2 ปีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเฉพาะในปี 2564 ที่มีการแพร่ระบาดอย่างหนักหน่วง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทรุดหนักอย่างที่หวาดหวั่นกันไว้ในช่วงก่อนหน้า ซึ่งต้องยกเครดิตให้หลายๆ บริษัทที่สามารถปรับตัวรับมือกับสถานการณ์กันได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องของการชะลอลงทุนใหม่ การเร่งระบายสต๊อก การปรับวิธีการขายเน้นไปที่ออนไลน์ การย้ายจากตลาดแนวสูงมาสู่ตลาดแนวราบ รวมถึงการจัดการหลังบ้าน การบริหารต้นทุน แม้จะไม่ได้ดีที่สุด แต่ก็ถือว่าสามารถประคองตัวให้อยู่รอดได้ แม้ว่าจะมีบาดแผลให้เห็นกันอยู่บ้างก็ตาม
ทั้งหมดสะท้อนจากผลประกอบการในปี 2564 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่โหดสุดๆ ทั้งเรื่องของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่รุนแรง จนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ไซต์โครงการถูกสั่งปิด เศรษฐกิจยังไม่มีทีท่าว่าจะฟื้นตัว sentiment-confidence ของผู้บริโภคหดหายไปท่ามกลางภาวะตื่นกลัว แต่ชาวอสังหาฯก็ยังฝ่าฟันผ่านมาได้ด้วยรายได้ดี
อสังหาฯฝ่าวิกฤติโควิด รายได้ปี 64 ติดลบ 2.5%
Property Mentor ได้เก็บข้อมูลบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่จดจะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนับเฉพาะบริษัทที่มีการขายที่อยู่อาศัยเป็นหลักและยัง active อยู่ในตลาดรวม 34 บริษัท พบว่า ในปี 2564 ทั้ง 34 บริษัทมีรายได้รวมกันทั้งสิ้น 303,347 ล้านบาท ลดลง -2.52% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีรายได้รวม 311,191 ล้านบาท และเมื่อเทียบกับปี 2562 ลดลง -11.53%
แม้ตัวเลขจะยังติดลบแต่ก็เป็นการติดลบที่ลดลงต่อเนื่อง (ปี 63 เทียบปี 62 ติดลบประมาณ -9%) และน่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในปี 2565 ถ้าไม่โดนพิษสงครามรัสเซีย-ยูเครนเล่นงานเอาเสียก่อน
ถ้าวัดเฉพาะรายได้จากการขายในปี 2564 มีรวมกันทั้งสิ้น 266,425 ล้านบาท ลดลง -3.4 % เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีรายได้จากการขายรวม 275,840 ล้านบาท และลดลง -7.9% เมื่อเทียบกับปี 2562 แม้จะยังมีตัวเลขที่ติดลบแต่ก็มีทิศทางที่ดีขึ้น (ปี 63 เทียบปี 62 ติดลบประมาณ -4.6%) และมีแนวโน้มที่จะเป็นบวกได้ในปี 2565 เช่นกัน
รายได้หาย แต่กำไรโตสวนตลาด 11.65%
ที่น่าสนใจก็คือกำไรสุทธิโดยภาพรวมที่ดูดีขึ้น โดยในปี 2564 ทั้ง 34 บริษัททำกำไรสุทธิรวมกันได้ 33,404 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.65% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีกำไรสุทธิ 29,918 ล้านบาท แต่ก็ยังติดลบถึง -32% เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิในปี 2562 ที่ทำได้ 49,236 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิปี 2563 เทียบกับปี 2562 ติดลบสูงถึง -39%
โดยในปี 2564 มีบริษัทที่มีผลการดำเนินการมีกำไร 22 บริษัท และขาดทุน 12 บริษัท ขณะที่ปี 2563 บริษัทที่ผลประกอบการมีกำไร 25 บริษัท และขาดทุน 9 บริษัท ส่วนในปี 2562 มีบริษัทที่มีกำไร 30 บริษัท และขาดทุน 4 บริษัท
อย่างไรก็ตาม มีบริษัทอสังหาฯ เพียง 13 บริษัทจาก 34 บริษัทที่มีรายได้รวมที่เป็นบวกเมื่อเทียบกับรายได้รวมปี 2563 และมี 12 บริษัทจาก 34 บริษัทที่มีรายได้จากการขายที่เป็นบวกเมื่อเทียบกับรายได้จากการขายในปี 2563 นอกจากนี้มี 11 บริษัทจาก 34 บริษัทที่มีผลกำไรที่เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563
รวมๆ แล้วประมาณ 1 ใน 3 ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯที่มีผลการดำเนินการที่ดีขึ้น ทั้งด้านรายได้รวม รายได้จากการขาย และผลกำไร และแสดงให้เห็นว่า บริษัทอสังหาฯส่วนใหญ่ยังมีการบ้านที่จะต้องทำอีกมากถ้าต้องการพลิกฟื้นกลับมาในปี 2565
แลนด์-เอพี-ศุภาลัย แชมป์อสังหาฯปี 64
คราวนี้มาดูกันต่อว่าปี 2564 ใครคือผู้ฝ่าด่านสุดหินขึ้นมายืนอยู่ใน Top 5 ได้บ้าง เริ่มจากบริษัทที่ทำรายได้รวมสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 เป็นการกลับมาของ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่สามารถทำรายได้รวมได้สูงสุดที่ 33,510 ล้านบาท เฉือนอันดับ 2 ซึ่งเป็นบริษัทน้องคือ เอพี (ไทยแลนด์) ที่มีรายได้รวม 31,981 ล้านบาท ส่วนอันดับ 3 ตกเป็นของศุภาลัยที่ถือว่ามาแรงด้วยรายได้รวม 29,647 ล้านบาท เฉือนอันดับ 4 แสนสิริ ที่มีรายได้รวม 29,558 ล้านบาท อย่างเฉียดฉิว และอันดับ 5 เป็นของ พฤกษา โฮลดิ้ง ที่มีรายได้รวม 28,430 ล้านบาท
สำหรับรายได้จากการขายซึ่งถือว่าเป็นแชมป์ในตลาดที่อยู่อาศัย เพราะว่ากันที่รายได้จากการขายแบบเพียวๆ สำหรับในปี 2564 อันดับ 1 ตกเป็นของ เอพี (ไทยแลนด์) ที่มีรายได้จากการขายรวม 30,879 ล้านบาท เฉือนบริษัทพี่ แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่เข้าป้ายในอันดับ 2 ด้วยรายได้จากการขาย 30,461 ล้านบาท ขณะที่ ศุภาลัย มาเป็นที่ 3 ด้วยรายได้ 28,938 ล้านบาท อันดับ 4 เป็นของ พฤกษา โฮลดิ้ง มีรายได้จากการขาย 28,041 ล้านบาท และอันดับ 5 เป็นของแสนสิริ มีรายได้จากการขาย 26,170 ล้านบาท
แต่ที่สุดแล้วบริษัทที่มีกำไรสูงสุดก็คือ ผู้ชนะตัวจริง ซึ่งในปี 2564 บริษัทที่มีกำไรสุทธิสูงสุด ได้แก่ ศุภาลัย มีกำไรสุทธิ 7,139 ล้านบาท ตามด้วยแชมป์เก่า แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เข้าป้ายมาเป็นที่ 2 ด้วยกำไรสิทธิ 6,939 ล้านบาท อันดับ 3 เอพี (ไทยแลนด์) มีกำไรสุทธิ 4,543 ล้านบาท ส่วนอันดับ 4 เป็นการเข้าสู่ Top 5 ของ ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ ด้วยกำไรสุทธิ 3,377 ล้านบาท และอันดับ 5 เป็นของ พฤกษา โฮลดิ้ง มีกำไรสุทธิ 2,403 ล้านบาท
ส่วนบริษัทที่ถือว่าเป็นดาวรุ่งพุ่งแรงสามารถเข้าป้ายในอันดับ 6 ได้ทุกรายการ ทั้งรายได้รวม รายได้จากการขาย และกำไรสุทธิ ได้แก่ เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น
ทั้งหมดนี้คือ ภาพรวมการดำเนินการของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในปี 2564 ซึ่งถือว่าภาพรวมยังพอเอาตัวรอดมาได้อย่างเฉียดฉิว แต่ก็ยังมีหลายบริษัทที่จะต้องเร่งสปีดให้รอดพ้นจากภาวะขาดทุน ซึ่งในปี 2565 จะเป็นปีที่การแข่งขันในตลาดจะยิ่งรุนแรงขึ้น จากการประกาศแผนลงทุนของแต่ละบริษัทที่เรียกได้ว่าใส่เกียร์เดินหน้าอย่างเต็มตัว เพราะมองว่า สถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย แต่กลายเป็นว่าวิกฤติจากภัยสงครามกำลังจะเข้ามาแทนที่และเป็นปีที่จะต้องฟันฝ่าเอาตัวให้รอดกันอีกปี!