ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาการเคหะแห่งชาติมีงานเข้าจังๆ 2 เรื่องใหญ่
\เรื่องแรกคือ ดราม่าที่เกิดขึ้นที่โครงการเคหะชุมชนนวมินทร์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 เมื่อเรืออากาศโทชัยรัตน์ ทองบริบูรณ์ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ ถูกกล่าวหาว่าไปใช้หัวโขกใส่แม่บ้านของบริษัทเอกชนที่อ้างสิทธิ์ในการบริหารทรัพย์สินในโครงการเคหะชุมชนนวมินทร์ หลังจากรองผู้ว่าฯและทีมงานลงพื้นที่ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผู้อยู่อาศัยในโครงการถูกตัดไฟในห้องพักอาศัย และเกิดเหตุกระทบกระทั่งเข้ากับเจ้าหน้าที่และแม่บ้านของบริษัทดังกล่าว
ใครผิดใครถูกก็คงต้องไปว่ากันตามกระบวนการของกฎหมาย แต่งานนี้ ดราม่าว่าด้วยเจ้าหน้าที่รัฐรังแกประชาชนก็ได้ฟุ้งกระจายไปตามสื่อสังคมออนไลน์จนกลบเกลื่อนปัญหาจริงๆ ที่เกิดขึ้นในโครงการเคหะชุมชนนวมินทร์ไปจนหมดจนสิ้น
เรื่องเกิดจากการเคหะฯได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้อยู่อาศัยในโครงการว่าได้รับความเดือดร้อนถูกตัดกระแสไฟฟ้าโดยบริษัทเอกชนที่อ้างสิทธิ์ในการบริหารโครงการ ทั้งๆ ที่มิเตอร์ไฟฟ้าเป็นของการเคหะฯ และลูกบ้านได้ชำระค่าไฟให้กับการไฟฟ้านครหลวงโดยตรง ซึ่งต่อมาเจ้าของบริษัทเอกชนดังกล่าวก็ยอมรับว่าเป็นคนสั่งตัดมิเตอร์ไฟฟ้าของลูกบ้านเอง และพนักงานของบริษัทได้พยายามขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ของการเคหะฯทำการต่อมิเตอร์ไฟฟ้าให้กับประชาชนจนเกิดเรื่องขึ้นมา
ที่ผ่านมาบริษัทเอกชนรายดังกล่าว อ้างสิทธิ์จากการได้รับสัมปทานในการเช่าเหมาและบริหารจัดการชุมชนในโครงการเคหะชุมชนนวมินทร์ ทั้งหมด 10 อาคาร จำนวน 1,726 ห้อง จึงได้ระงับการจ่ายไฟลูกบ้านที่ค้างชำระค่าเช่านานกว่า 4 เดือน จำนวน 11 ห้อง แม้ว่าบริษัทจะหมดสัญญากับการเคหะฯไปแล้วตั้งแต่ปี 2561 แต่ก็อ้างว่า ยังไม่ได้มีการส่งมอบกรรมสิทธิ์คืนให้กับการเคหะฯ จึงยังถือว่าบริษัทยังมีสิทธิ์ในการดูแลอาคารทั้งหมด
ขณะที่นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า จะดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายทุกอย่างใน 60 วัน ซึ่งที่ผ่านมาทางการเคหะฯได้ยื่นฟ้องบริษัทรายนี้ให้ออกจากพื้นที่ และจะขอยื่นไต่สวนฉุกเฉินเนื่องจากทำให้ประชาชนที่อยู่อาศัยในโครงการเดือดร้อนด้วยการระงับการจ่ายไฟ
ปัจจุบันสัญญาระหว่างการเคหะฯกับบริษัทเอกชนรายนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว การเคหะฯจึงมีนโยบายในการรับคืนอาคารเช่าที่ให้เอกชนเช่าเหมาในกรณีที่เอกชนหมดสัญญากลับมาบริหารเอง เพื่อช่วยเหลือประชาชนให้เช่าที่อยู่อาศัยในอัตราค่าเช่าที่ถูกลง และสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยให้ผู้อยู่อาศัยในเคหะชุมชนนวมินทร์ทำสัญญาเช่ากับการเคหะฯไปเมื่อเดือนเมษายน 2564
อย่างไรก็ตาม บริษัทรายดังกล่าวยังไม่ยอมรามือไปง่ายๆ เมื่อตัวแทนผู้อยู่อาศัยในโครงการได้เข้าพบผู้ว่าการการเคหะฯ เพื่อให้กำลังใจ และขอให้เร่งดำเนินการกับบริษัทเอกชนรายดังกล่าว หลังจากบริษัทได้ส่งใบแจ้งหนี้ให้กับผู้อยู่อาศัยซึ่งปัจจุบันได้ชำระค่าเช่าและค่าน้ำตามสัญญาที่ทำกับการเคหะฯแล้ว โดยขีดเส้นตายให้ชำระค่าเช่าประจำเดือนเมษายน-มิถุนายน 2564 ให้กับบริษัทหากไม่ชำระตามวันและเวลาที่กำหนด บริษัทจะตัดน้ำและกระแสไฟฟ้าภายในวันเสาร์ที่ 19 มิถุนายน 2564 นี้
“การเคหะฯ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐจะเร่งดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและคืนความสุขให้กับพี่น้องในโครงการเคหะชุมชนนวมินทร์โดยเร็วที่สุด” ผู้ว่าการการเคหะฯกล่าว
ก็คงจะต้องติดตามกันต่อว่า ปัญหานี้จะจบลงได้เมื่อไร แต่ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ บริษัทดังกล่าวได้หมดสัญญาไปตั้งแต่ปี 2561 ทำไมการเคหะฯถึงได้ปล่อยปละละเลยให้บริษัทนี้หาประโยชน์ต่อเนื่องมาจนถึง 2-3 ปี ก่อนที่การเคหะฯจะมีนโยบายในการรับคืนอาคารที่ให้เอกชนเช่าเหมาในกรณีที่เอกชนหมดสัญญากลับมาบริหารเองและให้ผู้อยู่อาศัยในโครงการเคหะชุมชนนวมินทร์ทำสัญญาเช่าตรงกับการเคหะฯในเดือนเมษายน 2564 ที่ผ่านมา
ช่วงเวลาที่บริษัทเอกชนเก็บเกี่ยวผลประโยชน์หลังหมดสัญญาไปแล้วนั้น ไม่แน่ใจว่าได้ส่งต่อผลประโยชน์นี้ให้กับการเคหะฯด้วยหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาตลอดกับข้อครหาที่ว่า คนในการเคหะฯกับผลประโยชน์ทับซ้อนในเคหะชุมชนพื้นที่ต่างๆ ยิ่งโครงการขนาดใหญ่ผลประโยชน์ยิ่งมีมาก ซึ่งผู้บริหารการเคหะฯก็ต้องเข้ามาดูแลจัดการเรื่องต่างๆ เหล่านี้ ให้ถูกต้องโปร่งใสไร้ข้อครหาด้วยเช่นกัน
ส่วนเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องทางการเมือง เมื่อนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการกิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการรัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชนและกองทุน สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า คณะกรรมาธิการฯ มีมติรับรองรายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีละเมิดกฎหมายสำคัญของนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ รองผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ และผู้ที่เกี่ยวข้องกรณีดำเนินโครงการบ้านเคหะสุขประชา
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติส่งเรื่องให้นายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการสอบสวน พร้อมส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานอัยการสูงสุด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการเอาผิดผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับการเคหะแห่งชาติต่อไป เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน
โดยหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามการเสนอของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯแล้ว หน่วยงานต้องไปดำเนินการจัดทำโครงการมาเสนอครม.ให้พิจารณาอนุมัติ แต่การเคหะฯกลับใช้ความเห็นของครม.ว่ารับทราบนั้น ไปดำเนินการทดลองทำโครงการย่านร่มเกล้า ย่านลาดกระบัง 2 โครงการ ซึ่งนายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ก็พร้อมจะให้มีการตรวจสอบเพื่อความโปร่งใส ขณะที่การเคหะฯ ก็ยืนยันว่า การพัฒนาโครงการบ้านเคหะสุขประชาเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายเช่นกัน
ซึ่งจริงๆ โครงการบ้านเคหะสุขประชาเป็นโครงการที่มีแนวคิดที่ดี ทำให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย ผู้ด้อยโอกาส รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้มีที่พักอาศัยพร้อมๆ ไปกับการสร้างงานสร้างอาชีพ ถ้าจะมาตกม้าตายกับการลัดขั้นตอน ทั้งๆ ที่ระดับรัฐมนตรี และผู้บริหารระดับสูงต่างก็รู้เรื่องพวกนี้ดีอยู่แล้ว ก็จะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง และควรที่จะต้องทำความจริงให้ปรากฏโดยเร็ว เพื่อให้โครงการต่อๆ ไปสามารถเดินหน้าต่อไปได้