fbpx
e1616672904636

ท่องเที่ยว – อสังหาฯ ภูเก็ต รอความหวังต่างชาติ Come Back

1 ตุลาคม 2564 คือ หมุดหมายที่ธุรกิจ ท่องเที่ยว ในจังหวัดภูเก็ต ตั้งความหวังเอาไว้ว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นใหม่ให้ธุรกิจท่องเที่ยวภูเก็ตกลับมาฟื้นตัว หลังจากที่ทนพิษบาดแผลจากการวิกฤติไวรัสโควิด-19 จนลมหายใจรวยริน

ภูมิกิตติ์ รักแต่งาม

Phuket First October คือ ความพยายามเฮือกสุดท้ายของผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตที่เสนอไปยังรัฐบาล

“Phuket First October คือ การจุดความหวังให้คนเดินต่อให้ได้ ซึ่งเราได้มีคำถามไปยังรัฐบาล 5 เรื่อง เพื่อให้เราได้เดินต่อ ก็ได้คำตอบมาในบางเรื่อง” นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตกล่าว

ประเด็นหลักก็คือ เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาเที่ยวภูเก็ต(รวมถึงจังหวัดอื่นๆ) ถ้าหากได้รับวัคซีนครบ 2 โดส โดยไม่ต้องกักตัว เรื่องนี้มีความเป็นไปได้ ขณะที่การจัดหา และแผนการฉีดวัคซีนให้คนภูเก็ตเพียงพอต่อการสร้างภูมิคุ้มกันกลุ่มได้ก็ยังไม่ชัดเจน ส่วนการจัดหาวัคซีนมาฉีดเองก็ไม่สามารถทำได้

แม้ว่า ล่าสุดภูเก็ตจะเป็นหนึ่งในจังหวัดเป้าหมายของโมเดลแซนด์บ๊อกซ์ ในการทดลองเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเงื่อนไขสำคัญคือ คนในพื้นที่จะต้องได้รับการฉีดวัคซีนต้านไวรัสอย่างน้อย 70% ขึ้นไป รวมถึงกำหนดให้ต่างชาติที่จะเข้ามาต้องอยู่ในพื้นที่แซนด์บ๊อกซ์เท่านั้น

คาดว่าจะเริ่มนำนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาได้เร็วที่สุดในวันที่ 1 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ โดยที่รัฐบาลเตรียมจะหารือถึงแนวทางและมาตรการที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวกันในเร็ววันนี้ แต่ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับความพร้อมของวัคซีน จึงยังคงต้องรอลุ้นว่าจะทัน ไฮซีซั่น ที่จะเริ่มต้นในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้หรือไม่

ธนูศักดิ์ พึ่งเดช

ด้านนายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวเสริมว่า การท่องเที่ยวภูเก็ตมีรายได้ในปี 2562 อยู่ที่ 4.7 แสนล้านบาท ปี 2563 รายได้ลดลงเหลือ 1.08 แสนล้าน หรือลดลงกว่า 75% โดยที่รายได้ 91% ของปี 2563 เกิดขึ้นก่อนใช้มาตรการล็อคดาวน์ ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ห้องพักที่มีกว่าแสนห้องซึ่งมากกว่ากทม. เปิดเพียงหมื่นห้องและมีคนเข้าพักเพียง 10% ของจำนวนที่เปิดให้บริการ

“วันนี้คนภูเก็ตมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่ำกว่าเส้นความยากจน คน 1.9 แสนคนมีรายได้เป็นศูนย์ เพราะต้องตกงาน จนประกันสังคมจ่ายเงินชดเชยแทบไม่ทัน” นายธนูศักดิ์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เรายังมีความหวังว่าภูเก็ตจะกลับมามีรายได้จากการท่องเที่ยวในหลัก 4 แสนล้าน และเพิ่มมากขึ้นเป็น 6 แสน 7 แสนล้านบาทก็สามารถทำได้ โดยจุดเริ่มต้นต้องให้นักท่องเที่ยวกลับเข้ามาให้ได้ก่อน

ในขณะเดียวกันก็อาศัยช่วงเวลานี้ในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในหลายๆ เรื่อง โดยในช่วงของการฟื้นตัวซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สามารถพัฒนาเมืองได้จึงอยากให้รัฐเร่งดำเนินการในเรื่องของสาธารณูปโภคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามบินแห่งที่ 2 รถไฟฟ้า มอเตอร์เวย์ จะต้องเร่งทำ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในด้านการท่องเที่ยวไปได้

ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวก็มีแผนที่จะต่อยอดออกไปจากของเดิมให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความสมดุลและยั่งยืน ซึ่งได้มีการปรึกษาหารือกันในจังหวัดในการผลักดันยุทธศาสตร์ที่ชื่อว่า “Phuket GEMMS” ซึ่งต่อยอดการท่องเที่ยวไปสู่ 5 ธุรกิจหลัก ได้แก่ Gastronomy, Education, Marina, Medical& Wellness และ Sports and Events ยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะต้องอาศัยความร่วมมือของภาคธุรกิจในจังหวัด และการส่งเสริมอย่างจริงจังจากภาครัฐ เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับภูเก็ตในอนาคต

หันกลับมาที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งก่อนหน้าก็อยู่ในภาวะชะลอตัวมาพักใหญ่ ยิ่งมาเจอกับสถานการณ์โควิด-19 ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำตลาดกันครั้งใหญ่

ตัวเลขล่าสุดของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พบว่า โครงการบ้านจัดสรรที่อยู่ระหว่างการขายในจังหวัดภูเก็ต มีจำนวนหน่วยเหลือขายอยู่ประมาณ 3,000 หน่วย โดยมีหน่วยที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและสร้างเสร็จเหลือขาย(พร้อมโอน) หรือเป็น Inventory ในตลาดอยู่กว่า 2,000 หน่วย คิดเป็นร้อยละ 76 ของหน่วยที่เหลือขายทั้งหมด

ขณะที่คอนโดมิเนียมในภูเก็ตมีหน่วยเหลือขายอยู่กว่า 5,000 หน่วย เป็นหน่วยที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและสร้างเสร็จเหลือขาย(พร้อมโอน) หรือเป็น Inventory ในตลาดอยู่กว่า 3,000 หน่วย หรือคิดเป็นร้อยละ 60.9 ของหน่วยที่เหลือขายทั้งหมด ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการระบายสต๊อกอีกสักระยะหนึ่งนายธนูศักดิ์ ซึ่งอดีตเคยเป็นนายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ภูเก็ตมาก่อน เล่าให้ฟังว่า ที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงวิธีคิดการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตอยู่พอสมควร เนื่องจากก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในยุคที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่องฟู ได้มีการลงทุนของบริษัทขนาดใหญ่จากส่วนกลาง และบริษัทในท้องที่เกิดขึ้นมาก

แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะเกิดภาวะล้นตลาด เพียงแต่มีโครงการเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ และยังมีช่องทางการขายอยู่หลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นคนไทยและตลาดของคนต่างชาติ โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในภูเก็ตแบ่งเป็น 3 ตลาดใหญ่ๆ คือ ขายให้คนในพื้นที่ ขายให้นักลงทุนในประเทศ และขายให้นักลงทุนต่างชาติ

เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตลาดก็ชะลอตัวลง กำลังซื้อจากคนในพื้นที่หายไป ต่างชาติยังกลับเข้ามาซื้อไม่ได้ หลายโครงการจึงต้องปรับเปลี่ยนหันเจาะกลุ่มนักลงทุนคนไทยด้วยการมอบข้อเสนอที่จูงใจ ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนไทยในการซื้ออสังหาฯภูเก็ตเพื่อการลงทุน

นายธนูศักดิ์ ยังมั่นใจว่า ธุรกิจอสังหาฯภูเก็ตยังไปต่อได้สบาย แม้ว่าขณะนี้จะต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการกว้านซื้อที่ดินในทำเลใหม่ๆ ซึ่งแสดงว่า ภูเก็ตยังเป็นจังหวัดที่น่าสนใจสำหรับการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ และหลายบริษัทก็เริ่มมีการวางแผน ออกแบบ โครงการเตรียมเอาไว้แล้ว

ภูเก็ตยังสามารถลงทุนอสังหาฯได้ทั้งตลาดคนไทยและชาวต่างชาติคู่กันไปได้ เพียงแต่ว่าต้องเป็นการลงทุนแบบค่อยเป็นค่อยไป รอดูสถานการณ์ ถ้า Phuket First October ได้รับการตอบรับจากภาครัฐ สามารถพานักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วเข้ามาโดยไม่ต้องกักตัว จำนวนนักท่องเที่ยวก็จะค่อยๆ กลับมา

แม้ในช่วงแรกจำนวนนักท่องเที่ยวจะยังไม่มากนัก แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการฟื้นตัวทั้งภาคท่องเที่ยวและอสังหาริมทรัพย์