fbpx
ลลิลทาวน์ ชัยพฤกษ์ ไทรน้อย 1536x1024 1

ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ พลิกโฉมองค์กร สู่ ‘National Property Company’

ในปี 2565 ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มีอายุครบ 36 ปีเต็ม เป็น 36 ปีที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วทุกรูปแบบ พร้อมๆ กับการเติบโตที่มั่นคงแข็งแรง ดูได้จากจากรายได้จากการขายบ้าน 1,400 ล้านบาท ในปี 2544 หรือ 1 ปีก่อนที่ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จะจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ผ่านมา 20 ปี จนถึงสิ้นปี 2564 ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ มีรายได้จากการขายบ้านรวม 6,500 ล้านบาท และจากสินทรัพย์ระดับ 1,300 ล้านบาท ในปี 2544 กลายมาเป็น 13,000 ล้านบาท ในอีก 20 ปีต่อมา แม้รายได้จะยังไปไม่ถึงหลักหมื่นล้านเหมือนบริษัทอสังหาฯระดับ Top 5 ทั้งหลาย แต่ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ก็สามารถไต่ระดับขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง

แม้อาจมีในบางจังหวะที่สะดุดไปบ้างตามสถานการณ์เศรษฐกิจ แต่ด้วยวิสัยทัศน์การบริหารของผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทรุ่นที่ 1 อย่าง นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร ที่อ่านเกมได้ขาดในทุกกระดานจนนำพาบริษัทอสังหาฯเล็กๆ อย่าง ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ฝ่ามรสุม คลื่นลมแรง เอาตัวรอดมาได้ทุกสถานการณ์ และยังสร้างการเติบโตให้บริษัทมาได้ตลอด 36 ปี

ส่งต่อมาถึงรุ่น 2 นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการคนปัจจุบัน ที่พร้อมขับเคลื่อนองค์กรภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไปจากเดิม กับเป้าหมายของ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ที่ท้าทายยิ่งขึ้น ในการเป็น Top of Mind 1 ใน 3 แบรนด์อสังหาฯที่ผู้บริโภคต้องนึกถึงเวลาที่จะซื้อบ้านหลังแรก และการก้าวสู่การเป็น National Property Company ซึ่งในวันนี้เรามาพูดคุยกับ ชูรัชฏ์ ชาครกุล แม่ทัพของ ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ในยุคที่ 2 กับก้าวต่อไปในโอกาสครบรอบ 36 ปี

เริ่มต้นจากการฉายภาพใหญ่ในครึ่งปีแรก ชูรัชฏ์ มองว่า ภาพรวมตลาดการโอนบ้านยังไม่โตขึ้น เพราะเรามีปัญหาที่ยืดเยื้อมาค่อนข้างเยอะ ทั้งเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ทำให้มีปัญหาในการขอสินเชื่อ แต่ก็คาดว่าในครึ่งปีหลัง สถานการณ์ต่างๆ จะเริ่มดีขึ้น หลังจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย เริ่มเปิดบ้านปิดเมืองให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามา ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคท่องเที่ยวก็เริ่มฟื้นตัว  ขณะที่ภาคส่งออกยังมีสัญญาณที่ดี

“ครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะดีกว่าครึ่งปีแรกในแง่ของภาพรวม ตลาดอสังหาฯก็คงจะเติบโตได้ แต่จะให้กลับไปเหมือนเดิมก็คงต้องใช้เวลาอีกสักระยะ” ชูรัชฏ์ ให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาฯก็ยังมีปัจจัยลบที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาเงินเฟ้อที่ทำให้ข้าวของแพงขึ้น ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการปรับขึ้นของค่าแรงก็จะส่งผลกระทบทางอ้อม ขณะที่ค่าแรงภาคอสังหาฯก็สูงกว่าค่าแรงขึ้นต่ำอยู่แล้ว ก็อาจจะกระทบไม่มากนัก สำหรับทิศทางของอัตราดอกเบี้ยคงจะปรับขึ้นอีกแน่นอน แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังอยู่ในภาวะที่ดอกเบี้ยยังต่ำกว่าปกติ ซึ่งการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยของเราคงจะไม่อิงตามการปรับขึ้นของดอกเบี้ยธนาคารกลางสหรัฐ และคงไม่ขึ้นแรงเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งเรื่องของการเงินจึงยังมีความสุ่มเสี่ยงอยู่พอสมควร การมีสภาพคล่องที่ดีจึงเป็นเรื่องสำคัญในการดำเนินธุรกิจในขณะนี้

“บริษัทมีการบริหารความเสี่ยงด้านการเงินอย่างรัดกุม มีการใช้แหล่งเงินทุนที่หลากหลายทั้งหุ้นกู้ และวงเงินสินเชื่อของธนาคาร ที่ยังไม่เบิกใช้อีกจำนวนมาก  รวมถึงการหมุนรอบธุรกิจที่รวดเร็ว ช่วยให้บริษัทมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง  ทำให้ ณ สิ้นไตรมาสองนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) เพียง 0.58 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ราว 1.38 เท่า และหากพิจารณาในแง่ของตัวเลข Net D/E ณ สิ้นไตรมาสสอง อยู่ที่ระดับเพียง 0.23 เ ท่า สะท้อนความเสี่ยงทางการเงินที่ต่ำ และศักยภาพในการขยายธุรกิจในอนาคตของบริษัท โดยไม่ติดปัญหาด้านสภาพคล่อง”

ชูรัชฏ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการเปิดตัวโครงการใหม่ในปีนี้ ลลิล จะเปิดโครงการใหม่ 10-12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 ล้านบาท ครึ่งปีแรกเปิดไปแล้ว 5 โครงการ ในครึ่งปีหลังวางแผนจะเปิดอีก 5-6 โครงการ มูลค่ารวม 4,000 ล้านบาท โดยในไตรมาส 3 เปิดโครงการใหม่ไปแล้ว 3 โครงการ ที่เหลือจะเปิดตัวในไตรมาสสุดท้าย ซึ่งยอดขายยังอยู่ในเป้าหมายที่ตั้งไว้รวม 8,500 ล้านบาท 8 เดือนทำไปได้ 5,800-5,900 ล้านบาท ขณะที่เป้ารับรู้รายได้ 7,200 ล้านบาท 6 เดือนแรกทำไปได้แล้ว 3,200 ล้านบาท

ทั้งหมดคือผลงาน ณ ปัจจุบัน และเป้าหมายของลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ในปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่บริษัทดำเนินธุรกิจมาครบ 36 ปี โดยบริษัทได้วางเป้าหมายสำหรับการก้าวต่อไป ด้วยความตั้งใจที่จะเป็น  Top of Mind 1 ใน 3 แบรนด์อสังหาฯ ที่ผู้บริโภคนึกถึงเมื่อต้องการซื้อบ้านหลังแรก โดยให้ความสำคัญกับคุณภาพของการอยู่อาศัย และการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ โดยใช้เทคโนโลยี่ Digital Marketing และ Big Data เข้ามาเจาะลึกให้ถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น

“ตลอด 36 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่บริษัทได้เน้นย้ำมาโดยตลอดก็คือ Quality of Living ทำให้ลูกค้าประทับใจและบอกต่อหรือซื้อซ้ำเมื่อต้องการจะขยับขยายครอบครัว โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่เกิดจาก Word of Mouth อยู่ราวๆ 30%”

ขณะเดียวกัน ได้มีการปรับดีไซน์บ้านให้ตอบโจทย์การอยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่ นำแบบบ้านสไตล์ French Colonial มาใช้ ออกแบบพื้นที่ใช้สอยให้มีความยืดหยุ่น เพื่อรองรับชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) มีห้องเอนกประสงค์ที่สามารถปรับเปลี่ยนให้เป็นห้อง Work From Home ,Study Online หรือปรับให้เป็นห้องผู้สูงอายุรับสังคมสูงวัยในอนาคตได้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี

นอกจากนี้ บริษัทได้นำกลยุทธ์ด้าน Digital Marketing เพิ่มมากขึ้น เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างมีศักยภาพและตรงตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน มีการนำ Big Data มาใช้ในการวิเคราะห์Customer Insight เพื่อนำเสนอรูปแบบผลิตภัณฑ์และการบริการที่เข้าถึง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างแม่นยำ และนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารงานในทุกภาคส่วนในองค์กร เพื่อยกระดับสู่ Digital Company อย่างเต็มรูปแบบ

ในขณะเดียวกัน บริษัทวางแผนที่จะขยายธุรกิจ เพื่อก้าวไปสู่การเป็น National Property Company ผู้นำในตลาดที่อยู่อาศัยที่มีการพัฒนาโครงการที่ครอบคลุมทั่วประเทศ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ทั้งในตลาดที่อยู่อาศัย และการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างรายได้ในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทได้มีการขยายตลาดออกไปในต่างจังหวัดบ้างแล้วในพื้นที่ EEC และเมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นก็มีแผนจะขยายการลงทุนไปในหัวเมืองต่างๆ มากขึ้น ในปี 2566 รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในธุรกิจที่สร้างรายได้ในระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม โรงเรียน ค้าปลีก เป็นต้น

ถือเป็นการปรับตัวครั้งสำคัญของลลิล พร็อพเพอร์ตี้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงและเติบโตที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต