“MQDC Sustainnovation Forum 2022″ ชี้วิกฤติเมืองในอนาคต อยู่ยาก-ลำบาก-เครียด ปี 2050 ฝุ่น PM2.5 เพิ่ม 5 เท่า และ CO2 พุ่ง 8 เท่า บวกภัยแล้งและน้ำทะเลหนุน กระทบผู้คนทั่วโลก
FutureTales Lab ชี้สภาพภูมิอากาศและมลภาวะของเมืองในปัจจุบัน รวมถึงแนวโน้มในอนาคตชี้ไปในทิศทางที่เลวร้ายลงอย่างต่อเนื่อง ฉากทัศน์จำลองเมืองกรุงเทพฯ ในปี 2050 แบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือเมืองในโดมฟอกอากาศที่มีความเหลื่อมล้ำของชีวิตความเป็นอยู่แบบสุดขั้ว และการโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของสังคมมนุษย์ที่ยากจะหลีกเลี่ยง แนะแนวทางแก้ไขได้ด้วยนวัตกรรมการอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน หรือ Sustainnovation และจัดกระบวนการทำงานด้านวิศวกรรมแนวใหม่
ในงานเสวนา “MQDC Sustainnovation Forum 2022 เมืองเปลี่ยน คนต้องปรับ รับมือวิกฤติอย่างไร” โดย FutureTales Lab, RISC, Creative Lab และ Unisus-EEC ซึ่งจัดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการนำเสนอข้อมูลงานวิจัยของสภาพเมืองแห่งอนาคตที่มีแนวโน้มน่าเป็นห่วง
ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอนาคตศึกษา ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ (FutureTales Lab) โดยบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งทำหน้าที่ศึกษาวิจัย คาดการณ์อนาคตและแนวโน้มการอยู่อาศัยในสังคมเมือง ได้นำเสนอการคาดการณ์อนาคตของเมืองปี 2050 โดยพิจารณาจากข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก อัตราการใช้พลังงาน และพฤติกรรมของผู้คน พบว่า โลกในอนาคตจะเต็มไปด้วยมลภาวะที่ทำให้การอยู่อาศัยของมนุษย์กลายเป็นเรื่องที่ยากกว่าในปัจจุบันอย่างเทียบไม่ติด
โดยอุณหภูมิทุกแห่งจะสูงขึ้นเฉลี่ย 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้น้ำทะเลหนุนสูงขึ้นมากกว่า 1 เมตร ส่งผลทำให้มีผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานมากถึง 200 กว่าล้านคน และมีผู้ที่ต้องประสบภัยพิบัติกว่า 400 ล้านคน จากการขาดแคลนน้ำและอาหาร รวมถึงภัยแล้งสุดขั้ว ซึ่งประเทศไทยก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น เพราะการเคลื่อนย้ายประชากรและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในปัจจุบันล้วนเชื่อมโยงถึงกันทั่วโลก และสิ่งที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่นอนคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในอากาศจะสูงขึ้น 8 เท่า ในขณะที่ฝุ่น PM 2.5 จะสูงขึ้น 5 เท่าของในปัจจุบัน
ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ ยังได้เปิดเผยฉากทัศน์เมืองกรุงเทพฯ ในอนาคตปี 2050 เป็นครั้งแรกด้วยการคาดการณ์อนาคต ได้ฉากทัศน์ออกมาเป็น 2 รูปแบบ คือ
-ฉากทัศน์เมืองในโดมฟอกอากาศขนาดยักษ์ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยเฉพาะกลุ่มของคนที่มีต้นทุนและโอกาสทางสังคมสูงเท่านั้น ในขณะที่ชุมชนส่วนใหญ่ต้องใช้ชีวิตอยู่นอกโดม ต้องเผชิญกลุ่มหมอกควันและมลพิษ และวิกฤตน้ำท่วมอยู่เสมอ
-ฉากทัศน์การโยกย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่ของสังคมมนุษย์ เพื่อแสวงหาพื้นที่ใหม่เพื่อดำรงชีวิต ซึ่งทั้ง 2 ฉากทัศน์นี้ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นจริง
อย่างไรก็ตาม ดร.การดี กล่าวว่า เรายังมีโอกาสร่วมมือกันปรับทิศทางอนาคตเมืองให้ดีขึ้น โดยการร่วมกันเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับนโยบาย การพัฒนาโครงการ และพฤติกรรมของผู้คนบนแนวคิด “Not Only Urbanscape But Also Humanscape”
จากแนวโน้มเมืองในอนาคตของไทยที่น่าจะเกิดวิกฤติที่สร้างความตื่นตระหนกและความเครียดต่อผู้คนสูงมาก และจากข้อมูลที่บ่งชี้ว่าในอนาคตประชากรบนโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองมากถึง 70%รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) มองว่า การแก้ไขต้องเริ่มต้นที่สร้างสังคมเมือง โดยอิงจากกรอบความคิดสำหรับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาขึ้นให้มีความพร้อมรับมือ (resilience) กับความไม่แน่นอนของอนาคตที่จะมาถึง หรือ “Resilience Framework for Future Cities: กลยุทธ์การรับมือเพื่อเมืองแห่งอนาคต” โดยเฟรมเวิร์คนี้ประกอบด้วย กลุ่มปัจจัยความไม่แน่นอนใน 3 ด้าน ได้แก่
- Nature & Environment
- Living & Infrastructure และ
- Society & Economy
ภายใต้กรอบ Resilience Framework For City Developments แต่ละด้านจะมีความท้าทายปลีกย่อยที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ RISC จึงดำเนินการวิจัยและบูรณาการหลายศาสตร์ เพื่อนำเสนอโซลูชันที่สร้างความอยู่ดีมีสุขของทุกสรรพสิ่ง (For All Well-Being) ผ่านการประยุกต์ใช้องค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ภายใต้ RISC 5 Research Hubs ได้แก่
- Plants & Biodiversity: ศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพ
- Air Quality: ศึกษาปัจจัยในการสร้างคุณภาพอากาศที่ดีทั้งภายในและภายนอกอาคาร
- Happiness Science: ศึกษาการทำงานของสมองเพื่อสร้างความสุขด้วยวิทยาศาสตร์
- Materials & Resources: ศึกษาวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและดีต่อสุขภาวะ
- Resilience: ศึกษาด้านความเสี่ยงและภัยพิบัติในสภาพแวดล้อมเพื่อวางแผนรับมือ
ขณะที่ นายเกชา ธีระโกเมน ประธานคณะกรรมการ กลุ่มบริษัท EEC และประธานกรรมการ บริษัท ยูนิซัส กรีน เอ็นเนอร์จี จำกัด นำเสนอแนวทางการทำงานด้านวิศวกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่าต้อง “คิดในทิศทางใหม่” อย่างจริงจัง จากเดิมที่หน้าที่ของทีมวิศวกรในโครงการคือเพียงแค่ทำให้น้ำไหลไฟสว่างและแอร์เย็น แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลงอนาคต ทีมวิศวกรจะต้องเปลี่ยนกระบวนการทำงาน โดยเริ่มจากการออกแบบระบบของโครงการที่อยู่อาศัยตั้งแต่ระดับพื้นฐาน
ยกตัวอย่างเช่น แต่เดิมวิศวกรจะออกแบบระบบปรับอากาศเพื่อทำให้อาคารเย็น แต่วันนี้ต้องเปลี่ยนเป็นออกแบบระบบให้ผู้อยู่อาศัยรู้สึกเย็นสบายโดยใช้ระบบปรับอากาศให้น้อยที่สุดหรือไม่ใช้เลย เพื่อเปลี่ยนจาก Heat Urban ให้กลายเป็น Cool Urban และแทนที่จะเป็นโครงการที่สร้างมลภาวะ แต่กลับเป็นโครงการที่ช่วยลดมลภาวะได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแนวทางและวิธีการคิดทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหามวลความร้อนในเขตเมืองที่ต้นเหตุ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้พลังงานของทุกระบบวิศวกรรม เป็นเหตุให้เกิดความร้อนสะสม
บทสรุปของการนำเสนองานวิขัยในครั้งนี้ คือการเปลี่ยนแปลงอนาคตจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐซึ่งมีหน้าที่กำหนดนโยบายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม บริษัทผู้พัฒนาโครงการที่ต้องเล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงอนาคตเมือง และถือประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดความสำเร็จของบริษัทนอกจากเม็ดเงิน และส่วนสำคัญที่สุดคือภาคประชาชนที่ต้องร่วมขับเคลื่อนการสร้างเมืองแห่งอนาคตที่ยั่งยืน ที่ซึ่งทุกคนจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขทั้งกับเพื่อนมนุษย์ กับสิ่งมีชีวิตต่างๆรวมถึงโลกใบนี้