนถนนสายสำคัญอื่นๆ ก็มีการปรับราคาประเมินขึ้นแต่ก็ไม่ได้ขึ้นมากนัก เช่น
- ถนนสีลม ราคาประเมินใหม่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 7.5 แสนบาท-1 ล้านบาท/ตร.ว. จากราคาประเมินปัจจุบันอยู่ที่ 7 แสนบาท-1 ล้านบาท/ตร.ว. หรือเพิ่มขึ้น 7.14-0.00%
- ถนนพระรามที่ 1 ราคาประเมินใหม่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4 แสนบาท-1 ล้านบาท/ตร.ว. จากราคาประเมินปัจจุบันอยู่ที่ 4-9 แสนบาท/ตร.ว. หรือเพิ่มขึ้น 0.00-11.11%
- ถนนสาทร ราคาประเมินใหม่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 4.5-8 แสนบาท/ตร.ว. จากราคาประเมินปัจจุบันอยู่ที่ 4.5-7.5 แสนบาท/ตร.ว. หรือเพิ่มขึ้น 0.00-6.67%
- ถนนสุขุมวิท ราคาประเมินใหม่ปรับขึ้นมาอยู่ที่ 2.3-7.5 แสนบาท/ตร.ว. จากราคาประเมินปัจจุบันอยู่ที่ 2.1-6.5 แสนบาท/ตร.ว. หรือเพิ่มขึ้น 9.52-15.38%
เจาะราคาประเมินสูงสุดจังหวัดปริมณฑล
ในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล จังหวัดที่ราคาประเมินที่ดินใหม่โดยเฉลี่ยปรับขึ้นสูงสุดคือ ปทมุธานี โดยมีการปรับขึ้นโดยเฉลี่ย 7.07% อันดับ 2 นครปฐม 6.46% และอันดับ 3 สมุทรปราการ 5.36%
จังหวัดนนทบุรี มีราคาประเมินที่ดินสูงสุดตร.ว.ละ 1.7 แสนบาท อยู่ที่ในพื้นที่ ถนงามวงศ์วาน(แยกพงษ์เพชร-ทางดว่นศรีรัช) และถนนกรงุเทพ-นนทบรุี
จังหวัดสมุทรปราการ มีราคาประเมินที่ดินสูงสุดตร.ว.ละ 1.6 แสนบาท อยู่ในพื้นที่ ถนนสุขุมวิท (เขตกรุงเทพฯ-คลองสำโรง)
จังหวัดปทุมธานี มีราคาประเมินที่ดินสูงสุดตร.ว.ละ 1 แสนบาท อยู่ในพื้นที่ ถนนรังสิต-ปทุมธานี และถนนพหลโยธิน
จังหวัดนครปฐม มีราคาประเมินที่ดินสูงสุดตร.ว.ละ 8 หมื่นบาท อยู่ในพื้นที่ ถนนหน้าพระ ถนนหลังพระ ถนนซ้ายพระ ถนนขวาพระ ถนนทรงพล ถนนราชดำเนิน และถนนราชวิถี
จังหวัดสมุทรสาคร มีราคาประเมินที่ดินสูงสุดตร.ว.ละ 7 หมื่นบาท อยู่ในพื้นที่ ถนนเอกชัย และถนนเศรษฐกิจ
เปิดท็อป 3 จังหวัดปรับแรงในภูมิภาค
พื้นที่ภาคกลาง จังหวัดที่ราคาประเมินที่ดินใหม่โดยเฉลี่ยปรับขึ้นสูงสุดคือ พิษณุโลก โดยมีการปรับขึ้น 25.13% อันดับ 2 ชัยนาท 23.63% และอันดับ 3 สุโขทัย 20.67%
ภาคเหนือ จังหวัดที่ราคาประเมินที่ดินใหม่โดยเฉลี่ยปรับขึ้นสูงสุดคือ ตาก โดยมีการปรับขึ้นสูงถึง 48.66% อันดับ 2 เชียงใหม่ 26.79% และอันดับ 3 อุตรดิตถ์ 11.80%
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดที่ราคาประเมินที่ดินใหม่โดยเฉลี่ยปรับขึ้นสูงสุดคือ ชัยภูมิ โดยมีการปรับขึ้น 27.19% อันดับ 2 ขอนแก่น 21.00% และอันดับ 3 มุกดาหาร 18.27%
ภาคตะวันออก จังหวัดที่ราคาประเมินที่ดินใหม่โดยเฉลี่ยปรับขึ้นสูงสุดคือ ชลบุรี โดยมีการปรับขึ้น 28.23% อันดับ 2 จันทบุรี 13.28% และอันดับ 3 ตราด 9.66% ส่วนระยอง และฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจังหวัดในพื้นที่พัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เช่นเดียวกับชลบุรี ราคาประเมินใหม่ปรับขึ้นเฉลี่ย 2.86% และ 1.91% ตามลำดับ
ภาคใต้ จังหวัดที่ราคาประเมินที่ดินใหม่โดยเฉลี่ยปรับขึ้นสูงสุดคือ นครศรีธรรมราช โดยมีการปรับขึ้น 26.28% อันดับ 2 ตรัง 21.05% และอันดับ 3 สงขลา 11.51% ส่วนจังหวัดใหญ่อย่างภูเก็ตมีการปรับขึ้นโดยเฉลี่ยเพียง 0.77%
ทั้งหมดคือภาพรวมของราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศที่จะมีผลต่อการจ่ายภาษี ค่าธรรมเนียมต่างๆ เวลาไปทำธุรกรรมต่างๆ และที่สำคัญภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะจ่ายมากหรือน้อยก็อยู่ที่ราคาประเมิน และเงื่อนไขของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อย่างเช่น ถ้าคุณมีโรงแรมอยู่บนถนนวิทยุซึ่งราคาประเมินที่ดินปรับขึ้นสูงมาก รับรองได้เลยว่าต้องจ่ายภาษีอ่วมแน่นอนครับ