ธอส. ยันไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ถึงสิ้นม.ค. 66 หลังจากกนง.มีมติปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยขยับจาก 1% เป็น 1.25%
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยภายหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี หรือจาก 1.00% ต่อปี เป็น 1.25% ต่อปี ว่า ธอส. ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ที่มีพันธกิจ “ทำให้คนไทยมีบ้าน” ยังคงพร้อมดูแลลูกค้า ทั้งกลุ่มลูกค้าปัจจุบันของธนาคาร และประชาชนทั่วไปที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ด้วยการตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ถึงสิ้นเดือนมกราคม ปี 2566 เพื่อสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการช่วยให้ลูกค้าเงินกู้ของธนาคารที่มีจำนวนเงินสินเชื่อคงค้างในปัจจุบัน ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2565 มากกว่า 1.6 ล้านล้านบาท ได้มีเวลาปรับตัวรับกับภาวะดอกเบี้ยขาขึ้นในอนาคตและช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายของลูกค้ากลุ่มที่อาจยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จากสถานการณ์ COVID-19
ทั้งนี้ นับตั้งแต่การประชุม กนง.เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน กนง. ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 0.75% ต่อปี แต่ ธอส. ยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ในระดับเดิมมาโดยตลอด และในปี 2566 ธนาคารจะทยอยปรับขึ้นเพียง 0.15-0.25% ต่อปี ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อเงินงวดของลูกค้าให้ปรับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากธนาคารได้จัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่มี Buffer หรือการคำนวณเงินงวดผ่อนชำระเผื่อกรณีมีการปรับอัตราดอกเบี้ยไว้ให้กับลูกค้าอยู่แล้ว
ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประชุมนัดสุดท้ายของปี 2565 ไปเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี จากร้อยละ 1.00 เป็นร้อยละ 1.25 ต่อปี เป็นการปรับดอกเบี้ยขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 3 จากการประชุมของกนง. 3 ครั้งหลังสุด ซึ่งการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้คณะกรรมการได้ประเมินว่า…
เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.2 3.7 และ 3.9 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยภาคการท่องเที่ยวได้ฟื้นตัวชัดเจนสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนได้รับแรงสนับสนุนจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงการจ้างงานและรายได้แรงงานที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวทั่วถึงมากขึ้น
ภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคภาคเอกชนจะเป็นแรงส่งสำคัญต่อเนื่องในปี 2566 และ 2567 แม้การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะทำให้ภาคการส่งออกขยายตัวลดลง ส่งผลให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมยังใกล้เคียงเดิม
อย่างไรก็ดี ยังต้องติดตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงและอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 6.3 3.0 และ 2.1 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ โดยได้ผ่านจุดสูงสุดไปในไตรมาสที่ 3 ปี 2565 สำหรับปี 2566 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเทียบกับประมาณการครั้งก่อนจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเป็นสำคัญ แต่จะยังคงโน้มกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายภายในสิ้นปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยจะทยอยลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.6 2.5 และ 2.0 ในปี 2565 2566 และ 2567 ตามลำดับ
ด้านอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย แต่ก็ยังต้องติดตามความเสี่ยงเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการส่งผ่านต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น และการปรับราคาพลังงานในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน
ประกอบกับ ระบบการเงินโดยรวมมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนโดยรวมปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่ฐานะการเงินของผู้ประกอบการ SMEs และครัวเรือนบางส่วนยังเปราะบางจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ซึ่งจะทำให้อ่อนไหวต่อค่าครองชีพและภาระหนี้ที่สูงขึ้น คณะกรรมการเห็นว่าควรดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเห็นความสำคัญของการมีมาตรการเฉพาะจุดและแนวทางแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืนสำหรับกลุ่มเปราะบาง
ด้านภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลาย ต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนทยอยปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่โดยรวมยังเอื้อต่อการระดมทุน โดยปริมาณสินเชื่อและการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ยังขยายตัว ด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวผันผวนสูงจากทิศทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการจะติดตามพัฒนาการในตลาดการเงินและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด
ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่มีความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ต้องติดตาม จึงเห็นควรให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจการเงินโลกที่สูงขึ้นในระยะข้างหน้า หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไทยเปลี่ยนไปจากที่ประเมินไว้ คณะกรรมการพร้อมที่จะปรับขนาดและเงื่อนเวลาของการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้เหมาะสมต่อไป
สำหรับในปี 2566 กนง.มีกำหนดการประชุมรวมทั้งหมด 6 ครั้ง ซึ่งได้มีการคาดการณ์กันว่า ในปีหน้าอัตราดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับขึ้นไปได้ถึง 2% แต่ก็ยังถือว่ายังห่างจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาปัจจุบันอยู่ที่ 3.75-4.00% และยังมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่อง