ท่ามกลางมรสุมจากวิกฤติโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ต้องปรับโหมดธุรกิจจาก offensive เป็น defensive พยายามประคองตัว พร้อมกับปัดกวาดหลังบ้านรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อรอการ rebound ในวันที่ตลาดกลับคืนสู่ภาวะปกติอีกครั้ง
ในระหว่างทางเต็มไปด้วยคำถามมากมายว่าทิศทางของอนันดาจะเป็นไปอย่างไร เมื่อโควิด-19 ได้สร้างผลกระทบครั้งใหญ่ต่อพฤติกรรมผู้บริโภค urbanization กำลังถูกท้าทายด้วยการ work form home/work from anywhere ทำให้ชีวิตคนเมืองต้องเปลี่ยนไป การเคลื่อนย้ายของแรงงานจากในเมืองออกสู่นอกเมืองกลายเป็นประเด็นที่ต้องจับตา
การพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อคนเมืองซึ่งเป็น core business ของอนันดากำลังถูกสั่นคลอน?
“เราเป็น urban developer สร้างเมือง สร้างคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้า แม้ในช่วงวิกฤติโควิดใน 2 ปีที่ผ่านมา core business จะได้รับผลกระทบอยู่พอสมควร แต่ก็สามารถผ่านพ้นมาได้ด้วยการเล่นเกมรับมาตลอด ขณะเดียวกัน เราก็ตระหนักอยู่ตลอดเวลาว่า business model ของอนันดายังมีความหมายอยู่หรือเปล่า
เมื่อโควิด-19 ทำให้ทุกคนสามารถ work from anywhere ไม่ต้องเข้ามาออฟฟิศ อยู่บ้านหรืออยู่ต่างจังหวัดก็สามารถทำงานได้ urbanization จะไม่มีความหมายอีกต่อไป มันจะเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า? เราคิดเรื่องนี้มาตลอดหลังเกิดโควิด-19” นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อกลับมาดูข้อมูลที่มีอยู่ในมือ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นภายหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย พร้อมกับการเปิดประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มขยับกันอีกครั้ง ทำให้เชื่อมั่นว่า วิถีของคนเมืองกำลังจะกลับคืนมาอีกครั้ง
urban life is back?
นายชานนท์ ขยายความต่อว่า สิ่งที่เกิดขึ้นใน 500 ปีที่ผ่านมา urbanization ได้ทำให้คนเข้ามาอยู่ในเมือง สำหรับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐหรือญี่ปุ่น สัดส่วนของคนเมืองสูงถึง 80% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของโลกอยู่ที่ประมาณ 50% ส่วนของไทยก็อยู่ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของโลก เราจึงคิดว่าถึงอย่างไรคนก็ต้องเข้ามาอยู่ในเมือง
แต่ที่ผ่านมา urbanization ก็ได้ทำให้เกิดปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจราจรที่ทำให้ 45 วันของชีวิตคนเมืองอย่างกรุงเทพฯ ต้องอยู่บนท้องถนนกับภาวะการจราจรที่ติดขัด อนันดาจึงพยายามสร้างคอนโดติดรถไฟฟ้า เพื่อคืนเวลาให้กับชีวิตคนเมือง
ขณะเดียวกัน mass transit ได้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในปี 2563 มีสถานีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น 128 สถานี อัตราการก่อสร้างสถานีเฉลี่ยเกือบ 2 สถานีต่อเดือน ทำให้ถึงปี 2573 จะมีสถานีรถไฟฟ้าเกิดขึ้น 300-320 สถานี ถ้าเราคิดว่า urbanization ไม่มีอีกแล้ว เงินลงทุน mass transit กว่า 300,000 ล้านบาท ก็ควรจะเอาไปทำอย่างอื่นจะดีกว่า
เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย แม้ว่าเชื้อโควิคจะไม่ได้หายไป แต่เราสามารถปรับตัวในการใช้ชีวิตให้อยู่กับมันให้ได้ มีการฉีดวัคซีนป้องกันที่ครอบคลุม ขณะที่รัฐบาลได้ผ่อนคลายล็อกดาวน์ พร้อมกับการเปิดประเทศอีกครั้ง
hybrid life ชีวิตคนเมืองยุคใหม่
เศรษฐกิจในหลายประเทศเริ่มกลับมาฟื้นตัว ชีวิตคนเมืองในหลายที่เริ่มกลับคืนสู่ภาวะปกติ ขณะที่เศรษฐกิจไทยเริ่มค่อยๆ ฟื้นตัว ผู้บริโภคเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอย จึงคิดว่าถึงจังหวะที่เรากำลังจะ rebound ซึ่งภาคธุรกิจก็จะต้องทำให้ตัวเองฟิตเพื่อพร้อมรับกับการ rebound ครั้งใหม่นี้
มั่นใจว่าชีวิตของคนเมืองกำลังจะกลับคืนมา แต่เป็นเมืองที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป เรามองว่าจะเกิดเป็น hybrid life เป็นชีวิตที่ต้องผสมผสานระหว่างการอยู่ในจอ กับการที่ได้พบปะสังสรรค์การเข้าสู่สังคมตามปกติ โลกที่กำลังจะกลับมาจึงเป็นในลักษณะของ hybrid model” นายชานนท์กล่าว
จากการศึกษาถึงวิถีชีวิตของคนเมืองพบว่า ในยุคหลังโควิดการใช้ชีวิตในเมืองยังคงเป็นความจำเป็น และมีความสำคัญสำหรับกลุ่มคนในวัยทำงาน กลุ่มคนที่กำลังศึกษา กลุ่มครอบครัว ตลอดจนกลุ่มระดับลักชัวรี่ในเมือง
กลุ่มคนเหล่านี้ยังต้องการที่พักอาศัยที่มีความสะดวกในการเดินทาง การบริการและการดูแลที่พิเศษ ตลอดจนสิทธิพิเศษต่างๆ รวมถึงแวดล้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก มีระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ มีสถานที่ที่ทันสมัยในการพบปะสังสรรค์ ที่พร้อมตอบโจทย์การใช้ชีวิตในทุกมิติ
ananda new blue พลิกฟื้นธุรกิจ
บริษัทจึงได้นำเอากลยุทธ์ ananda new blue มาต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการต่างๆ ในปี 2565
เราจะยังคงเดินหน้า core business ในการสร้างเมืองต่อไป หลังจากได้สร้างคอนโดที่อยู่ใกล้รถไฟฟ้ามาแล้วกว่า 4 หมื่นยูนิต มูลค่ารวมกว่า 150,000 ล้านบาท อนันดาจะเดินหน้าทำต่อและเป็นเบอร์หนึ่งในตลาดนี้ ซึ่งจะต้องหา blue ocean หรือ new blue ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการเดินหน้าต่อไป” นายชานนท์กล่าว
แนวคิดในการ rebound ของเราในครั้งนี้ก็คือ new blue ซึ่งมาจาก blue ocean เป็นการค้นหาสิ่งใหม่ๆ มาตอบสนองความต้องการของลูกค้าในยุคหลังโควิด ประกอบด้วย
- new blue customer segment การขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ในระดับลักชัวรี่
- new blue brand concept จะมีแบรนด์ใหม่เพิ่มอีก 3 แบรนด์ รองรับความต้องการใหม่ๆ
- new blue design concept เพื่อตอบสนองต่อ new normal lifestyle
- new blue recurring income กับ 5 เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ที่พร้อมจะเปิดตัว
เปิด 7 โครงการขยายฐานลูกค้าใหม่
new blue จะถูกนำมาพัฒนาเป็น 7 โครงการใหม่ มูลค่า 28,000 ล้านบาท ที่จะเปิดตัวในปี 2565 ได้แก่
-Artale Rama 9 (อาร์เทล พระราม 9) urban luxury pool villa มูลค่า 3,538 ล้านบาท เป็นการขยายตลาดบ้านแนวราบในระดับลักชัวรี่ ถือเป็นเซ็กเมนต์ที่น่าสนใจแม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะชะลอตัว เซ็กเมนต์นี้ก็ยังมีความแข็งแรงอยู่ แต่โปรดักส์ที่ทำออกมาจะต้องโดนจริงๆ เรียกว่าถ้าไม่สุดอย่าทำ
-COCO Parc (โคโค่ พาร์ค) คอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์บนถนนพระราม 4 มูลค่า 4,622 ล้านบาท เป็น services residence ที่ร่วมกับเครือดุสิตธานี ในการให้บริการระดับ 5 ดาว และมีจุดเด่นตรงทำเลที่อยู่ตรงข้ามสวนสาธารณะขนาดใหญ่ 2 แห่งที่เชื่อมต่อกัน คือ สวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ มีเนื้อที่รวมกันกว่า 800 ไร่
-Culture (คัลเจอร์) เป็นคอนโดแบรนด์ใหม่ภายใต้แนวคิดของการอยู่อาศัยในสังคมร่วมสมัย เน้นในเรื่องของ eco living เรื่องของ community รองรับคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ sustainability โดยร่วมกับ scratch first ในการวางแนวคิดในการพัฒนาโครงการภายใต้แบรนด์ Culture
ในปี 2565 คอนโดแบรนด์ Culture จะมี 2 โครงการ คือ 1.Culture ทองหล่อ มูลค่า 3,383 ล้านบาท ห่างจากสถานีทองหล่อ 230 เมตร ตั้งราคาขายไว้ที่ 150,000 บาท/ตร.ม.ขึ้นไป 2. Culture จุฬา มูลค่า 6,031 ล้านบาท ห่างจาก MRT สามย่าน 350 เมตร BTS ศาลาแดง 240 เมตร
นอกจากนี้ จะเปิดคอนโดแบรนด์ Ideo ซึ่งเป็น new series ภายใต้แนวคิด solution for new normal life 2 โครงการ ได้แก่ 1. Ideo พหล-สะพานควาย มูลค่า 7,521 ล้านบาท คอนโดติดสถานี BTS สะพานควาย ราคาขายอยู่ที่ 130,000-150,000 บาท/ตร.ม. 2. Ideo รามคำแหง-ลำสาลี สเตชั่น มูลค่า 2,085 ล้านบาท เป็นคอนโดที่อยู่บนทำเลที่เป็นจุดเชื่อมต่อรถไฟฟ้าถึง 3 สาย ราคาขายอยู่ที่ 80,000-100,000 บาท/ตร.ม.
ขณะเดียวกัน บริษัทจะเปิดแบรนด์ใหม่ที่เป็นโครงการบ้านแนวราบเพิ่มอีก 1 โครงการ ประกอบด้วย ทาวน์โฮม และบ้านแฝด ในราคา 3-5 ล้านบาท โดยจะเอาส่วนผสมทุกอย่างในคอนโดไม่ว่าจะเป็น super convenient hybrid lifestyle มาใส่พร้อมกับประเดิมโครงการแรกที่ ติวานนท์-แจ้งวัฒนะ ในราคาเริ่มที่ 2 ล้านบาทต้นๆ
ตอบโจทย์ new normal life
นายชานนท์ กล่าวต่ออีกว่า การพัฒนาโครงการจะสอดรับกับ new blue design concept ที่บริษัทได้มีการพัฒนาภายใต้แนวคิด new normal life of gen c เพราะธุรกิจของเราไม่ได้ขายแค่ asset อย่างเดียว แต่เป็นการขายบริการ ขายความสะดวก ซึ่งต้องเป็น super convenient
ไม่ว่าจะเป็นคอนโดใกล้รถไฟฟ้าเพื่อคืนเวลาให้กับชีวิต ดีไซน์จะต้องตอบสนอง new normal ต่างๆ ทั้งเรื่องการออกแบบ space สำหรับ work from home เรื่องของ health and wellness รวมถึง personal space พื้นที่ส่วนกลางที่มี live broadcast สำหรับการทำธุรกิจเล็กๆ โครงการจะต้องมีความเป็น hybrid life
สำหรับธุรกิจเซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างสม่ำเสมอ จะเริ่มกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 4 โดยในปี 2565 เซอร์วิส อพาร์ตเมนต์ของบริษัทจะสามารถเปิดดำเนินการได้ทั้ง 5 โครงการ 18,09 ยูนิต มูลค่า 12,000 ล้านบาท ประกอบด้วย ซัมเมอร์เซ็ต พระราม 9, แอสคอทท์ แอมบาสซี่ สาทร, แอสคอทท์ ทองหล่อ บางกอก, ไลฟ์ สุขุมวิท 8 บางกอก และซัมเมอร์เซ็ต พัทยา
tech & data ขับเคลื่อนองค์กร
นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า perfect storm ใน property sector ได้จบไปแล้วในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กำลังเริ่มฟื้นตัว และอนันดาก็พร้อมที่จะ rebound
ที่ผ่านมาบริษัทมีการปรับเปลี่ยนตัวเองทั้งในเรื่องของการขาย การทำตลาด การใช้ data ในการขับเคลื่อน การจัดการภายในองค์กร ด้วยการนำเทคโนโลยี่ในแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น อนันดา focus/ อนันดา quick/ อนันดา clear/ อนันดา sure/ อนันดา pmo เข้ามาใช้ผสมผสานกับความรู้ และประสบการณ์ที่มีทำให้อนันดาสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำ
“เรา transform data ให้เป็น business insight จากข้อมูลต่างๆ ที่วิ่งผ่านดิจิทัล มีเดียทั้งหมดนับล้านๆ ข้อมูลจากคนที่ให้ความสนใจอนันดา เพื่อเปลี่ยนให้เป็นยอดเยี่ยมชมโครงการ ยอดขาย ยอดโอนให้ได้ โดยการผสานข้อมูลทั้งหมดที่มีให้เป็น game plan ของทุกๆ โครงการ รวมถึงการแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละเคส แต่ละโครงการได้อย่างรวดเร็ว” นายประเสริฐกล่าว
สต๊อกทองคำ เติมรายได้-กำไร
อีกหนึ่งไม้เด็ดของอนันดาในการ rebound ก็คือการมี “สต๊อกทองคำ” สินค้าพร้อมขายทั้งบ้านและคอนโดรวม 28 โครงการ มูลค่า 28,000 ล้านบาท ที่อยู่ในทำเลที่มีศักยภาพสูง แม้ว่าการถือสต๊อกเอาไว้จะเหมือนเป็นดาบ 2 คม แต่ถ้าสามารถรักษาสมดุลในเรื่องกระแสเงินสด และบริหารจัดการสต๊อก เพื่อปล่อยออกมาในเวลาที่เหมาะสมก็จะช่วยเติมรายได้และผลกำไรให้กลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง
“ในปี 2564 บริษัทตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 10,000 ล้านบาท ส่วนในปี 2565 ตั้งเป้าโต 20% หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท และเพิ่มเป็น 14,000 ล้านบาท ในปี 2566 ด้วยความเชื่อมั่นว่า ตลาดอสังหาฯกลับมาแน่นอน! และตลาดอสังหาฯในเมืองจะกลับมาเร็วกว่าที่คิด (Urban life is back) และถึงเวลาที่อนันดาพร้อมจะ rebound!” นายชานนท์ กล่าวทิ้งท้าย