fbpx
ภาพที่ดินเกษตร1 2

เรื่องจริง! กรมที่ดินแจง ที่ดินไม่ทำประโยชน์มีสิทธิ์โดนรัฐยึดคืน

ที่ดินรกร้างว่างเปล่า หรือที่ดินที่เจ้าของไม่ได้นำมาทำประโยชน์อันใด นอกจากจะต้องจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแพงกว่าที่ดินประเภทอื่นๆ แล้ว ยังมีข่าวว่าอาจจะมีสิทธิ์ถูกราชการยึดหากไม่ได้ทำประโยชน์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลายาวนาน เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน กรมที่ดินได้ออกมาอธิบายเรื่องนี้ครับ

คำตอบก็คือ มีกฎหมายที่ให้อำนาจกรมที่ดินที่จะสามารถยึดที่ดินที่เจ้าของปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเป็นเวลานานๆ

กรมที่ดินได้ชี้แจงข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตาม มาตรา 6 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497

ซึ่งบัญญัติว่า “นับตั้งแต่วันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับนี้ใช้บังคับ บุคคลใดมีสิทธิในที่ดินตามโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หากบุคคลนั้นทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้

 (1) สำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน เกินสิบปีติดต่อกัน

 (2) สำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เกินห้าปีติดต่อกัน

ให้ถือว่าเจตนาสละสิทธิในที่ดินเฉพาะส่วนที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ หรือที่ปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า เมื่ออธิบดี (กรมที่ดิน) ได้ยื่นคำร้องต่อศาล และศาลได้สั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวให้ที่ดินนั้นตกเป็นของรัฐเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายนี้ต่อไป”

ขณะที่กระทรวงมหาดไทยได้วางระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ. 2522 ลงวันที่ 9 มีนาคม 2522 ว่า การพิจารณาว่าที่ดินแปลงใดมีผู้ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้พิจารณาถึงการทำประโยชน์ เพียงแต่ล้อมรั้วหรือเสียภาษีบำรุงท้องที่ แต่ไม่ทำประโยชน์ย่อมถือว่าเป็นการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า

สำหรับที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยในหมู่บ้านหรือในเมือง แม้จะยังไม่ได้ปลูกบ้านอยู่อาศัยแต่เจ้าของยังมีเจตนายึดถือเพื่อตนอยู่ ก็ให้ถือว่าที่ดินนั้นเป็นที่ดินที่ได้ทำประโยชน์แล้วโดยสภาพ

โดยภายในเดือนมกราคมของทุกปีจังหวัดจะสำรวจว่ามีที่ดินแปลงใดบ้างที่มีผู้ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวลาสิบปีติดต่อกันสำหรับที่ดินที่มีโฉนดที่ดิน หรือห้าปีติดต่อกันสำหรับที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ และรายงานกระทรวงมหาดไทยทราบ ซึ่งก่อนส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยจะมีขั้นตอนการดำเนินการสรุปได้ดังนี้

 (1) จังหวัดหรืออำเภอจะทำหนังสือแจ้งให้เจ้าของที่ดินที่ทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า จัดการหรือเร่งรัดให้มีการทำประโยชน์ภายในเวลา ๓ เดือนนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง

 (2) เมื่อครบกำหนดแล้วยังไม่จัดการให้มีการทำประโยชน์ให้จังหวัดตั้งกรรมการเพื่อพิจารณาว่ามีการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดินหรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวลาจริงหรือไม่เพียงใด

 (3) เมื่อคณะกรรมการมีความเห็นว่ามีการทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์ในที่ดินหรือปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าเกินกำหนดเวลาจริงให้จังหวัดทำความเห็นส่งกรมที่ดินเพื่อพิจารณาดำเนินการส่งเรื่องให้อัยการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินดังกล่าวให้ตกเป็นของรัฐต่อไป

ลดภาษีที่ดิน

อย่างไรก็ตาม กรมที่ดิน ได้ตรวจสอบแล้วปรากฏว่า ตั้งแต่มีการประกาศระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินที่ถูกทอดทิ้งไม่ทำประโยชน์หรือปล่อยให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่าให้ตกเป็นของรัฐ พ.ศ 2522 ยังไม่เคยมีคำสั่งศาลให้เพิกถอนหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้ตกเป็นของรัฐ แต่อย่างใด

 กรมที่ดินจึงขอแนะนำให้ประชาชนผู้มีสิทธิในที่ดินได้ตรวจสอบที่ดินและเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเพื่อปกป้องและรักษาสิทธิในที่ดินของตนเองเอาไว้ โดยสามารถตรวจสอบรูปแปลงที่ดินผ่าน Application LandsMaps ของกรมที่ดิน ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สรุปว่ากฎหมายนี้มีอยู่จริงๆ รัฐสามารถยึดที่ดินรกร้างที่เจ้าของไม่ทำประโยชน์ได้จริง แต่ที่ผ่านมากว่า 40 ปี ยังไม่เคยมีการยึดที่ดินจริงๆ สักแปลง แต่ในอนาคตนั้นก็ไม่แน่ ซึ่งในข้อชี้แจงของกรมที่ดินก็ไม่ได้บอกว่า มีที่ดินที่กรมที่ดินส่งไปให้ศาลท่านพิจารณามากน้อยแค่ไหนหรือไม่มีเลย

แต่บอกตรงๆ กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายเก่าแก่ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 และเป็นกฎหมายที่ริดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งอาจจะขัดกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ในมาตรา 37 “บุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก” ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สิน แม้จะมีกฎหมายที่สามารถยึดที่ดินคืนได้ดังเช่นประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ก็คงทำไม่ได้ง่ายๆ หรอกครับ