พฤกษา โฮลดิ้ง ตั้งเป้ากวาดรายได้ 3 หมื่นล้าน ลุยเปิด 23 โครงการใหม่ มูลค่ากว่า 2.3 หมื่นล้าน ปั๊มยอดขาย พร้อมตั้งงบ 1.35 หมื่นล้าน ซื้อที่ดิน ลงทุนธุรกิจโลจิสติกส์ ขยายธุรกิจสุขภาพเต็มสูบ วางเป้า 5 ปี ลงทุน 1.7 หมื่นล้าน ผุดโรงพยาบาล/เวลเนส เซ็นเตอร์/เนอร์สซิง โฮม และคลีนิก ครอบคลุม กทม.-ปริมณฑล
นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2566 รายได้รวมของทั้งกลุ่มประมาณ 30,000 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5% เมื่อเทียบจากปี 2565 โดยคาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนมาจากธุรกิจอสังหาฯ ที่จะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งสิ้น 23 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 23,500 ล้านบาท รวมถึงการปรับโครงสร้างของธุรกิจพรีคาสท์ที่คาดว่าจะมีรายได้ขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ บริษัทยังเตรียมเงินสำหรับการลงทุนในปีนี้ 13,500 ล้านบาท แบ่งเป็น งบสำหรับซื้อที่ดิน 5,000 ล้านบาท งบลงทุนก่อสร้างโรงพยาบาลวิมุต แห่งที่ 2 ในทำเลปิ่นเกล้า รวมถึงการพัฒนาศูนย์ Wellness บนทำเลแบริ่ง และวัชรพล รวม 2,500 ล้านบาท และอีก 6,000 ล้านบาท จะลงทุนในธุรกิจใหม่ที่น่าสนใจ เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอีคอมเมิร์ซ ทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ คลังสินค้าให้เช่า เป็นต้น
สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจปี 2566 ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์คาดว่าจะโตได้ประมาณ 7% โดยลูกค้าในกลุ่มรายได้ตั้งแต่ 5 หมื่นถึง 1.5 แสนบาทต่อเดือน ยังคงเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อดีอยู่ส่งผลให้บ้านในระดับ 5-15 ล้านบาทยังสามารถเติบโตได้ ส่วนคอนโดมิเนียมในปีนี้ยังเป็นตลาดของลูกค้ากลุ่มเรียลดีมานด์ที่มีความต้องการคอนโดฯพร้อมอยู่ จึงเป็นโอกาสที่จะสามารถระบายสินค้าได้มากขึ้น
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 พฤกษา โฮลดิ้ง มีรายได้ใกล้เคียงกับปี 2564 ที่ 28,640 ล้านบาท หรือ เติบโต 1% มีกำไรสุทธิ 2,772 ล้านบาท เติบโต 18% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดย สามารถทำกำไรขั้นต้นได้ดีขึ้น 9% สะท้อนถึงการบริหารจัดการต้นทุนของสินค้าและบริการได้ดี จากการนำวิศวกรรมคุณค่ามาใช้ (Value Engineering) ทั้งเรื่องการพัฒนาใช้แผ่นพื้นคอนกรีตสำเร็จรูปชนิดมีรูกลวง (Hollow Core) การออกแบบคานคอดิน (Ground Beam) และการเชื่อมซีเมนต์ (Cement Jointing) แบบใหม่ในขั้นตอนการก่อสร้าง รวมถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) เข้ามาใช้เพื่อลดต้นทุนการก่อสร้าง จากปริมาณการใช้ซีเมนต์ที่ลดลง พร้อมกับลดค่าขนส่งและจำนวนชั่วโมงการทำงานที่ลดลงด้วย
นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้เพิ่มสัดส่วนการสร้างรายได้ประจำต่อเนื่อง (Recurring Income) เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาว จึงได้มีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจใหม่ต่อเนื่องตลอดทั้งปี อาทิ การตั้งกองทุน Corporate Venture 3,500 ล้านบาท เพื่อลงทุนใน Prop Tech, Health Tech และ Sustainable Tech และล่าสุดได้ร่วมกับแคปปิตอลแลนด์ อินเวสเม้นท์ กรุ๊ป และ แอลลี่ โลจิสติกส์ พร็อพเพอร์ตี้ จัดตั้งกองทุน “CapitaLand SEA Logistics Fund” ตั้งเป้ามูลค่าอสังหาริมทรัพย์โลจิสติกส์ภายใต้การจัดการ 1,000 ล้านเหรียญสิงคโปร์ เป็นต้น
ในขณะที่สถานะทางการเงินของพฤกษายังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนเงินกู้ยืมต่อหุ้นทุนสุทธิ (Net Gearing Ratio) อยู่ในระดับต่ำที่ 0.22 เท่า และจากผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ สามารถประกาศจ่ายเงินปันผลเท่ากับ 65 สตางค์ รวมเงินปันระหว่างกาลแล้วจ่ายทั้งสิ้นเท่ากับ 96 สตางค์ กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date) ที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 10 มี.ค. โดยจะนำเสนอขออนุมัติต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นในเดือนเมษายน 2565 มีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนเท่ากับ 7.4% และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 19 พ.ค.นี้
ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นายปิยะ ประยงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในปี 2565 พฤกษาทำรายได้ 27,191 ล้านบาท เปิดโครงการใหม่รวม 19 โครงการ มูลค่า 11,100 ล้านบาท สำหรับโครงการใหม่ที่จะเปิดในปี 2566 จำนวน 23 โครงการ มูลค่ารวม 23,500 ล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้พอร์ตโฟลิโอ (Portfolio) ประกอบด้วย บ้านเดี่ยว 8 โครงการ ทาวน์เฮาส์ 11 โครงการ และ คอนโดมิเนียม 4 โครงการ ได้แก่ รามอินทรา เซ็นทรัล เวสต์เกต เตาปูน และจรัญ-บางพลัด
ในปีนี้บริษีทมุ่งเพิ่มกลุ่มสินค้าที่จับกลุ่มลูกค้าในเซ็กเมนต์ระดับกลาง-บน ราคา 15-30 ล้านบาท โดยมีแผนเปิดบ้านเดี่ยวพรีเมียมถึง 3 โครงการ ได้แก่ เดอะปาล์มวัชรพล เดอะปาล์มบางนาวงแหวน และ เดอะปาล์มพัฒนาการ พร้อมมุ่งบริหารสินทรัพย์ที่มีในมือ โดยมีที่อยู่อาศัยโครงการปัจจุบันที่ยังเปิดขายอยู่ทั่วประเทศ รวมมูลค่าราว 69,900 ล้านบาท 158 โครงการ
ปี 2566 บริษัทตั้งเป้ายอดขายที่ 24,000 ล้านบาท และตั้งเป้ายอดโอนที่ 28,000 ล้านบาท มุ่งสร้างคุณค่าเพิ่มเพื่อลูกค้า (Customer Value) ด้วยการพัฒนาลิฟวิ่งโซลูชั่น (Living Solution) รองรับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปตามเมกะเทรนด์ของโลก โดยคำนึงถึงการสร้างความยั่งยืน (Sustainability) อย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ มีแผนการซื้อที่ดินราว 5,000 ล้านบาท เน้นทำเลที่มีศักยภาพเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์ในระดับพรีเมียมเพิ่มขึ้น และมุ่งผสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจในเครือพฤกษาทั้งธุรกิจด้านสุขภาพ และธุรกิจอื่นในเครือที่กำลังจะเปิดตัวในปีนี้ด้วย
ด้านธุรกิจเฮลท์แคร์ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โรงพยาบาลวิมุต โฮลดิ้ง จำกัด เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2565 ว่า วิมุตทำรายได้เติบโตแบบก้าวกระโดด 1,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.7 เท่า จากปี 2564 ซึ่ง 80% เป็นรายได้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 แม้ว่ารายได้จากโรคที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ลดลงในปีที่ผ่านมา แต่สามารถทำรายได้เพิ่มขึ้น จากการขยายเครือข่ายระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ของโรงพยาบาล ได้แก่ เวลเนสต์ เซ็นเตอร์ บ้านหมอวิมุต โรงพยาบาลเทพธารินทร์ บริการผ่านดิจิตัลแพลท์ฟอร์ม ทั้งแอพพลิเคชั่น เทเลเมดิซีน ไปจนถึงความร่วมมือกับพันธมิตรต่างๆ เสริมทัพด้วยรายได้จากโรงพยาบาลเทพธารินทร์ ที่มีผลการดำเนินงานดีขึ้นด้วย ประกอบกับ ปีที่ผ่านมาวิมุตสร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ต่างชาติ ทำให้จำนวนผู้ป่วยต่างชาติที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาลมีจำนวนสูงขึ้น 3.2 เท่าด้วย
ในปี 2566 ทางกลุ่มมีแผนการลงทุนราว 2,500 ล้านบาท มุ่งเน้นการสร้างและเปิดศูนย์สุขภาพ (Health Center) เพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ ที่คู้บอนซึ่งเป็นโครงการร่วมทุนกับ JAS Asset กำหนดเปิดวันที่ 1 มีนาคม 2566 ที่ซอยแบริ่ง และวัชรพล รวมทั้งพัฒนาโรงพยาบาลวิมุตเพิ่มอีก 1 แห่งที่ปิ่นเกล้า นอกจากนี้ยังได้วางแผนขยายแพลตฟอร์มธุรกิจสุขภาพ 5 ปี (2566-2570) โดยใช้เงินลงทุนรวม 17,000 ล้านบาท เพื่อใช้โรงพยาบาลในการสนับสนุนโครงการที่พักอาศัยของพฤกษา และการดูแลสุขภาพคนไทยที่เข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น ขยายโรงพยาบาลวิมุตเพิ่ม ที่นราธิวาส-ราชนครินทร์ และสุขุมวิท ลงทุนเวลเนส เซ็นเตอร์ และ เนอร์สซิง โฮม
สุขุมวิท 54 ประชาชื่น รัตนาธิเบศร์ พัฒนาการ, เซ็นทรัล เวสเกต ราชพฤกษ์ และอีก 6 แห่งภายใน 5 ปี