fbpx
1 63 1 e1641356181751

แองเจิลฯ หนุน “วีซ่าพิเศษ” อยู่ยาว 9 เดือนจูงใจต่างชาติ เผยลูกค้าพร้อมเร่งโอนคอนโดหมื่นล.

“แองเจิลฯ”โบรกเกอร์โควต้าต่างชาติรายใหญ่ในไทย หนุนรัฐให้สิทธิวีซ่ายาว 9 เดือน จูงใจให้ลูกค้าต่างชาติรีบกลับมาโอนห้องชุดเร็วขึ้น แนะรัฐไฟเขียวพาสปอร์ตยาวแลกกับการลงทุนซื้อคอนโดฯมูลค่า 5-10 ล้านบาท พร้อมประสานอุตฯไต้หวันจับคู่กับบิ๊กนิคมฯ ย้ายฐานการผลิตมาไทย เผยโบรกเกอร์ทั่วโลกเจอพิษโควิกด-19 สูญหายไปกว่า 50%

นายไซม่อน ลี ประธานกรรมการบริษัท แองเจิล เรียลเอสเตท คอนซัลแทนซี่ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านการตลาดและขายชั้นนำของประเทศไทย โดยเฉพาะโควตาต่างประเทศ (Foreign Quota) กล่าวว่า สนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยให้สิทธิต่างชาติในการเข้ามาพำนักประเทศไทยนานขึ้น ซึ่งล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติการถือครองวีซ่าพิเศษเที่ยวในประเทศไทยได้นาน 9 เดือน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าต่างชาติ ที่ได้วางดาวน์โครงการคอนโดมิเนียมก่อนหน้านี้ ตัดสินใจรีบมาดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ในห้องชุดให้แล้วเสร็จ หลังจากช่วงปิดประเทศ (ล็อกดาวน์) ไม่สามารถทำธุรกรรมดังกล่าวได้

“กลุ่มลูกค้าต่างชาติ ที่ต้องการได้พาสปอร์ตเป็นตลาดที่ใหญ่มาก อย่างเช่นประเทศอังกฤษ จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้มาลงทุนหรือซื้ออสังหาฯวงเงิน 2 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประเทศตุรกี ผู้ที่เข้ามาลงทุนตั้งแต่ 250,000 เหรียญสหรัฐ จะได้สัญชาติตุรกีและถือพาสปอร์ต เพื่อเดินทางไปสหรัฐฯและกลุ่มประเทศอียูได้ ในส่วนของประเทศไทย หากกำหนดวงเงินลงทุน 5-10 ล้านบาท มีระยะเวลาการถือพาสปอร์ตได้ประมาณ 5-10 ปี จะกระตุ้นให้ตลาดคอนโดฯได้รับความนิยมและขยายตัวมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ต้องรอความชัดเจนสิทธิประโยชน์จากรัฐบาล เพื่อนำมาวิเคราะห์ถึงผลที่มีต่อลูกค้าต่างชาติได้ แต่ความเห็นส่วนตัวแล้ว มองมาตรการของภาครัฐเป็นเชิงบวก”

สำหรับการเคลื่อนไหวของนักลงทุนที่เข้ามาซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย พบว่าเป็นกลุ่มลูกค้าเศรษฐีจากประเทศจีน ฮ่องกง ไต้หวัน มีความต้องการซื้อลงทุนอสังหาฯในไทยในลักษณะซื้อยกชั้นคอนโดมิเนียม เพื่อให้ไดัรับส่วนลดประมาณ 35-40 % โดยในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมที่ผ่านมา ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวได้เข้ามาซื้อผ่านพอร์ตของบริษัทหลายร้อยกว่าล้านบาท เน้นคอนโดฯที่อยู่ในทำเลไพรม์เอเรียล หรือโครงการติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งห้องชุดที่มีอยู่ในทำเลที่มีศักยภาพสูง จะมีซัพ พลายคงเหลือในตลาดในจำนวนไม่มาก

ทั้งนี้ ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการตลาดและการขาย (โบรกเกอร์) ได้มีการปรับตัวค่อนข้างมาก หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 บริษัทโบรกเกอร์ต่างชาติที่อยู่ทั่วโลก ปิดกิจการไปประมาณ 50% ในส่วนของประเทศไทย โบรกเกอร์ที่เคยมีอยู่ประมาณ 100-200 ราย ปัจจุบันคงเหลือรายใหญ่ในตลาดไม่กี่ราย ซึ่งมีผลให้การแข่งขันในตลาดไม่รุนแรง

“โบรกเกอร์ในไทย ได้รับผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในปีที่ผ่านมา ซ้ำเกิดโควิด-19 ส่งผลให้หลายแห่งต้องเปลี่ยนธุรกิจใหม่ ปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด ไม่เน้นการทำตลาดกับต่างประเทศมากนัก ลดขนาดธุรกิจลง เปลี่ยนวิธีการทำงานมาบริการลูกค้ามากขึ้น บริหารการเช่าให้กับลูกค้า เพื่อให้เกิดความประทับใจในการบริการ และกลับมาซื้อสินค้ากับบริษัทอีกครั้ง รวมถึงการทำตลาดออนไลน์ ขณะที่ผู้พัฒนาโครงการควรมาพิจารณาในเรื่องการปรับลดราคาลง จูงใจลูกค้าให้ตัดสินใจเร็วขึ้น ซึ่งประเทศอื่นๆ ก็มีปัญหาเหมือนไทย พยายามดึงผู้ซื้อเข้าประเทศให้มากที่สุด หากผู้ประกอบการไทยยังไม่ตื่น ก็คงลำบาก”นายไซม่อน กล่าว

โดยในส่วนของบริษัท แองเจิลฯ ได้มาเพิ่มตลาดเจาะกลุ่มลูกค้าคนไทยเพิ่มขึ้น แต่สัดส่วนยังน้อยมากเมื่อเทียบกับตลาดหลักในกลุ่มโควตาต่างชาติ ซึ่งโครงการที่บริษัทจะขยายไป จะเป็นโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ใกล้มหาวิทยาลัย เพื่อรองรับตลาดการปล่อยเช่าให้กับลูกค้าคนไทยและต่างชาติ คาดว่าในปี 2564 พอร์ตโควตาไทยจะมีมูลค่าเฉลี่ย 500 ล้านบาท

ในส่วนของผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าจะมียอดขายหลักพันล้านบาท ยอดโอนกรรมสิทธิ์ประมาณ 3,600 ห้อง มูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากหลายโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จในปีนี้ (ปี 2562 มียอดขาย 10,000 ล้านบาท ปี 2561 มียอดขาย. 20,000 ล้านบาท)

สำหรับความคืบหน้าในธุรกิจใหม่ ได้ปรับกลยุทธ์มาเจาะกลุ่มฐานลูกค้าอุตสาหกรรมต่างๆให้ย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทยนั้น ล่าสุดวันอังคารที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมหารือทางธุรกิจผ่านวีดีโอคอนเ28ฟอเรนซ์ ระหว่างภาคเอกชนรายใหญ่ของไทยกับทางผู้ประกอบการโรงงานไต้หวันกว่า 40โรงงานขนาดใหญ่ เข้าร่วมการประชุม กับทางผู้ประกอบการของประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (WHA) , บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (AMATA) , บริษัทเจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (JCK) ,Yamoto และบริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) เป็นต้น

“เรื่องเทรดวอร์ เป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้อุตฯที่อยู่ในประเทศที่เป็นคู่กรณี ต้องปรับตัว ส่วนการเจรจาจะสำเร็จถึงระดับไหน คงต้องใช้เวลา เนื่อง จากการย้ายฐานอุตสาหกรรมต้องใช้เวลานาน แต่หากมีการลงทุนเกิดขึ้น จะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทย เฉพาะการซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงาน มีมูลค่าหลายพันล้านบาท หากนับรวมตัวโรงงาน เครื่องจักรและอื่นๆแล้ว จะมีมูลค่าหลักหมื่นล้านบาท ที่สำคัญจะเกิดการจ้างงานไม่ต่ำกว่าหลายพันคนต่อโรงงาน สิ่งสำคัญ รัฐบาลต้องมองเห็นโอกาส ต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดขึ้น ลดภาษีเครื่องจักร , ภาษีนิติบุคคล ,เรื่องแรงงาน ,ระบบสาธารณูปโภคและเสถียร ภาพของรัฐบาล เพื่อให้มีความได้เปรียบและสามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้”