ธอส. เล็งเลิกขาย NPL เหมาเข่ง เตรียมเปิดแพลตฟอร์ม Virtual NPL ขายตรงถึงรายย่อย พร้อมหารือบอร์ด ขาย NPA ที่ดินเปล่า
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวถึงแนวทางในการจัดการกับ NPL ในอนาคต ว่า โดยปกติแนวทางในการจัดการกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ของธนาคารมีอยู่ 3 แนวทาง คือ 1.ธนาคารซื้อเข้ามาเป็นสินทรัพย์รอการขายของธนาคาร (Non-Performing Assets : NPA) ของธนาคาร 2.การขาย NPL ออกไป 3.การเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ซึ่งที่ผ่านมา ธอส.ใช้วิธีขาย NPL ออกไปแบบเหมายกล๊อตและมีผู้รับซื้อเพียงรายเดียวการจะขายให้ได้ในราคาที่ต้องการจึงทำได้ยาก
ต่อไปจะปรับวิธีการขายใหม่เป็นการขายให้กับรายย่อยผ่านแพลตฟอร์มที่ธนาคารพัฒนาขึ้นมาเรียกว่า Virtual NPL ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างลูกหนี้ที่ผ่อนต่อไม่ไหวกับประชาชนที่สนใจข้ามารับช่วงต่อเป็น ทั้งการซื้อ NPL ออกไปหรือการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ก็สามารถทำได้บนอากาศ
“ธอส.จะไม่ขาย NPL แบบเหมายกล๊อตอีกแล้ว เพราะมีผู้ซื้อรายเดียวเขาให้ราคาเท่าไหร่ก็ต้องขาย แต่จะเปิดหน้าร้านขายผ่านแพลตฟอร์ม Virtual NPL ให้กับรายย่อย โดยเรามีราคาของเราที่ตั้งเอาไว้ถ้าได้เกินก็ปล่อย ซึ่งแพลตฟอร์ม Virtual NPL ได้พัฒนาเสร็จแล้ว ภายในไตรมาส 4 จะเริ่มทดลองใช้ และจะเป็น Business Model ที่จะใช้ในเดือนมกราคม 2564 ” นายฉัตรชัยกล่าว
ซึ่งแนวทางดังกล่าวนายฉัตรชัย เชื่อว่า จะทำให้ความเสียหายต่อ Balance Sheet ลดลง เพราะไม่ต้องใช้สำรองส่วนเกินมาล้างขาดทุนเยอะ
ในส่วนของการขาย NPA กรรมการผู้จัดการ ธอส. ก็มีแนวคิดจะปรับเปลี่ยนวิธีการขายใหม่ เพราะทุกวันนี้การขาย NPA ของธนาคารมักจะมีคำถามในเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จะต้องปรับปรุง ซ่อมแซมบ้าน หรือค่าถมดิน ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า ทรัพย์ของธนาคารในส่วนที่เป็นสิ่งปลูกสร้างมีแต่จะทรุดโทรมเสื่อมค่าลงทุกวัน จึงมีแนวคิดว่า ถ้าเป็น NPA ที่อยู่ในชุมชนซึ่งมีความต้องการซื้อที่ค่อนข้างสูง ถ้าสภาพสิ่งปลูกสร้างไม่ดีจะรื้อทิ้งถมที่ใหม่แล้วขายเป็นที่เปล่าออกไป
“คนที่เข้ามาซื้อ NPA ของธนาคาร มักจะถามว่า จะต้องทุบหรือรีโนเวต และมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ สู่เราจัดการให้เสร็จก็จะขายได้ง่ายกว่าได้ในราคาที่เราคุ้มทุนก็พอแล้ว นอกจากนี้ ที่ดินเปล่าไม่ต้องหักค่าเสื่อม และยิ่งขายช้าราคาที่ดินยิ่งขึ้น ซึ่งแนวคิดดังกล่าวจะขอนำไปหารือกับคณะกรรมการของธนาคารก่อน” นายฉัตรชัยกล่าวในที่สุด
การปรับวิธีการขาย NPL และ NPA ธอส.ครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกในการซื้อที่อยู่อาศัยผ่าน NPL-NPA ของธนาคารได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นการเปิดโอาสให้นักลงทุนที่นิยมซื้อทรัพย์ของธนาคารไปปรับปรุงเพื่อขายต่อหรือปล่อยเช่า สามารถเข้าถึงสินทรัพย์ในพอร์ตได้ง่าย และสะดวก รวดเร็วขึ้น แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่า ราคาที่ธอส.ตั้งขายจะเป็นเท่าไรถึงจะ win win