เป็นไปตามที่คาดการณ์กันไว้ว่า ผลประกอบการของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดที่ยังคงชะลอตัวต่อเนื่องมาจากปี 2566 Property Mentor ได้รวบรวมผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 ของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 39 รายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่มีรายได้หลักจากการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขาย และยัง Active อยู่ พบว่า ทั้ง 39 บริษัทมีรายได้รวมรวมกันทั้งสิ้น 77,282 ล้านบาท ลดลง 4,196 ล้านบาท หรือราวๆ 5.1% เมื่อเทียบกับรายได้รวมในไตรมาส 1 ปี 2566 จำนวน 81,478 ล้านบาท ขณะที่รายได้จากการขายทั้ง 39 บริษัท ทำรวมกันได้ 55,549 ล้านบาท ลดลง 4,518 ล้านบาท หรือประมาณ 7.5% จองรายได้จากการขายในไตรมาสที่ 1 ปี 2566 ที่ทำรวมกันได้ 60,067 ล้านบาท
ดูจากฝั่งของรายได้ก็ถือว่าตกลงไปไม่ได้มากมายอะไรนัก แต่ที่น่าตกใจคือกำไรที่ลดลงอย่างฮวบฮาบ โดยในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 ทั้ง 39 บริษัททำกำไรสุทธิรวมกันได้เพียง 6,282 ล้านบาท ลดลง 3,908 ล้านบาท หรือ 38% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2566 ที่มีกำไรสุทธิรวมกัน 10,190 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้ที่ลดลง และการแข่งขันที่ดุเดือด ทั้งลด แลก แจก แถมที่หน้างาน เพื่อเก็บเงินสดตุนเอาไว้รับมือกับสถานการณ์ที่ยังปรวนแปรเอาแน่เอานอนไม่ได้กำไรจึงลดลงไปอย่างมาก แม้แต่รายใหญ่ที่เป็น Top 5 ในไตรมาสนี้ ก็มีกำไรที่ลดลงทุกบริษัทเลยทีเดียว
คราวนี้มาดูกันว่าในภาวะที่ตลาดชะลอตัวเช่นนี้ใครคือเบอร์ 1 ในตลาด เริ่มกันที่ Top 5 รายได้รวม แชมป์เป็นของ แสนสิริ ที่ทำรายได้รวมได้ 10,170 ล้านบาท เป็นบริษัทเดียวในไตรมาสนี้ที่มีรายได้รวมเกินหลักหม่นล้าน และมีรายได้รวมที่เติบโตขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 เกือบๆ 20% เลยทีเดียว
มาที่อันดับ 2 ตกเป็นของ เอพี ไทยแลนด์ มีรายได้รวม 7,968 ล้านบาท แม้จะเข้าป้ายเป็นอันดับ 2 แต่ก็มีรายได้รวมที่ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ราวๆ 16% ส่วนอันดับ 3 ได้แก่ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ มีรายได้รวม 7,804 ล้านบาท ปรับตัวดีกว่าช่วงเดียวกันของปี 2566 12% มาที่อันดับ 4 ศุภาลัย มีรายได้รวมตามอันดับ 3 มาแบบห่างๆ ที่ 4,674 ล้านบาท โดยมีรายได้รวมลดลง 21% ส่วนอันดับ 5 เป็นของ พฤกษา โอลดิ้ง มีรายได้รวม 4,171 ล้านบาท ลดลงถึง 37%
ส่วนรายได้จากการขายซึ่งถือเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการขายและโอนในช่วงเวลาที่ผ่านมา Top 5 ในไตรมาส 1 ปี 2567 ได้แก่ 1. แสนสิริ มีรายได้จากการขาย 8,901 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2566 ถึง 32% เลยทีเดียว อันดับ 2. ยังคงเป็นของ เอพี ไทยแลนด์ 7,607 ล้านบาท แต่รายได้ก็ลดลงไป 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
ส่วนอันดับ 3 เป็น ศุภาลัย มีรายได้จากการขาย 4,472 ล้านบาท ตกลงไปถึง 21% อันดับ 4 เป็น แลนด์ แอนด์เฮ้าส์ มีรายได้จากการขาย 4,432 ล้านบาท ลดลง 8% และอันดับ 5 ได้แก่ เอสซี แอสเสท มีรายได้จากการขาย 3,704 ล้านบาท รายได้ตกลง 21%
สุดท้าย คือกำไรสุทธิ Top 5 ได้แก่ อันดับ 1 แสนสิริ กวาดกำไรไปได้สูงสุดที่ 1,254 ล้านบาท เฉือนแชมป์หลายสมัยๆ อย่างแลนด์แอนด์เฮ้าส์ที่เข้าป้ายในอันดับที่ 2 ด้วยกำไรสุทธิ 1,235 ล้านบาท แต่ทั้งคู่ก็มีกำไรที่ลดลง 18% และ 9% ตามลำดับ ส่วนอันดับ 3 เป็น เอพี ไทยแลนด์ มีกำไรสุทธิ 1,008 ล้านบาท ลดลงถึง 32% อันดับ 4 ศุภาลัย มีกำไรสิทธิ 630 ล้านบาท ลดลงถึง 43% ส่วนอันดับ 5 ตกเป็นของ ออริจิ้น ที่สอดแทรกเข้ามาด้วยกำไรสุทธิ 572 ล้านบาท ลดลง 38%
บทสรุปสุดท้ายและท้ายสุดในไตรมาส 1 ปี 2567 แสนสิริ มีผลงานโดดเด่นที่สุด สามารถกวาดไปทั้ง 3 แชมป์ โดยมีรายได้รวม และรายได้จากการขายเติบโต 20% และ 32% ตามลำดับ แต่กำไรสุทธิแม้จะเข้าป้ายเป็นอันดับ 1 แต่ก็มีกำไรลดลง 18%
นอกจากแสนสิริแล้วยังมี 16 จาก 39 บริษัท ที่มีรายได้รวมเป็นบวก ที่เด่นๆ อย่างเช่น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ สิงห์ เอสเตท ไซมิส แอสเสท เซ็นทรัลพัฒนา เป็นต้น ส่วนบริษัทที่มีรายได้จากการขายเป็นบวกมีด้วยกันทั้งสิ้น 16 จาก 39 บริษัท เช่น อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ไซมิส แอสเสท เซ็นทรัลพัฒนา สิงห์ เอสเตท ชาญอิสสระ เป็นต้น และมี 15 จาก 39 บริษัทที่มีกำไรสุทธิเป็นบวก เช่น เซ็นทรัลพัฒนา อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ชาญอิสสระ ไซมิส แอสเสท สิงห์ เอสเตท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ เป็นต้น
ในไตรมาสที่ 1 คาบเกี่ยวมาถึงไตรมาสที่ 2 ถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบาก ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้มากนัก (ไตรมาสที่ 1 GDP ขยายตัว 1.5%) ขณะที่ภาระหนี้ก็ยังท่วมหัว กำลังซื้ออ่อนแรงลง และปัญหากู้ไม่ผ่านที่ลุกลามขึ้นไปถึงบ้านระดับบนๆ ทุกบริษัทต่างพยายามจะก้าวผ่านไปให้ได้ด้วยการปรับกลยุทธ์การแข่งขัน เพื่อเอาตัวให้รอด และคาดหวังว่าในครึ่งปีหลังตลาดจะเริ่มดีขึ้นให้สามารถลืมตาอ้าปากกันได้สักที